เปิดตำรา 10 สำนวนไทยปลายจวัก ที่น้อยคนนักอาจรู้ความหมาย!
  1. เปิดตำรา 10 สำนวนไทยปลายจวัก ที่น้อยคนนักอาจรู้ความหมาย!

เปิดตำรา 10 สำนวนไทยปลายจวัก ที่น้อยคนนักอาจรู้ความหมาย!

เมื่ออาหารเจอกับภาษา มาดูกันเลยว่าคนไทยผสมผสานความ “ชอบกิน” ของตัวเองลงไปในสำนวนไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันกันยังไงบ้าง!
writerProfile
12 มิ.ย. 2017 · โดย

“ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” รู้ ๆ กันอยู่ว่าเมืองไทยเป็นดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำมานานแล้วครับ ดูได้จากภาษาไทยเองมีสำนวนเกี่ยวกับอาหารมากมายเลย วันนี้ Wongnai จะพามารู้จักสำนวนไทยที่เกี่ยวกับอาหาร 10 สำนวนด้วยกัน พร้อมความหมายและที่มา ไปกันเลยครับ!

1เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง

สำนวนนี้มีความหมายว่า ไม่ชอบเขา แต่ก็อยากได้ผลประโยชน์จากเขา (เกลียดตัวแต่ก็กินไข่ของตัวนั้น เหมือนไม่ชอบปลาไหล แต่เวลาเอาปลาไหลมาลงแกงก็อร่อย) ตัวอย่างเช่น เกลียด Wongnai แต่ก็อ่านรีวิว เพราะเป็นเว็บค้นหาร้าน แบ่งปันรีวิวอันดับหนึ่งของไทย (นั่น)

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

2ข้าวเหลือเกลืออิ่ม

สำนวนนี้มีความหมายว่า บ้านเมืองหรือใครสักคนมีความอุดมสมบูรณ์มาก (สมัยโบราณมีพิธีเสี่ยงทายแข่งเรือระหว่างกษัตริย์กับพระมเหสี ถ้าพระมเหสีชนะ บ้านเมืองก็จะ “ข้าวเหลือเกลืออิ่ม” แต่ถ้ากษัตริย์ชนะบ้านเมืองจะข้าวยากหมากแพง อ้าว!) ตัวอย่างเช่น บ้านเมืองไทยช่วงนี้เศรษฐกิจดี ข้าวเหลือเกลืออิ่ม (ส่วนทำไมเกลือเค็ม ๆ ถึงเป็นเครื่องแสดงความสมบูรณ์ ต้องติดตามตอนต่อไปครับ)

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

3สุกเอาเผากิน

สำนวนนี้มีความหมายว่า ทำงานแบบชุ่ย ๆ แค่ส่ง ๆ ไป ไม่มีความประณีต (เหมือนกับแค่ทำอาหารสุกก็ใช้ได้แล้ว มีงานส่งก็พอ ไม่ได้ต้องพิถีพิถันทำให้อร่อยหรือสวยงามก็ได้) ตัวอย่างเช่น ทำงานกลุ่มกับเพื่อนแต่อู้งาน พอถึงเวลาจะส่งก็ปั่นส่งแบบชุ่ย ๆ "สุกเอาเผากิน" ให้พอมีส่งไปเท่านั้น

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

4คว่ำบาตร

สำนวนนี้หมายความว่า ตัดขาดไม่ให้รับผลประโยชน์อะไรจากกันอีก (ถ้าไปคว่ำบาตรพระ พระก็จะรับบาตรไม่ได้ บาป!) ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ไม่ให้ได้รับผลประโยชน์อะไรจากอเมริกาและประเทศแนวร่วมอีก

