อาหารกลางวันสมัยเรียนของเราตั้งแต่จำความได้ ก็ไม่ได้ชอบกินทุกเมนูหรอก บางเมนูก็ติดใจ บางอันก็อยากจะแอบเททิ้ง แต่แม้ว่าจะไม่ชอบแค่ไหนก็ตาม ถ้าให้เทียบกับอาหารกลางวันของเด็กอเมริกันก็ยังพบว่าไอ้ที่ไม่ชอบของเรายังดีกว่าในกล่องอาหารพวกนั้นมาก
เพราะอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนอเมริกาที่เป็นภาพจำและไวรัลไปทั่วอินเทอร์เน็ต มักประกอบไปด้วยส่วนผสมที่ไม่น่าอยู่ด้วยกันได้ เช่น แมคแอนด์ชีส ถั่ว ข้าวโพด พิซซ่า หรือแม้กระทั่งแครกเกอร์และคุ้กกี้ต่าง ๆ หนักกว่าบางทีก็มีขนม เยลลี่ และมันฝรั่งทอด สายเลือดคนไทยรักการกินแบบเราถึงกับขมวดคิ้ว คือว่าอันนี้พี่เรียกว่าอาหารกลางวันแล้วจริงๆ เหรอ?
ชวนตั้งคำถามแล้วเด็กพวกนี้มันโตมายังไงกันนะ Wongnai Story EP พาทุกคนไปกินข้าวกลางวันที่สหรัฐอเมริกากัน ให้เห็นภาพการใช้ชีวิตก่อนเติบโต พร้อมปัญหา ‘ความอ้วน’ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนเทียบกับอาหารฝั่งบ้านเราบ้างว่าท้ายสุดแล้ว ใครมันจะเลี้ยงเด็กได้ดีกว่ากัน
เด็กเมกาอ้วน ผู้ใหญ่เมกาตอนนี้ก็อ้วนเหมือนกัน
รู้มั้ยว่า ถ้าเราไปสหรัฐอเมริกา แล้วเจอกลุ่มเด็กเดินมาด้วยกัน 5 คน เราจะพบว่า 1 ในนั้นจะเป็นเด็กอ้วน
ตอนนี้มีเด็กมากถึง 17% ในอายุ 10 - 17 ปี ที่กำลังมีปัญหาโรคอ้วน ดาต้าจาก CDC หรือ Childhood Obesity Facts บอกเราว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเด็กอ้วนจำนวนมาก ซึ่งปัญหานี้แพร่หลายกระจายไปในทุก ๆ พื้นที่ของสหรัฐ โดยเฉพาะเด็กผิวดำ และเด็กยากจน ยิ่งกว่านั้นคือการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพกลับมาราคาแพงเกินกว่าจะเอื้อมถึงด้วย ราคาการดูแลสุขภาพของเด็กอ้วนหนึ่งคน คือ 116 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนเด็กที่มีปัญหาอ้วนระยะรุนแรงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษต้องใช้เงินได้มากถึง 310 ดอลลาร์ต่อปีเลยทีเดียว แปลว่ายิ่งอ้วน ยิ่งต้องมีเงินตามไปด้วยอีก
ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเองก็เผชิญกับปัญหานี้ 2 ใน 5 ของผู้ใหญ่เป็นโรคอ้วน ยิ่งกว่าเด็กอ้วนอีก ทำให้ตอนนี้ความอ้วนกลายเป็นโรคที่แพร่หลาย เจอได้ง่าย และต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษา กลุ่มคนอ้วนเหล่านี้พบว่ามีโรคอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น หัวใจ เบาหวาน ความดันเลือดสูง ซึ่งสามารถส่งผลให้ตายก่อนวัยอันควรได้ทั้งหมด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ตัวเลขของผู้ป่วยฟ้องชัดขนาดนี้ ว่า ‘ความอ้วน’ กำลังระบาดหนักในสหรัฐอเมริกาแถมเป็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่จริง ๆ ประเด็นอาจกำลังบอกเราว่า อาหารเมกาเนี่ยกำลังมีปัญหาอยู่จริง ๆ ก็ได้ โดยเฉพาะอาหารกลางวันที่เด็ก ๆ ต้องกินในโรงเรียน เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นพื้นฐานของการใช้ชีวิตต่อไป
