ถ้าพูดถึงสกินแคร์ หลาย ๆ คนก็ยังเข้าใจผิดอยู่ว่ามันคือ ครีม เซรั่ม ที่ใช้กับผิวหน้าและผิวกายอย่างเดียวหรือเปล่า จะบอกว่ามันกว้างกว่านั้นมาก เรียกได้ว่าครอบคลุมแทบจะทุกอย่างตั้งแต่ที่อยู่ในห้องน้ำไปยันโต๊ะเครื่องแป้งของเราเลย ไม่พูดเยอะละ เรามารู้จักสกินแคร์แบบเจาะลึก ถึงรากถึงโคนไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า!
สกินแคร์คืออะไร?
ความหมายของ Skincare (สกินแคร์) ถ้าจะแปลตรงตัวเลยก็คือ สิ่งที่บำรุงดูแลสภาพผิวของเราให้ดีขึ้น ดูมีสุขภาพดี น่าดึงดูด ไม่ว่าจะเป็นผิวหน้าหรือผิวกาย แต่ถ้าจะเอาให้ลึกซึ้งกว่านั้นอีกก็ต้องบอกว่าสกินแคร์ถือว่าเป็นเครื่องสำอางอย่างนึง ซึ่งคำว่า Cosmetics เนี่ย ก็มาจากคำว่า "Kosm tikos" ที่แปลว่า “พลังอำนาจในการเปลี่ยนแปลงและทักษะในการตกแต่ง” ทีนี้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของการถือกำเนิดสกินแคร์ตัวแรกของโลกขึ้นมานั้นมีมายาวนานกว่าที่คิด หลายคนก็อาจจะสงสัยว่าใครกันที่เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา จะใช่คลีโอพัตราในตำนานอย่างที่เขาเล่าลือกันหรือเปล่านะ เรามาดูต่อไปกันเลยค่ะ
จุดเริ่มต้นของสกินแคร์
จุดกำเนิดของการเกิดสกินแคร์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วง
- Prehistory : ช่วงนี้เป็นช่วงลองผิดลองถูก การใช้เครื่องสำอางจะเกี่ยวกับเรื่องศาสนา ความเชื่อ และการรักษาโรค ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางเวทมนตร์คาถา ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ เช่น การที่ชนเผ่าทาหน้าด้วยสี การสัก การทาตัวโดยใช้พืชสมุนไพร แร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อป้องกันแสงแดด เป็นต้น
- History : ยุคนี้จะเริ่มแยกระหว่างศาสนา ความเชื่อ, เครื่องสำอาง และ การรักษาโรค แถมยังเป็นจุดกำเนิด Cold Cream ตัวแรกที่คิดค้นโดย Galen ในช่วงยุคโรมัน คนนี้นี่ถือเป็นบิดาแห่งวงการเภสัชกรรมเลยทีเดียวนะ และจุดประสงค์ของการทำ Cold Cream นี้ก็เพื่อเอามาใช้ลดอาการแพ้ โดยมีส่วนผสมของน้ำกุหลาบ น้ำมันมะกอก และไขผึ้ง ซึ่งถือเป็นรากฐานของครีมในยุคปัจจุบันเลย ยังไม่พอ ยุคนี้ยังเกิดโคโลญ (Eau de Cologne) ขึ้นมา ทำให้สาว ๆ ในยุคนั้นมีกลิ่นกายหอมเย้ายวนกันทั่วบ้านทั่วเมืองเลยละ
- Modern Cosmetics : ยุคนี้คือยุคใหม่ของวงการเครื่องสำอาง เริ่มมีการใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำสกินแคร์ รวมถึงมีการกำเนิด FDA หรือ อย.ในยุคนี้นี่เองค่ะ ซึ่งต่อมาในปี 1939 มีบริษัทเครื่องสำอางเกิดขึ้น เช่น P&G, Avon และ Elizabeth Arden เป็นต้น
รู้จักที่มาที่ไปของสกินแคร์คร่าว ๆ กันแล้ว มาดูเนื้อสัมผัสกันบ้างดีกว่าว่าทั้งหมดมีอะไรบ้าง!
