ไข่ข้าว ไข่ตัว อาหารเลิศรส หน้าตาน่ารักน่าชัง
  1. ไข่ข้าว ไข่ตัว อาหารเลิศรส หน้าตาน่ารักน่าชัง

ไข่ข้าว ไข่ตัว อาหารเลิศรส หน้าตาน่ารักน่าชัง

“ไข่ข้าว” และ “ไข่ตัว” สุดยอดอาหารสตรีทฟู้ดที่ทำให้คนเหวอได้ทันทีเมื่อได้เห็น แต่เค้าว่าอร่อยซะอย่างงั้น!
writerProfile
9 ต.ค. 2024 · โดย

จริง ๆ เมนูนี้ก็ไม่ได้เป็นของใหม่อะไร เราคนไทยและอีกหลาย ๆ คนน่าจะต้องเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้ว แต่เรื่องอาหารมันก็นานาจิตตัง ใครชอบก็ชอบ ใครไม่ชอบก็ไปว่าเขาไม่ได้ แต่ถ้าจะพูดถึง First impression หน้าตาของมันจริง ๆ ก็ต้องยอมรับว่าลูกคุณอย่างผมทำใจไม่ไหว จะเป็นลมล้มพับตรงนั้น

ใช่แล้ว ผมกำลังพูดถึงเมนูที่กำลังเป็นกระแสฮือฮาอยู่ตอนนี้ “ไข่ข้าว และ ไข่ตัว”

Level ของความแปลกและความท้าทายผมให้อยู่ใน Tier S จนแมลงทอดหรือรถด่วนอะไรอาจจะทำได้แค่นั่งมองตาปริบ ๆ เมื่อเจอสตรีทฟู้ดรุ่นใหญ่เมนูนี้ “ไข่ข้าว” และ “ไข่ตัว” สุดยอดอาหารสตรีทฟู้ดที่ทำให้คนเหวอได้ทันทีเมื่อได้เห็น ไม่ต้องพูดถึงนางงาม ถึงจะแกร่งแค่ไหนก็คงต้องขอหงส์ไทยซักกระปุก แต่พวกคุณที่กำลังเบ้ปากจะรู้ไหมว่าเมนูนี้ประวัติที่ยาวนานและมีวิธีการปรุงที่ไม่ซับซ้อนแถมยังมีรสชาติอูมามิอีกด้วย

เมนูนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

ไข่ข้าว หรือ ไข่ฮ้างฮัง ไข่ตัว หรือถ้าเรียกแบบ International ก็จะรู้จักกันในชื่อ Balut Egg สิ่งนี้ก็คือไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว แต่หยุดการเจริญเติบโตกลางคัน ทำให้ไม่ฟักเป็นตัว แต่เห็นเป็นตัวอ่อนงุ้มงอและเส้นเลือดอยู่ด้านในไข่

ต้นกำเนิดที่แน่ชัดของไข่ข้าวอาจไม่มีบันทึกไว้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่ก็พอที่จะหาข้อมูลและสันนิษฐานได้ ว่าน่าจะมาจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา เนื่องจากเป็นประเทศที่นิยมรับประทานไข่เป็ดเป็นอาหารหลัก และมีการเพาะเลี้ยงเป็ดเป็นจำนวนมาก

มีหลักฐานการบริโภคไข่ข้าวในฟิลิปปินส์ตั้งแต่สมัยที่ถูกปกครองโดยสเปน (ค.ศ. 1521-1898) โดยชาวฟิลิปปินส์เรียกไข่ข้าวว่า "balut" ซึ่งมาจากคำว่า "balot" ในภาษาตากาล็อก แปลว่า "ห่อ" โอ้โหเจ้าไข่ข้าวนี่มีประวัติยาวนานมากว่า 300 ปีเชียวรึ! และถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าไข่ข้าวมีต้นกำเนิดจากประเทศใดกันแน่ แต่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าชาวจีนรู้จักการบริโภคไข่เป็ดมานานกว่า 3,000 ปีแล้ว และมีการกล่าวถึงไข่เป็ดในตำราการแพทย์แผนจีนโบราณด้วย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าแนวคิดการกินไข่ข้าวอาจแพร่หลายมาจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นได้ครับ