จุดเริ่มต้นของแครกเกอร์ พิซซ่า และมันฝรั่งบด
ถ้าลองดูว่า 10 ประเภทอาหารที่ไม่ควรเป็นอาหารกลางวันสำหรับเด็กคืออะไร อันดับแรก ๆ ที่เจอแน่ คือพวกของทอดแบบเฟรนชฟรายส์ พิซซ่า ไปจนถึงขนมกรุบกรอบ โซดา ขนมหวาน เช่นลูกอม อมยิ้ม มันฝรั่ง มีตโลฟ หรือเศษเนื้อบด และก็เป็นไปตามคาดว่าเกินครึ่งของลิสต์ประเภทอาหารที่พูดมานี้อยู่ในถาดอาหารกลางวันของเด็กเมกา
จริง ๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของอาหารกลางวันที่ชวนงงนี้ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่แรก แต่เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงจากชนบทสู่ความเป็นเมือง เพราะในช่วงปี 1900 เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ยังคงกลับบ้านช่วงกลางวันเพื่อกินข้าว และค่อยกลับมาโรงเรียนอีกครั้ง แต่เมื่อช่วงยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู ผู้ปกครองหลายบ้านต้องทำงานในเมืองมากขึ้น เด็ก ๆ ต้องมีกินข้าวที่โรงเรียนจัดให้อย่างไม่มีทางเลือก โดยอาหารในช่วงนั้นมักเป็น ซุปถั่ว ถั่วเลนทิล ข้าวหรือขนมปัง
ผ่านมาจนถึงช่วง 1920-1930 ที่ผลิตภัณฑ์เกษตรเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แปลว่าเด็ก ๆ เริ่มได้กินเนื้อวัว หมู และเนยมากขึ้น แต่ว่าก็ยังไม่ได้มีสารอาหารที่ครบถ้วนอยู่ดี จนกระทั่งในปี 1960 ที่พิซซ่าถูกบรรจุดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารกลางวันของเด็ก แปลว่าในช่วงปีนั้น เด็กเมกันจะได้กิน แซนด์วิชเนย ถั่วและเยลลี่ มีทโลฟกับมันฝรั่งบด พิซซ่า และปลาสติ๊กกับซอสทาร์ทาร์ เป็นหลัก และหลังจากพิซซ่าเข้ามามีบทบาทได้แล้ว หลังจากนั้นอาหารฟาสต์ฟู้ดก็เริ่มทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ และเป็นช่วงนี้เองแหละที่เด็กเมกันเริ่มเข้าสู่สเตจของโรคอ้วนกันมากขึ้นกว่าเดิม ไปจนถึงการคิดค้น ‘Lunchables’ กล่องอาหารกลางวันแบบสำเร็จรูป ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ชีสแปรรูป แครกเกอร์ และชีส จัดมาให้สัดส่วนสำหรับ 1 มื้อกลางวัน ซึ่งมีนักโภชนาการได้ออกมาพูดถึงเจ้าผลิตภัณฑ์นี้ว่าหากเด็ก ๆ กินเยอะเกินไป ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นตาม
สารอาหารไม่เพียงพอ แถมน้ำตาลและคาร์บเกิน
จากที่เล่ามาด้านบน จะเห็นว่าอาหารกลางวันของเด็กเมกันที่โรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทั้งเพิ่มเนื้อสัตว์บ้าง เพิ่มพิซซ่าบ้าง ตลอดจนกลายมาเป็นสินค้าแปรรูป ยกระดับความสะดวกสบาย แต่ว่ามันดีจริงเหรอ เพราะปัญหาหนึ่งก็ยังคงอยู่และดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ ‘สารอาหารที่ดูน่าจะไม่เพียงพอ