รู้จักเนื้อสัมผัสทั้งหมดในสกินแคร์
1. Powders (ผงแป้ง)
เนื้อแบบนี้จะมี 2 แบบ คือ...
- แป้งฝุ่น (Loose Powder) ไม่ว่าจะเป็นแป้งเด็ก หรือแป้งที่เอาไว้ปัดแต่งหน้าควบคุมความมันอย่าง Translucent Powder ก็จัดเป็นประเภทนี้หมดค่ะ
- แป้งอัดแข็งหรือแป้งตลับ (Compact Powder) ที่ทำโดยใช้แป้งฝุ่นมาอัดแน่นลงในตลับด้วยน้ำมันเพื่อให้พกพาง่าย ใช้สะดวก แถมแป้งแบบนี้ยังมักใส่เม็ดสีเพื่อปรับสภาพผิวของเราให้ดูสว่างใส และช่วยปกปิดจุดบกพร่องต่าง ๆ บนใบหน้าได้อย่างดีอีกด้วย
2. Gels (เจล)
สำหรับเนื้อเจลก็มี 2 แบบเช่นกันค่ะ คือแบบที่เป็น...
- เจลเนื้อน้ำ (Hydrogel) พบเห็นได้ทั่วไปเลย ส่วนใหญ่จะเป็นเจลแบบนี้ คือทาแล้วแตกตัวเป็นน้ำซึมเข้าผิวไปเลย จริง ๆ แล้วเจลแบบนี้ยังแบ่งได้ตามส่วนประกอบอีก คือถ้ามีน้ำเป็นองค์ประกอบจะเป็น Aqueous Gel และถ้ามีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ จะเป็น Hydroalcoholic Gel ค่ะ
- เจลเนื้อน้ำมัน (Oleogel) ซึ่งสกินแคร์เทรนด์ใหม่อย่าง Capsule ผสมสดให้ความชุ่มชื้นมากกว่าปกติหลายเท่า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบเจลเนื้อน้ำมันนี่เองค่ะ
3. Solutions (โซลูชั่น)
- โซลูชั่นแบบน้ำ (Aqueous Solution) อย่างพวกโทนเนอร์ เอสเซนส์ต่าง ๆ รวมถึงแอมพูล (Ampoules) และ บูสเตอร์ (Boosters) และสกินแคร์แบบแผ่น (Skincare Pads) ก็จัดอยู่ในประเภทนี้เช่นเดียวกัน
- โซลูชั่นแบบน้ำมัน (Oily Solution) พวกคลีนซิ่งออยล์ น้ำมันบำรุงผิวต่าง ๆ ก็จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ค่ะ
- โซลูชั่นแบบแอลกอฮอล์ (Hydroalcoholic Solution) แบบนี้เห็นได้บ่อย ๆ เลย เช่น โทนเนอร์สูตรสำหรับผิวมัน น้ำหอม เป็นต้น
4. Ointments (เนื้อบาล์ม)
ตัวนี้พบเห็นได้ทั่วไป อย่างเช่น บาล์มบำรุงให้ความชุ่มชื้นผิว หรือขี้ผึ้ง วาสลีน ลิปแคร์ ซึ่งเนื้อบาล์มแบบนี้มักจะใส่คุณประโยชน์มาให้ผิวค่อนข้างเยอะ เช่น รักษาบาดแผล ให้ความชุ่มชื้น ลดการอักเสบของผิว รวมไปถึงช่วยทำความสะอาดผิวอย่างคลีนซิ่งบาล์มด้วยค่ะ
5. Sticks (เนื้อแบบแท่ง)
แบบที่เห็นมานานก็จะเป็นพวกผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายต่าง ๆ รวมไปถึงลิปสติก สกินแคร์แบบแท่งนี้ มีขึ้นมาเพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการใช้อย่างตัวใหม่ ๆ ก็เช่น อายครีมแบบแท่ง กันแดดแบบแท่ง ที่สามารถทาได้ทุกที เติมได้ทุกเวลา ถือเป็นสกินแคร์อีกหนึ่งแบบที่น่าจับตามอง
