เราจะตรัสรู้ไหม? ถ้าเราได้กินข้าวมธุปายาสแบบพระพุทธเจ้า
  1. เราจะตรัสรู้ไหม? ถ้าเราได้กินข้าวมธุปายาสแบบพระพุทธเจ้า

เราจะตรัสรู้ไหม? ถ้าเราได้กินข้าวมธุปายาสแบบพระพุทธเจ้า

Wongnai Story จะพาทุกท่านไปสำรวจในดินแดนแห่งพุทธศาสนา ข้าวมธุปายาส และวิทยาศาสตร์
writerProfile
28 พ.ย. 2024 · โดย

เรื่องราวการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเต็มไปด้วย ความลึกลับ ปรัชญา และแง่คิดต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทุกสิ่งรอบตัวทั้งภายในและภายนอกล้วนประกอบกันเป็นส่วนหนึ่งของการตรัสรู้ของพระองค์ นอกจากความรู้แจ้งในธรรมแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นก็คือเรื่องของอาหาร อาหารที่องค์ศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นได้ฉันก่อนที่จะเสด็จตรัสรู้นั้นก็คือ “ข้าวข้าวมธุปายาส” ที่นางสุชาดาทำมาถวาย หากเรามองแค่เป็นเรื่องราวพุทธประวัติก็คงจะเหมือนแค่อาหารธรรมดา แต่ถ้าเราลองมาวิเคราะห์กันดูใหม่อีกครั้ง เมนู “ข้าวข้าวมธุปายาส” นั้น มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย และอาหารมื้อนี้ มีส่วนช่วยให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้อย่างไร? แล้วถ้าเกิดเราได้ลองกินเมนูนี้บ้างล่ะ เราจะมีโอกาสได้รู้แจ้งในธรรมเหมือนกับพระพุทธเจ้าไหม Wongnai Story จะพาทุกท่านไปสำรวจในดินแดนแห่งพุทธศาสนา อาหาร และวิทยาศาสตร์

(1) อาหารที่ดี เปลี่ยนแนวคิดได้

ตามตำนานในพระไตรปิฎก ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ช่วงนั้นพระพุทธเจ้ากำลังทรมานตนเองด้วยการอดอาหารจนร่างกายผอมซูบ ไม่มีแรง และไม่ค้นพบทางเสียที วันดีคืนดีก็มีนางสุชาดาได้เข้ามาถวายข้าวข้าวมธุปายาสแด่พระองค์ พระองค์จึงได้กลับมาทบทวนถึงวิธีการของตัวเอง ทรงรู้สึกว่าทางนี้ไม่ได้ทำให้บรรลุเป้าหมาย แต่กลับทำให้อ่อนล้าและไม่สามารถตั้งสมาธิได้ แล้วแบบนี้จะสำเร็จได้อย่างไร

การรับอาหารจากนางสุชาดาจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนว่าพระองค์ทรงเลิกยึดติดกับความคิดแบบสุดโต่ง และเดินทางสายกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้งว่า การดูแลร่างกายให้สมดุลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเจริญปัญญาและสมาธิ

(2) ข้าวข้าวมธุปายาส และเรื่องวัว ๆ นม ๆ

ลักษณะของข้าวข้าวมธุปายาส (ก่อนจะนำมาปั้นเก็บก้อน ๆ อีกที) นั้น เป็นเหมือนข้าวต้มที่ผสมกับเนยและน้ำผึ้ง ถ้าจะบอกให้ลองจินตนาการรสชาติก็ลองคิดว่าคล้ายข้าวต้มที่มีรสหวาน หรือ "ข้าวต้มที่เอาไปต้มกับน้ำกะทิ" มีเนื้อสัมผัสเข้มข้นหนืด เพราะกวนจนสามารถปั้นเป็นก้อนได้เลย โดยในบันทึกหรือคำอธิบายของ อรรถกถา และตำนานพระพุทธศาสนา ไม่มีการบอกสูตรที่แน่ชัด

คำว่า “มธุ” หมายถึง “น้ำผึ้ง” และ “ปายาส” หมายถึง “นม” ในภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาโบราณที่ใช้พูดกันเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อนในอนุทวีปอินเดีย ปัจจุบันไม่มีการพูดภาษาบาลีแล้ว แต่ยังคงใช้เป็นภาษาพิธีกรรมหลักของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