สหรัฐฯ เองก็เห็นปัญหาเรื่องนี้ ตั้งแต่ช่วง 1940 ก็เริ่มมีโครงการสนับสนุนอาหารกลางวันมาเรื่อย ๆ แต่ในช่วงนั้นที่เพิ่งอยู่ในจังหวะจบสงคราม ทำให้สิ่งที่เด็ก ๆ ได้กินก็ยังเป็นพวกผลผลิตส่วนเกินทางการเกษตร หรือเศษเนื้ออยู่ดี ตลอดจนอาหารที่เน่าเสียง่ายก่อนถึงโรงเรียนด้วยซ้ำ หลังจากนั้นก็มีโครงการ เช่น NSLP หรือ The National School Lunch Program ที่เข้ามาจัดการเรื่องอาหารกลางวันทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าว่าอาหารของเด็กในมื้อกลางวันจะต้องประกอบไปด้วยแคลลอรี่ โปรตีน แคลเซียม วิตามินที่สำคัญที่เด็กต้องได้รับในแต่ละวัน จนไปถึงปี 2010 ก็มีโครงการ Healthy, Hunger-Free Kids Act ผลงานจากอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งอย่าง Michelle Obama เน้นโภชนาการเข้มงวดมากขึ้น เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชให้กับเด็ก ๆ เมกามากขึ้น
แม้ว่าทั้งสองโครงการจะเพิ่มอัตราการกินที่ดีขึ้นให้กับเด็กเมกาแล้ว แต่ว่าถ้ามีมยังคงไวรัลทั่วเน็ต แปลว่าเรื่องยังไม่ถูกแก้ไขดีพอ โดยล่าสุดเมื่อต้นปีที่แล้ว ทาง U.S. Department of Agriculture (USDA) ได้ประกาศออกมาล่าสุดว่า เด็กอเมริกาจำเป็นต้องมีลิมิตเรื่องน้ำตาล และแป้งมากกว่านี้ เพราะว่าตอนนี้ปัญหามันไม่ใช่แค่เด็ก ๆ น้ำหนักเกินเท่านั้น แต่มีปัญหาเบาหวานและฟันผุตามมาด้วย ทำให้ตอนนี้เด็ก ๆ ในสหรัฐอเมริกาบริโภคน้ำตาลที่เติมกันโดยเฉลี่ยมากถึง 17 ช้อนชา หรือ 70 กรัมต่อวัน โดยเด็กวัยเรียนประมาณ 8 ใน 10 ในสหรัฐอเมริกาบริโภคแคลอรี่มากกว่า 10% จากน้ำตาลที่เติมเข้าไป ทำให้ตอนนี้เรามีวัยรุ่นเมกา 1 ใน 5 มีภาวะเสี่ยงก่อนเป็นเบาหวานกันอยูเลย
หรือที่อาหารกลางวันต่างเพราะอยู่กันคนละที่ คนละวัฒนธรรม
ชวนคิดว่าหรือจริง ๆ แล้วสาเหตุที่วัยรุ่นเมกาเค้าชอบอัดคาร์บ เน้นหวาน อาจจะเป็นเพราะอากาศของเมืองหนาว ตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ระบุว่าเมื่อร่างกายเผชิญกับอากาศที่หนาวเย็นมากขึ้น เราจะอยากโหลดคาร์บ หรือกินอาหารพวกแป้ง ๆ เช่น ลาซานญ่า มันฝรั่งบด ชีสต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ประเด็นคือเมื่อเรากินอาหารพวกนี้ร่างกายจะอิ่มชั่วคราวก็จริง แต่ก็จะมาพร้อมกับประมาณน้ำตาลและอินซูลินที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หรือนอกจากสภาพอากาศ อาจจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วยหรือเปล่า เพราะอาหารก็บ่งบอกถึงความเป็นมา เรื่องราว ประวัติศาสตร์ของพื้นที่หรือประเทศนั้นได้ สหรัฐอเมริกาที่ภาพจำในเรื่องของ ‘Fast Food’ แฮมเบอร์เกอร์และชีส ตลอดจนเรื่องของอาหารที่นำเข้ามาจากกลุ่มผู้อพยพที่หลากหลายของอเมริกา ภาพจำประเภทนี้อาจสะท้อนในเรื่องความเร่งรีบ ความไม่พิถีพิถันมากนักผ่านอาหารออกมาก็ได้ ในขณะที่ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการยกให้อาหารเป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญ ความตระเตรียม ความตั้งใจกับทุกมื้ออาจจะเป็นเรื่องจริงจังกว่า อาหารกล่องที่ออกมาจึงมีหน้าตาอีกแบบ เช่น เบนโตะของญี่ปุ่น ที่มีการทำเป็นลวดลายการ์ตูนเพิ่มความน่ารักเข้าไป สะท้อนว่าอาหารอาจเป็นมากกว่าแค่การกิน แต่อาจไปถึงรวมความสุขจากผัสสะอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน
หรือเพราะงบไม่พอ สารอาหารเลยไม่ถึง เด็กเลยไม่มีอะไรกิน
หรืออาจจะไม่ใช่เรื่องอากาศ หรือวัฒนธรรม แต่อาจป็นเรื่องของ ‘งบประมาณค่าอาหารกลางวัน’ หรือเปล่า เพราะโรงเรียนในเมกาส่วนใหญ่ได้รับงบประมาณเพียงประมาณ 1.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อมื้อของเด็กหนึ่งคน ในราคานี้ต้องครอบคลุมทั้งค่าอาหาร ค่าแรงงาน ค่าอุปกรณ์ และค่าไฟฟ้า เนื่องจากเจ้าก้อนงบประมาณที่จำกัดสุด ๆ เลยบีบให้โรงเรียนเลือกใช้วัตถุดิบราคาถูก ส่วนใหญ่ก็หนี้ไม่พ้นพวกอาหารแปรรูปที่มีสารกันบูดสูงและคุณค่าทางโภชนาการต่ำ อย่าง นักเก็ตไก่ พิซซ่า และแฮมเบอร์เกอร์ จึงกลายเป็นตัวเลือกหลักของโรงเรียน โดยจากรายงานก็บอกว่าอาหารพวกนี้นั้นมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำกว่ามาตรฐานของร้านฟาสต์ฟู้ดอย่าง KFC และ McDonald’s ด้วยซ้ำไป
ไม่ใ่ช่แค่แดนมะกันนั้นที่มีปัญหา ไทยแลนด์ก็ไม่น้อยหน้า งบประมาณอาหารกลางวันล่าสุดที่เคาะแล้วจากประชุม ครม. อยู่ที่ ทั้งสิ้น 2,955.57 ล้านบาท สำหรับใช้ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ฟังดูเยอะ แต่เมื่อหารเฉลี่ยออกมาแล้ว ก็ตกอยู่ที่ 36 บาท ต่อหัว ต่อมื้อเท่านั้นเอง (คิดออกมาเป็นค่าเงินดอลลาร์แล้วก็ไม่ต่างกัน) ในราคานี้ก็คงไม่ต้องเดาว่าเพียงพอหรือไหมกับการเตรียมอาหารที่มีคุณภาพ ครอบคลุมครบทุกหมู่ให้กับเด็ก เพราะฉะนั้นเด็กไทยเองก็เจอกับปัญหาด้านโภชนาการเหมือนกันที่ทำให้มีทั้งเด็กอ้วนเกิน และเด็กผอมเกินไปในโรงเรียนอยู่เหมือนกัน
แต่อาหารโฮมเมดก็ไม่ได้แปลว่าดีที่สุด
หันมองพวกอาหารในฝั่ง SEA โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและไทย มักมีลักษณะเป็นอาหารโฮมเมดที่ผู้ปกครองตั้งใจเตรียมไว้ให้ เช่น ข้าวกล่องและเบนโตะ สะท้อนถึงการดูแลและความเอาใจใส่ที่มากกว่าแค่เรื่องโภชนาการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาหารฝั่ง SEA นี้ก็ไม่ได้ปราศจากปัญหา
ในญี่ปุ่น เบนโตะกลายเป็นเรื่องของการแข่งขันทางสังคมไปแล้ว คุณแม่หรือผู้ปกครองบางคนรู้สึกกดดันที่จะทำข้าวกล่องที่สวยงามและซับซ้อนจนเป็นที่ยอมรับในสังคม เพราะเจ้าการแข่งขันกันทำเบนโตะให้ดู สวย เริ่ดที่สุด ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้ปกครอง แต่ยังส่งผลถึงเด็กที่อาจถูกบูลลี่จากเพื่อนๆ อีกถ้าหากข้าวกล่องของตนดูธรรมดาเกินไป หรือไม่สวยงามพอ กลายเป็นเรื่องของการแข่งขันที่โฟกัสผิดจุด จากโภชนาการที่เพียงพอของเด็กกลายเป็นความสวยที่เกินพอไปแทน นอกจากนี้แล้วในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยๆ เช่น ส่วนผสมที่มีน้ำมัน หรือน้ำตาลสูง หรือเกินความต้องการของเด็กหนึ่งคนไปอีกก็ยังมี เพราะฉะนั้นใช่ว่าทุกอาหารโฮมคุ๊กจะแปลว่าอาหารที่ดีกว่าเสมอไป (เพราะก็ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนจะทำอาหารที่ดีเหมือนกัน)