6. Emultions (อีมัลชั่น)
ตัวนี้คุ้นหูคุ้นตามากที่สุดและเรียกได้ว่ามีมากที่สุดในวงการสกินแคร์เลยทีเดียว เพราะว่าอีมัลชั่นนี้คือสิ่งที่ผสมระหว่างน้ำกับน้ำมัน จะต่างกันแค่ความเข้มข้นเท่านั้น โดยถ้าเนื้อเข้มข้นมาก ๆ ก็จะจัดเป็น "ครีม" แต่ถ้าความเข้มข้นน้อยหน่อย เกลี่ยง่าย ซึมไวขึ้น จะเป็นประเภท "โลชั่น" ค่ะ
7. Suspensions (แขวนลอย)
อันนี้อาจจะเข้าใจยากหน่อย แต่ถ้าพูดถึง แป้งน้ำ คาลาไมด์ ยาทาเล็บ รองพื้น จะพอเห็นภาพขึ้นมาทันที คือเนื้อแบบนี้จะเหมือนมีเม็ดของแข็งลอยอยู่ในของเหลว โดยที่ของแข็งนั้นไม่ได้ละลาย ทำให้เกิดการแยกชั้นได้ เวลาจะใช้จึงจำเป็นต้องเขย่าให้เข้ากันก่อนนั่นเอง
8. Pastes (เนื้อสครับ)
จริง ๆ คำนี้คนไทยอย่างเรา ๆ อาจจะไม่ชิน เนื้อแบบนี้จะคล้าย ๆ กับแขวนลอย แต่เนื้อข้นกว่า อย่างที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ก็คือ ยาสีฟันและสครับมาสก์หน้าค่ะ
9. Aerosols (สเปรย์)
ตัวนี้มีความพิเศษกว่าตัวอื่น ๆ หน่อยตรงที่ จะเป็นเนื้อแบบเหลวหรือแบบแข็งก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เนื้อแบบอีมัลชั่น โซลูชั่น และผงแป้งมาอัดก๊าซเข้าไปในแพ็คเกจจิ้ง ทำให้เกิดแรงดัน เวลาฉีดออกมาก็จะเกิดเป็นฝอย แบบที่เราเรียกกันว่าสเปรย์ค่ะ ประเภทนี้จะเจอบ่อย ๆ ในพวกผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและครีมโกนหนวดค่ะ
10. Bar Soaps (สบู่ก้อน)
ก็บอกแล้วว่าสกินแคร์คือทุกอย่างที่เกี่ยวกับผิว นับตั้งแต่ทำความสะอาด บำรุง และปกป้องผิว เพราะฉะนั้นสบู่ก้อนจึงเป็นอีกประเภทหนึ่งของสกินแคร์ไปโดยปริยายค่ะ แต่ที่เราเห็นกันนี้เขายังแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกถึง 3 ชนิด คือ
- สบู่ทั่วไป (Toilet Soap) ตัวนี้ก็คือสบู่อาบน้ำที่เราใช้กันปกติทั่วไปเลยค่ะ มีความเป็นด่างสูง (pH 9-10) ใช้แล้วรู้สึกสะอาดผิว
- สบู่ใส (Transparent Soap) ตัวนี้ทำขึ้นมาเพื่อให้ดูสวยงามขึ้น และอ่อนโยนขึ้นเพราะมีสารที่ให้ความชุ่มชื้นมากขึ้นนั่นเองค่ะ
- สบู่สังเคราะห์ (Syndet Soap) ตัวนี้เป็นตัวที่แพงที่สุด เพราะใช้ต้นทุนในการทำสูง แถมมี pH 5.5-7 ซึ่งเข้ากันได้ดีกับผิวด้วยนะ
มาเลือกส่วนผสมให้ตรงกับปัญหาผิวกัน!!
จริง ๆ นอกจากเนื้อสัมผัสที่เราต้องคำนึงถึงแล้ว การเลือกส่วนผสมสำคัญ (Active Ingredients) ก็สำคัญไม่แพ้กัน มาดูกันดีกว่าว่าแต่ละตัวจะมีตัวไหนเด็ด ๆ ที่ต้องไปโดนกันบ้าง!