ถ้าพูดถึงอินเดีย อาหารส่วนใหญ่นั้นมีนมและเนยค่อนข้างที่เยอะเลย และวัวนั้นก็มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมอินเดีย ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ศาสนา และความเชื่อทางจิตวิญญาณ หากพูดง่าย ๆ ก็คือ วัวนั้นเป็นผู้ให้ชีวิตเลยทีเดียว ในศาสนาฮินดู วัวเปรียบเสมือน "มารดา" (Gau Mata) เพราะเชื่อว่าวัวให้คุณประโยชน์หลายอย่าง เช่น นม เนยใส ปุ๋ย ใน คัมภีร์ศาสนาฮินดู หากถามว่ากินเนื้อวัวได้ไหม ตามความเชื่อของชาวฮินดู ก็คือไม่ได้จ้า แต่ต้องเข้าใจว่าในอินเดียปัจจุบันประกอบไปด้วยความเชื่อที่หลากหลาย เราจึงเห็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมทางความเชื่อในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

(3) ลองวิเคราะห์ในมุมวิทยาศาสตร์

ในเมื่อการตรัสรู้ในพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับสมาธิและการทำจิตใจให้สงบ ซึ่งร่างกายและจิตใจที่พร้อมเป็นปัจจัยสำคัญ โดยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างข้าวข้าวมธุปายาสมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสมรรถภาพทั้งสองมิติ ถ้าเราลองเอาวิทยาศาสตร์ช่วยอธิบายว่าเหตุใดอาหารนี้จึงเหมาะสม

(4) คาร์โบไฮเดรตจากข้าว คือพลังงานที่ยั่งยืน

ข้าวในข้าวข้าวมธุปายาสเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ถูกย่อยช้ากว่าอาหารประเภทน้ำตาลเชิงเดี่ยว ส่งผลให้พลังงานที่ได้รับถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นสิ่งสำคัญในการฝึกสมาธิและการทำงานของสมอง เพราะสมองต้องการกลูโคสที่สม่ำเสมอเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานวิจัยด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) ชี้ว่า ระดับกลูโคสที่สมดุลช่วยให้สมองส่วน Prefrontal Cortex ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมาธิและการตัดสินใจทำงานได้ดีขึ้น

(5) โปรตีนและกรดอะมิโนจากนม ช่วยเสริมสร้างสมองและอารมณ์

น้ำนมเป็นแหล่งของกรดอะมิโน เช่น ทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของเซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนที่ส่งผลต่ออารมณ์และความสงบ นอกจากนี้ น้ำนมยังมีวิตามินบี 12 ซึ่งช่วยในกระบวนการทำงานของระบบประสาท การศึกษาในวารสาร Nutritional Neuroscience ระบุว่า การบริโภคอาหารที่มีทริปโตเฟนสูงช่วยเพิ่มระดับความผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ฝึกสมาธิอย่างเข้มข้น

(6) น้ำตาลธรรมชาติจากน้ำผึ้ง คือพลังงานที่กระตุ้นสมองทันที

น้ำผึ้งมีน้ำตาลฟรุกโตสและกลูโคสที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ทันที ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดในระยะสั้น ซึ่งสำคัญสำหรับการฟื้นฟูพลังงานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังการทำสมาธิหรือกิจกรรมที่ต้องใช้สมองอย่างหนักนอกจากนี้ น้ำผึ้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) เช่น ฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยปกป้องเซลล์สมองจากความเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น

ในมุมการรักษาสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) ข้าวข้าวมธุปายาสเป็นอาหารที่ช่วยเสริมสมดุลระหว่างระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic) และพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) ส่งผลให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลาย ซึ่งเอื้อต่อการทำสมาธิและการฝึกจิต และอาจไปถึงขั้นกระตุ้นการทำงานของระบบสมองส่วนลึก (Limbic System) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความทรงจำและการควบคุมอารมณ์ ทำให้ผู้ฝึกสมาธิสามารถจดจ่อและมีอารมณ์ที่สมดุล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตรัสรู้

(7) หากมองในแง่ของปรัชญา

หากเรามองลึกในแง่ปรัชญา การรับประทานข้าวข้าวมธุปายาสเป็นตัวแทนของการดูแลร่างกายด้วยความใส่ใจในโภชนาการ โดยไม่ลุ่มหลงในความสุขของรสชาติหรือการอดอาหารอย่างสุดโต่ง วิทยาศาสตร์สนับสนุนแนวคิดนี้ผ่านการอธิบายถึงความสำคัญของอาหารต่อสมองและสมาธิ เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม การเดินทางทางจิตวิญญาณจึงเป็นไปได้อย่างราบรื่น