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

5ชุบมือเปิบ

สำนวนนี้หมายความว่าฉวยโอกาสจะเอาประโยชน์โดยไม่ลงทุนลงแรง (สมัยก่อนคนไทยใช้มือกินข้าว การล้างมือก่อนกินเรียกว่าชุบมือ นี่คือไม่ได้ช่วยทำ มาถึงก็ชุบมือหยิบเลย) ตัวอย่างเช่น รายงานกลุ่มฉบับนี้ทำกันมาแข็งขันมาก ปรากฏว่ามีเพื่อนอีกคนมาขอใส่ชื่ออยู่ด้วยทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ช่วยทำครับ (ต้องเคยเจอบ้างล่ะ)

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

6ตามใจปากลำบากท้อง

สำนวนนี้หมายความว่า คนทำอะไรตามใจมักเดือดร้อน (ถ้ากินอะไรตามใจปากจะลำบากท้องทีหลัง ไม่ว่าจะปวดท้องหรือลงพุงก็ตาม) ตัวอย่างเช่นใกล้สอบแล้วแต่อยากกินเหล้า ก็ไปกินเหล้าแทนที่จะอ่านหนังสือ ก็จะลำบากในวันสอบครับ

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

7ตำข้าวสารกรอกหม้อ

สำนวนนี้หมายความว่า ทำให้พอเสร็จไปชั่วครั้งหนึ่ง ๆ (คล้าย ๆ สุกเอาเผากิน คือหมายถึงจะกินอยู่แล้วถึงเพิ่งมาทำ) ตัวอย่างเช่น พรุ่งนี้จะต้องส่งงานแล้วแต่เพิ่งเริ่มทำ (ผมรู้คุณก็เคย)

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

8ถึงพริกถึงขิง

สำนวนนี้หมายความว่า เผ็ดร้อนรุนแรง (ถ้าใครเคยกินต้มยำหรือส้มตำสูตรแซ่บ ๆ ก็คงไม่ต้องอธิบายมากครับ) ตัวอย่างเช่น คนสองคนเถียงกันแบบถึงพริกถึงขิงมาก แทบจะลงไปต่อยกันอยู่แล้ว

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

9น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง

สำนวนนี้หมายความว่า พูดมาก แต่พูดอะไรไม่มีสาระ (ทั้งทุ่งมีแต่น้ำ จะหาผักบุ้งกินไม่ได้!) ตัวอย่างเช่น คนที่กล่าวสุนทรพจน์ชั่วโมงครึ่ง แต่จับความได้จริง ๆ ประมาณไม่ถึงครึ่งชั่วโมง คนแบบนี้แหละครับ

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

10ปิ้งปลาประชดแมว

สำนวนนี้หมายความว่า ทำอะไรประชด แต่คนประชดกลับได้ประโยชน์เอง (แทนที่จะปิ้งปลาประชดแมว แมวกลับแฮปปี้ที่ได้กินปลาปิ้งทั้งตัว) ตัวอย่างเช่น วันนี้คุณสามีอยากไปดูบอลที่บ้านเพื่อน คุณภรรยาก็เลยประชดด้วยการไปช็อปปิ้งกับเพื่อนสาว ทำให้คุณสามีแทนที่จะรู้สึกผิด ก็เลยไปดูบอลบ้านเพื่อนได้อย่างสบายใจ

infographic สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร Wongnai

เห็นได้ว่าคนไทยอะไร ๆ ก็อาหารเสียจริง นี่เป็นคนไทย กินอย่างเดียวไม่ได้ต้องรู้รักษ์ความเป็นไทยในจานข้าวด้วย (ไขมันหน้าท้องผมช่วยรักษาความเป็นไทยอยู่นะครับ!) และจริง ๆ แล้ว 10 สำนวนไทยเท่านี้เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น ของจริงยังมีอีกเยอะแยะเลยครับ ถ้าสนใจสามารถหาอ่านต่อได้ในหนังสือด้านล่างเลยครับ!

10 สำนวนไทยโดย Wongnai

เรียบเรียงจาก

ส.พลายน้อย. เรื่องข้างสำรับ. กรุงเทพมหานคร : สถาพรบุ๊คส์, 2559.

ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร : ราชบัณฑิตยสถาน, 2553.