Moisturizer (ให้ความชุ่มชื้น)
ให้มองหา : Hyaluronic Acid, Sodium PCA, Propylene Glycol, Ceramides, Ammonium Lactate และ Sorbitol
Whitening (ปรับผิวกระจ่างใส)
ให้มองหา : Niacinamide, Alpha-Arbutin, Vitamin C, Kojic Acid และ Glycolic Acid
Anti-Aging (ลดเลือนริ้วรอย)
ให้มองหา : Retinol, Peptides, Ceramides, Coenzyme Q10, Caffeine, Biotin, Green Tea Extract และ Tocopherol
Anti-Pollution (ปกป้องผิวจากมลภาวะ)
ให้มองหา : Malachite, Activated Charcoal, Algae Extract, Sea Salt Minerals, Ginseng, Sumac, Gotu Kola และ Vitamin C
Antioxidants (ต่อต้านอนุมูลอิสระ)
ให้มองหา : Green Tea Extract, Tocopherol, Lycopene, Caffeine, Resveratrol, Genistein, Vitamin C และ Grape Seed Extract
Anti-Acne (ลดสิว)
ให้มองหา : Benzoyl Peroxide, Salicylic Acid, Tea Tree Oil และ Retinoids
Anti-Inflamatory (ลดการอักเสบ)
ให้มองหา : Chamomile, Witch Hazel, Aloe Vera, Licorice, Oatmeal, Ginger และ Turmeric (Curcumin)
Sunscreen (ปกป้องผิวจากแสงแดด)
ให้มองหา : Resveratrol, Genistein, Zinc Oxide, Titanium Dioxide และ Mexoryl SX
เลือกสกินแคร์ให้เหมาะกับผิว
ผิวมัน (Oily Skin)
ลักษณะผิว : ผิวมัน เงา โดยเฉพาะบริเวณ T-ZONE คือ บริเวณหน้าผาก จมูก และคาง มีรูขุมขนกว้าง ที่เกิดจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกติ ทำให้มีปัญหาเรื่องสิวเสี้ยนและเป็นสิวได้ง่าย แต่ข้อดีของผิวแบบนี้ก็คือเกิดริ้วรอยช้ากว่าผิวแบบอื่น ๆ
เนื้อสัมผัสที่ใช่ : ผิวแบบนี้ต้องใช้เนื้อสัมผัสที่บางเบา ซึมง่ายอย่างเนื้อเจล โลชั่น และโซลูชั่นแบบน้ำค่ะ
หลีกเลี่ยง : เนื้อสัมผัสแบบน้ำมันและบาล์ม เพราะจะไปเพิ่มความมันให้ผิวจนผิวเสียสมดุลมากยิ่งขึ้น
ส่วนผสมต้องห้าม : ซิลิโคน เพราะจะทำให้เกิดการอุดตัน จนเกิดสิวในที่สุด อีกตัวคือ AHA ควรใช้เป็น BHA มากกว่า เพราะเขาละลายในน้ำมัน และยังสามารถแทรกซึมเข้าไปในชั้นผิวได้โดยที่ไม่ทำให้ผิวอุดตันด้วยค่ะ
ผิวแห้ง (Dry Skin)
ลักษณะผิว : มีรูขุมขนที่ละเอียดแต่ผิวแห้งแตกง่าย ลอกเป็นขุยได้ง่าย โดยเฉพาะหลังล้างหน้าจะรู้สึกตึงและฝืดผิวหน้า บางครั้งก็มีอาการคัน แสบ แดง ระคายเคืองได้ง่าย และมักจะมีปัญหาเรื่องริ้วรอยก่อนวัยได้ง่ายกว่าผิวแบบอื่น
เนื้อสัมผัสที่ใช่ : ผิวแบบนี้ต้องเน้นเติมน้ำให้ผิว และปกป้องไม่ให้น้ำระเหยออกจากผิว ฉะนั้นควรเลือกเนื้อสัมผัสแบบบาล์มและโซลูชั่นแบบน้ำมันมาช่วยเคลือบผิวกักเก็บความชุ่มชื้นค่ะ