กว่าจะมาเป็นไข่ข้าว ไข่ตัว ไม่ใช่ง่าย ๆ

จริง ๆ แล้วต้องเข้าใจก่อนว่า ไข่ข้าว กับ ไข่ตัว นั้นคนละแบบกัน ถึงแม้ตอนนี้เราจะเรียกกันแบบเหมา ๆ รวม ไข่ข้าว คือ ไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อแล้ว แต่ตัวอ่อนยังไม่โต ลักษณะภายในจะเป็นไข่แดงและไข่ขาวปนกัน คล้ายกับไข่ดิบที่เราเห็นทั่วไป แต่เนื้อไข่ขาวจะข้นเหนียวกว่า ส่วนไข่ตัว คือ ไข่ที่ตัวอ่อนเจริญเติบโตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง สามารถมองเห็นตัวอ่อนของเป็ดหรือไก่ได้ชัดเจน บางครั้งอาจเห็นขนอ่อน ๆ หรือจะงอยปากด้วย อันนี้แหละคือไข่เจ้าปัญหาที่เราเห็นกัน

ส่วนวิธีทำไข่ตัวนั้นก็ไม่ยากเผื่อใครอยากจะไปทดลองทำกินเองที่บ้าน

1.เลือกไข่ เช่นเดียวกับไข่ข้าว เลือกไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อแล้ว

2.บ่มเพาะไข่ นำไข่ไปบ่มเพาะในอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่นเดียวกับไข่ข้าว แต่บ่มเพาะเป็นเวลา 14-18 วัน

3.ตรวจสอบ ใช้ไฟส่องดู จะเห็นตัวอ่อนของเป็ดหรือไก่ มีลักษณะเป็นตัว อาจเห็นขน หรือจะงอยปาก

4.นำมารับประทาน นำไข่ตัวไปต้ม นึ่ง หรือปรุงอาหารตามต้องการ

ไข่ตัวนั้นแต่มีเทคนิคพิเศษอยู่ที่การทำให้นุ่มนวลโดยการใส่น้ำส้มสายชูเล็กน้อยลงในน้ำเดือดเพื่อช่วยลดกลิ่นคาวและทำให้เปลือกไข่ปอกง่ายขึ้น วิธีการกินไข่ตัวที่นิยมคือการทานทั้งตัวอ่อนพร้อมกับน้ำจิ้มแจ่วหรือซีฟู้ด และบางครั้งอาจทานคู่กับเครื่องเคียงอย่างผักสดเพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมยิ่งขึ้น พูดแล้วน้ำลายไหล

ถึงหน้าตาไม่ดี แต่เป็นอาหารเลิศรส!

ไข่ตัว เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของอาหารที่หน้าตาท้าทายความกล้าในการกิน ภาพของตัวอ่อนสัตว์ปีกในเปลือกไข่อาจดูน่าตกใจจนเกิดความรู้สึก Food Aversion หรือ ความเกลียดอาหารจนถึงขั้นคลื่นไส้ อาเจียน แม้ว่าจะมีรสชาติอร่อยและคุณค่าทางโภชนาการสูงก็ตาม

ในทางจิตวิทยาปฏิกิริยาต่อต้านอาหารที่มีหน้าตาแปลกเป็นกลไกการป้องกันตัวตามธรรมชาติเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจเป็นอันตราย ในอดีตมนษย์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการกินอาหารที่ไม่รู้จักซึ่งอาจเป็นพิษหรือมีเชื้อโรค ดังนั้นการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะแปลกหรือ Neophobia นี่จึงเป็นวิธีการเอาตัวรอดที่ฝังลึกอยู่ในสัญชาตญาณของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม "ความกลัว" หรือ "ความรังเกียจ" ต่ออาหารบางชนิดอาจเกิดจาก "กรอบความคิด" หรือ "วัฒนธรรม" ที่หล่อหลอมมา เช่นในสังคมตะวันตกการกินแมลงอาจเป็นเรื่องแปลก แต่ในหลายวัฒนธรรม แมลงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ

กรณีของไข่ตัว สะท้อนให้เห็นว่าหน้าตาอาหารมีผลต่อการรับรู้และการตัดสินใจของเรา แต่"ความอร่อย" ก็เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคลอยู่ดีล่ะน่ะ แต่ถ้าใครไหวก็จะได้รางวัลเป็นการค้นพบอาหารรสชาติใหม่ ๆ ที่เปิดประสาทสัมผัสเรา

ถั่วต้ม ทางเลือกโปรตีนสำหรับผู้หวั่นใจไข่ตัว

แม้ว่าไข่ตัวจะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อม "ถั่วต้ม" ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ก็อุดมไปด้วยโปรตีนใยอาหารและสารอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และยังช่วยให้อิ่มท้อง

การกินถั่วต้มแทนไข่ตัว เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องฝืนใจกินสิ่งที่ไม่ชอบ หรือรู้สึกไม่สบายใจ สิ่งสำคัญคือการมีความรู้ และเข้าใจถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารแต่ละชนิด เพื่อเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง และส่งเสริมสุขภาพที่ดีในระยะยาว

#Wongnai #WongnaiStory #ไข่ข้าว #ไข่ตัว #ไข่ฮ้างฮัง #นางงาม