เด็กจะโตมาได้แบบไม่อ้วนต้องเลี้ยงด้วยคนทั้งประเทศ
เด็กคนหนึ่งจะโตมา ต้องมีแรงส่งหลายอย่าง ตัวอย่างประเทศที่น่าสนใจ เช่น ฝรั่งเศส ถึงกับมีคำพูดเลยว่า ‘French kids eat all’ เพราะการเลี้ยงเด็กของที่นั้นแตกต่างออกไป คือฝรั่งเศสจับอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต คือให้เด็ก ๆ มีส่วนในการเห็นที่มาของอาหาร มีการปลูกผักบางส่วนในโรงเรียน นำอาหารมา ‘เล่น’ ที่หมายถึงของเล่นพลาสติกจำลอง ตลอดจนให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนช่วยปรุงอาหารที่พวกเขาจะได้กินในตอนกลางวัน ผลลัพธ์ของการเลี้ยงดูแบบนี้คือเด็ก ๆ กินง่าย และกล้าที่จะทดลองกินอะไรใหม่ ๆ มากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูแบบนี้มาก่อน
มองประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่อาหารกลางวันถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ไปด้วย คือนอกจากเด็ก ๆ จะได้รับอาหารที่เตรียมอย่างดี ปรุงสุก พร้อมโภชนาการที่สมดุลแล้ว เด็ก ๆ ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดโต๊ะ เตรียมอาหารกลางวันเพื่อกินร่วมกันที่โรงเรียนอีกด้วย หรือประเทศฝั่งยุโรป เช่น สวีเดนและฟินแลนด์ ประเทศท็อป ๆ ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมไม่มองข้ามเรื่องสำคัญอย่างการกินของเด็กในโรงเรียน ผ่านนโยบายอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็กทุกคน ที่มาพร้อมคุณประโยชน์และสารอาหารครบถ้วน ก็คือลดทั้งความเหลื่อมล้ำ และลดความหิวไปได้พร้อมกัน
สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ในอนาคต นโยบายด้านโภชนาการสำหรับเด็กจึงควรได้รับความใส่ใจจริง ๆ จากทั้งบ้านไปจนถึงโรงเรียน เพื่อให้เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิต ไม่งั้นเราก็จะยังเห็นมีมไวรัลของพ่อแม่วัยใสที่ทำอาหารไม่ได้คุณภาพให้ลูก ๆ เจนต่อไปกินเรื่อย ๆ เหมือนเดิม
#Wongnai #WongnaiStory #Lunchbox #Nutrition
https://www.bbcgoodfood.com/howto/guide/karen-le-billion-french-children-eat-anything
https://hudexplorernews.org/1803/opinion/americas-cafeteria-food-is-the-worst-possible-lunch/
https://educationdata.org/school-lunch-debt
https://www.thansettakij.com/business/economy/592028
https://rebecaplantier.com/5-reasons-french-kids-eat-everything/
https://impact.stanford.edu/article/30-million-kids-american-schools-deserve-better-nutrition
www.cdc.gov/obesity/childhood-obesity-facts/childhood-obesity-facts.html#:~:text=Expand%20All-,Age,%25%20among%20adolescents%2012%E2%80%9319.
https://foodrevolution.org/blog/school-lunch-in-america/
https://www.mentalfloss.com/article/87238/what-school-lunch-looked-each-decade-past-century
https://www.theguardian.com/education/2010/jan/12/children-unhealthy-lunchboxes