หลีกเลี่ยง : เนื้อสัมผัสแบบสครับ สบู่ ด้วยนะ เพราะสครับจะขัดผิวให้บางขึ้น ทำให้เกิดผิวแห้งและริ้วรอยได้ ยิ่งผิวแห้งเกิดริ้วรอยง่ายอยู่แล้วต้องระวังมากขึ้น ในขณะที่สบู่ก็มีฤทธิ์เป็นด่างทำให้ผิวแห้งเข้าไปใหญ่ ลองเลือกใช้สบู่เหลวแทน อีกอย่างที่ไม่ควรใช้คือโซลูชั่นแบบน้ำ เพราะกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิวได้ไม่พอนั่นเอง
ส่วนผสมต้องห้าม : ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซัลเฟต ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ รวมถึง BHA ที่ไม่เหมาะกับคนผิวแห้งเท่าไหร่ ลองใช้เป็น AHA ที่ช่วยเติมน้ำให้ผิวได้ด้วยจะเห็นผลกว่าค่ะ
ผิวผสม (Combination Skin)
ลักษณะผิว : ผิวแบบนี้เป็นผิวที่พบได้มากที่สุดในประเทศที่มีอากาศร้อน แถมเรียกได้ว่ามีปัญหาของสองสภาพผิวในเวลาเดียวกัน คือมีทั้งบริเวณที่ผิวแห้ง หรือ U-Zone (รอบดวงตา ข้างแก้มและคาง) ที่มักเกิดบริเวณแห้ง ลอก เป็นขุย ในขณะที่บริเวณผิวมัน หรือ T-Zone (หน้าผากและจมูก) ซึ่งจะมีต่อมผลิตไขมันที่มากกว่าบริเวณอื่น ๆ และเป็นส่วนที่เกิดสิวได้ง่ายนั่นเอง
เนื้อสัมผัสที่ใช่ : จริง ๆ แล้วอยากให้เลือกใช้แบบของคนผิวมันตรงช่วง T-Zone และแบบคนผิวแห้งตรงช่วง U-Zone เพราะเป็นวิธีดูแลผิวที่ตรงจุดที่สุด แต่ถ้าใครขี้เกียจใช้หลายตัว ซับซ้อนก็ให้เลือกเป็นแบบอีมัลชั่นและโซลูชั่นแบบน้ำเข้าไว้ค่ะ Play Safe!
หลีกเลี่ยง : ในฐานะที่มีส่วนผสมของผิวแห้งและผิวมันบนใบหน้า อะไรที่ผิวแห้งและผิวมันไม่ควรใช้ ผิวผสมก็ไม่ควรใช้เช่นกัน เช่น บาล์มต่าง ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันได้ รวมถึงสบู่ที่อาจทำให้เกิดอาการผิวแห้ง ระคายเคืองได้
ส่วนผสมต้องห้าม : แอลกอฮอล์และซิลิโคน
ผิวแพ้ง่าย (Sensitive Skin)
ลักษณะผิว : ผิวบอบบางแพ้ง่ายแบบนี้ต้องใส่ใจเลือกสกินแคร์ที่สุด เพราะผิวไวต่อสารเคมี มลภาวะ แสงแดด ฝุ่นควันต่าง ๆ ผิวแบบนี้เป็นสิวง่าย เป็นผื่นง่าย อักเสบง่าย และบางครั้งอาจมีอาการแสบ แดง คัน ร่วมด้วย ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษกว่าผิวแบบอื่น ๆ ค่ะ
เนื้อสัมผัสที่ใช่ : เนื้อสัมผัสที่ใช่ที่สุดสำหรับผิวแบบนี้ขอแนะนำเป็น โซลูชั่นแบบน้ำเลยค่ะ แต่ต้องแน่ใจว่าไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ปนมาด้วยนะคะ ไม่งั้นจะยิ่งแพ้ไปกันใหญ่
หลีกเลี่ยง : ไม่ควรใช้สครับ สบู่ และโซลูชั่นแบบแอลกอฮอล์ เพราะจะเป็นการไปรบกวนผิว และทำให้ผิวแห้ง แพ้ ระคายเคืองมากขึ้นด้วย
ส่วนผสมต้องห้าม : หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์, น้ำหอม, พาราเบน, AHA, BHA รวมไปถึงสารระคายเคืองต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ได้
คราวนี้มาดูกันดีกว่าว่าสกินแคร์ที่มีมาทั้งหมด เขาใช้อะไรกันตอนไหนบ้าง!