(8) กินข้าวข้าวมธุปายาสไม่ได้ทำให้ตรัสรู้ได้โดยตรง

สิ่งสำคัญของพุทธศาสนาคือการสำรวจความคิดของตนเอง การเข้าใจธรรมชาติของอารมณ์ภายในตัวเรา การฝึกฝนอายตนะ ผัสสะของเราให้อยู่ในความเป็นระเบียบที่ควบคุมได้ เพื่อเราจะได้รู้ทันตัวเราเอง และไม่ยึดติดใด ๆ กับความลุ่มหลงอันฉาบฉวย พุทธนั้นสองให้มองโลกอย่างจริงแท้และตรงไปตรงมา

โอเค ถึงแม้ข้าวข้าวมธุปายาสจะไม่ได้ทำให้ตรัสรู้ได้โดยตรง แต่ในเชิงวิทยาศาสตร์ อาหารที่ดีนั้นก็จะช่วยสนับสนุนสมรรถภาพของร่างกายและสมอง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการฝึกจิต การพัฒนาสติ และสมาธิ ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานสำหรับการบรรลุธรรมในระดับที่สูงขึ้น หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อใครก็ตามที่กำลังเจริญรอยตามวิถีแห่งพุทธศาสนา

สูตรอาหาร ข้าวมธุปายาส

สูตรดั้งเดิมของ มธุปายาสที่ถูกบันทึกแบบออริจินัลไว้นั้นหาได้ยากเย็นนัก แต่เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่าอาหารจานนี้ประกอบด้วยข้าวที่ต้มในนมและปรุงรสหวานด้วยน้ำผึ้ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าสมุนไพรอื่น ๆ เช่น กระวาน หรือผลไม้แห้ง เช่น ลูกเกด และถั่ว เช่น พิสตาชิโอ ได้ถูกนำมาใช้ในช่วงแรก ๆ ของมธุปายาสหรือไม่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นที่นิยมในปัจจุบันในการทำขนมคีร์

ในสูตรของ ภัธปายาส (Bhath Payasa) ซึ่งมีอายุ 2,000 ปี และยังคงถูกใช้ในครัวของวัดชคันนาถ (Jagannatha Temple) แห่งเมืองปุรีประเทศอินเดีย มีการใช้ส่วนผสมเหล่านี้ ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่า ถูกใช้ในมธุปายาสยุคแรก ๆ เช่นกัน

วัตถุดิบ:

-ข้าวบาสมาติ ½ ถ้วย

-นมวัวสด 4 ถ้วย (ไขมันเต็ม)

-น้ำผึ้งตามชอบ

-ลูกเกดตามต้องการ (ไม่บังคับ)

-เมล็ดกระวานเขียว 2-3 เมล็ด (ไม่จำเป็น) ตำในครกและสาก ทิ้งเปลือกออกแล้วเก็บเมล็ดที่บดไว้

-ถั่วคั่วตามชอบ (ไม่จำเป็น)

วิธีทำ:

1.ล้างข้าวแช่ไว้ประมาณ 15-20 นาที สะเด็ดน้ำแล้วพักไว้

2.เทนมลงในหม้อดิน นำนมไปต้มบนไฟอ่อนบนถ่านร้อน (หรือเตาธรรมดาก็ได้ ถ้าไม่มีถ่าน)

3.ต้มนมต่อไปจนปริมาณนมลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง

4.ใส่ข้าวลงไปแล้วคนให้เข้ากัน

5.ลดไฟและเคี่ยวส่วนผสมจนสุก

6.เคี่ยวต่อจนข้าวสุกแล้วใส่น้ำผึ้งและเมล็ดกระวานบดลงไป

7.พอข้าวสุกและเนื้อข้าวเหนียวข้น ใช้ช้อนบดข้าวให้ละเอียด

8.หยุดไฟและพักมะธุปายาสให้เย็นลง

เมื่อเย็นลงแล้วคนมธุปายาสให้เข้ากัน แล้วใส่ลงในชามเสิร์ฟ ตกแต่งด้วยลูกเกดและถั่วคั่ว พร้อมเสิร์ฟ

Referenence

https://bodhiday.org/2018/09/27/bodhi-day-rice-milk/

https://www.buddhistelibrary.org/

https://en.wikipedia.org/wiki/Sujata_(milkmaid)

#Wongnai #WongnaiStory #ข้าวมธุปายาส #พระพุทธเจ้า #พุทธประวัติ