10 ขั้นตอนการลงสกินแคร์ให้ผิวใสแบบสาวเกาหลี
Step 1 Oil-Based Cleanser : ใช้น้ำมันดักจับสิ่งสกปรกต่าง ๆ เป็นขั้นตอนแรก พอเสร็จแล้วให้ล้างออกด้วยน้ำอุ่น
Step 2 Water-Based Cleanser : ใช้โฟมล้างหน้าทำความสะอาดอีกขั้นเพื่อความชัวร์ และเพิ่มความสดชื่นให้ผิว
Step 3 Exfoliator : ผลัดเซลล์ผิวเก่าที่เสื่อมสภาพไปแล้ว เผยผิวใหม่ที่สดใสขึ้น
Step 4 Toner : ปรับสภาพผิวให้พร้อมรับการบำรุง
Step 5 Essence : เริ่มจากบำรุงผิวด้วยสกินแคร์ตัวที่เนื้อบางเบาที่สุดก่อน
Step 6 Serums : เพื่อแก้ปัญหาผิวได้ตรงจุดยิ่งขึ้น อย่างเช่นเรื่องสิว รอยสิว ริ้วรอยร่องลึก หรือ จุดด่างดำ
Step 7 Sheet Masks : มาสก์บำรุงอย่างล้ำลึก เพื่อเก็บสารอาหารและความชุ่มชื้นไว้ในผิวให้ยาวนาน
Step 8 Eye Cream : บำรุงผิวบริเวณรอบดวงตาให้สดใส เพื่อให้สุขภาพดีไม่ดูแก่
Step 9 Moisturizer : ขั้นตอนเติมน้ำให้ผิว ให้ผิวอิ่มน้ำ มีน้ำมีนวล
Step 10 Sun Protection หรือ Sleeping Mask : ขั้นตอนปกป้องผิว ถ้าเป็นตอนกลางวันจะเป็นหน้าที่ของครีมกันแดด แต่ถ้ากลางคือเราจะใช้สลีปปิ้งมาสก์กักเก็บความชุ่มชื้นยาวนานตลอดคืนนั่นเองค่า
Top 5 สกินแคร์ใช้ดี สุขภาพผิวดีขึ้นได้เหมือนเสก!
Mamonde Rose Water Toner
ใครชอบโทนเนอร์ที่ช่วยในเรื่องปลอบประโลมผิว กระชับรูขุมขน และช่วยเติมน้ำให้ผิวไปพร้อม ๆ กัน ต้องลองตัวนี้เลย จะบอกว่าตัวนี้เขามีส่วนผสมจากน้ำดอกกุหลาบ 90.89% ที่สกัดมาจากดอกกุหลาบบัลแกเรีย แถมใช้วิธีสกัดที่อุณหภูมิต่ำและความดันสูงเป็นพิเศษทำให้ได้คุณค่าเต็ม ๆ แถมยังอ่อนโยนมาก ๆ เป็นมิตรกับทุกสภาพผิว ผิวแบบไหนก็ใช้ได้ เทใจให้เลยละค่ะ นี่ยังไม่รวมเรื่องขนาดที่คุ้มค่าคุ้มราคาสุด ๆ ด้วยนะ
เหมาะกับผิวแบบไหน : ทุกสภาพผิว
ราคา : 790 บาท (250 ml)
Source : 1
Paula Choice's Resist Whitening Essence
ตัวนี้มีส่วนผสมดี ๆ ใส่มาแน่นมาก ใครที่อยากได้ผลลัพธ์แน่น ๆ แต่กลัวแพ้ให้แวะมาทางนี้ เพราะเขาผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง แถมส่วนผสมเขานี่ไม่ได้แค่ช่วยเรื่องผิวขาว กระจ่างใสเท่านั้นนะ แต่ยังช่วยเติมน้ำให้ผิวดูสุขภาพดีขึ้น แถมยังบำรุงผิวและลดเลือนริ้วรอยด้วยวิตามินและเปปไทด์มากมาย จนกล้าการันตีได้เลยว่าใช้แล้วสภาพผิวดีขึ้นแน่นอน
เหมาะกับผิวแบบไหน : ทุกสภาพผิว
ราคา : 1,350 บาท (30 ml)
Source : 1
Herbivore Pink Cloud Rosewater Moisture Crème
ช่วงไหนที่รู้สึกผิวแย่จริง ๆ จะใช้ตัวนี้เป็นตัวกู้ผิวเลย ทาครีมตัวนี้ตอนกลางคืนตื่นมาคือได้ผิวโกลว์ สุขภาพดีมาก ๆ เพราะได้รับการบำรุงเต็มที่จาก Rosewater, Aloe Water และ White Tea Extract พวกรอยแดง สิวอักเสบต่าง ๆ ก็ดีขึ้นด้วย แถมเขาเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจในส่วนผสมมาก ตัวนี้คือไม่มีน้ำหอมและส่วนผสมระคายเคืองอื่น ๆ เลยนะคะ ใครยังไม่เคยลองอาจจะตกใจกลิ่นครีมนิดนึงได้ แต่ไม่ถึงกับแย่นะ ใช้สักพักก็เริ่มชิน ถ้าเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าคุ้มค่าค่ะ
เหมาะกับผิวแบบไหน : ทุกสภาพผิว
ราคา : 1,850 บาท (50 ml)
Source : 1
Clarins Double Serum Complete Age Control Concentrate
แน่นอนว่าไม่พูดถึงตัวนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเซรั่มผสมสดที่คงคุณค่าของสารสกัดไว้ได้อย่างดี เวลากดใช้จะผสมรวมตัวน้ำกับน้ำมันออกมาให้ ซึ่งตัวนี้เลียนแบบโครงสร้างตามธรรมชาติของผิวเลยนะ ทำให้เวลาทา เซรั่มจะซึมลงผิวได้ลึกขึ้น แถมเขายังมีคุณค่าจากสารสกัดธรรมชาติกว่า 21 ชนิด มาช่วยลดเลือนริ้วรอย รูขุมขนกระชับ ผิวเนียนละเอียด กระจ่างใสขึ้นในตัวเดียวเลย ไม่น่าล่ะ ใครลองใช้ก็ติดใจ
เหมาะกับผิวแบบไหน : ทุกสภาพผิว
ราคา : 3,920 บาท (50 ml)
Source : 1
Neogen Bio-Peel Gauze Peeling Wine
ตัวสุดท้ายที่ชอบเป็นแผ่นเช็ดหน้าที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกอย่างอ่อนโยน ช่วยขจัดน้ำมันส่วนเกินและสิ่งสกปรกบนใบหน้าได้อย่างดี ตัวแผ่นเช็ดทำมาจากคอตตอนคุณภาพดีที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง แถมชุบด้วยเซรั่มไวน์หมัก ที่เต็มไปด้วย AHA และ Resveratrol แน่นอนว่าช่วยให้ผิวกระจ่างใสขึ้น ลดเลือนริ้วรอย และปรับผิวให้เรียบเนียน ดูสุขภาพดีขึ้นด้วยค่ะ
เหมาะกับผิวแบบไหน : ผิวมันและผิวผสม
ราคา : 710 บาท (30 แผ่น)
Source : 1
รู้จักสกินแคร์แบบละเอียดไปแล้ว คราวนี้ก็เลือกเนื้อสัมผัสที่ใช่ ส่วนผสมที่ชอบ ให้เหมาะกับผิวของแต่ละคนได้แล้ว ต่อไปจะได้ไม่ต้องมาเจอปัญหาใช้แล้วแพ้ ใช้แล้วผิวแห้งอีก ที่สำคัญเรายังเลือกสกินแคร์ที่โดนใจ ฟื้นฟูปรับสภาพผิวให้ดีขึ้นได้แบบชัวร์ ๆ มาให้ด้วย เผื่อใครที่ยังลังเลว่าตัวไหนดีจริงไม่จริง และอยากให้จำไว้อีกอย่างนะคะว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดี ของดีไม่จำเป็นต้องแพง ยุคนี้แล้วสาว ๆ ควรเลือกสกินแคร์ให้เป็น พยายามดูส่วนผสมที่แนะนำเข้าไว้ ถ้าได้แบบนี้แล้ว รับรองผิวสวยใสไม่มีริ้วรอยมากวนใจจะไปไหนรอด แต่ถ้าใครยังไม่จุใจเรามีบทความดี ๆ มาให้ดูกันต่อ