ของแปลกที่สุดที่คุณเคยกินคืออะไร คำตอบคงไล่ความเอกโซติกไปตั้งแต่ แมลง เนื้อดิบ ของแปลกต่าง ๆ ไปจนการกินเมนูที่ไม่คาดคิด !
.
แต่ความแปลกที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเทียบไม่ได้เลยกับเมนูที่ชาวเวลส์และอังกฤษในช่วงยุคกลางกิน “เพราะพวกเขาเลือกที่จะกินบาป”
.
1.) คนกินบาป
การกินบาปเป็นความเชื่อท้องถิ่นของชาวเวลส์ในช่วงยุคกลางลากยาวมาจนถึงช่วงต้นของยุคใหม่ ระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง ศตวรรษที่ 19 โดยมีจุดประสงค์เพื่อชำระบาปทั้งหมดให้ผู้เสียชีวิตจากไปอย่างบริสุทธิ์ในชีวิตหลังความตาย
.
เมื่อมีผู้เสียชีวิต หรือถูกคาดว่าจะต้องลาโลกไปในอีกไม่กี่อึดใจ ญาติ ๆ จะเรียกให้ผู้ทำอาชีพกินบาปมารับประทานขนมปังซึ่งถูกตีความว่าเป็นอาหารดูดซับบาปและเป็นตัวกลางในการถ่ายโอนเอาบาปของผู้วายชนม์มาเป็นของตัวผู้กินบาป แลกกับเงินจำนวนไม่กี่ชิลลิ่ง หลังจากนั้นบาปก็จะติดตัวผู้กินไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ
.
วิธีการกินบาป
ขนมปัง เกลือ อาจมีเบียร์ด้วย จะถูกนำไปวางไว้บนโลงศพ แต่บางบันทึกก็อธิบายว่าวางบนร่างของผู้เสียชีวิต หลังจากนั้นจึงให้คนกินบาปรับประทานอาหารที่อยู่ด้านบนเพื่อเป็นการนำบาปออกจากผู้ตาย ระหว่างรับประทานก็จะมีการสวดเพื่อชำระบาปออกจากร่างกายไปพร้อมกัน
.
2.) ขนมปัง = ฟองน้ำซับบาป
ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่าเมนูมีเป็นร้อยทำไมถึงเลือกขนมปัง? แม้เรื่องนี้ไม่มีเขียนบันทึกที่มาที่ไปไว้ชัดเจน แต่ก็มีหลายทฤษฎีที่นำมาใช้อธิบายการมีอยู่ของขนมปังในพิธีกรรมของคนกินบาป
.
สมมติญานหนึ่งอธิบายว่าขนมปังเปรียบเสมือนฟองน้ำซับบาป เนื่องจากรูพรุนของมันคล้ายกับฟองอากาศภายในขนมปัง อาจถูกตีความว่ามีคุณสมบัติช่วยดึงบาปออกมา
.
แต่การเลือกขนมปังอาจไม่ได้ลึกซึ้งเท่านี้ เพราะขนมปังเป็นอาหารพื้นฐานที่เข้าถึงได้ในยุโรปยุคกลาง ทำให้เป็นทางเลือกที่ง่ายและสะดวกต่อการใช้ในพิธีกรรมเหล่านี้
.
แม้จะมีขนมปังเป็นองค์ประกอบของพิธีกรรมแต่จากหลายแหล่งข้อมูลไม่ได้กล่าวเชื่อมโยงกับศริสต์ศาสนา
.
3.) เสียสละด้วยการกิน
ตอนเด็ก ๆ คุณครูคงพูดกับเราหรือเพื่อน ๆ เรื่องความเสียสละ หรือการแบ่งปันทำนองว่า แบ่งให้เพื่อนกินบ้าง การ “ไม่กิน” จึงกลายสัญญะของการแบ่งปันหรืออุทิศให้
.
แต่มุมมองของการกินบาปนั้นตรงข้ามกัน เพราะการกินคือสัญญะของการเสียสละเพื่อชำระชีวิตอื่นให้บริสุทธิ์ในวาระสุดท้าย
.
แรกสุดบาปเป็นนามธรรม ซึ่งถูกทำให้จับต้องได้ด้วยการดูดซับไว้ในขนมปัง
.
ขนมปัง กลายเป็นสัญญะของตัวกลางที่เคลื่อนย้ายบาป จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง
.
การกิน กลายเป็นสัญญะของการเปลี่ยนผ่านของการรับบาปมาสู่ตัวผู้กินบาปและกลายเป็นสัญญะของการปลดปล่อยไปในที่สุด
.
เหล่านักกินบาปไม่ได้ทำให้บาป "หายไป" แต่พวกเขาแบกรับบาปเหล่านั้นไว้แทนเพื่อให้ครอบครัวของผู้ตายเกินความสบายใจ แม้การกินบาปถูกมองว่าเป็นการเสียสละ แต่ในมุมมองของสังคมกลับตีตราผู้ที่ทำหน้าที่นี้อย่างโหดร้าย
.
4.) ชั่วร้ายที่ชายขอบ
ในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เป็นที่รู้จักและศาสนาก็ยังไม่ได้มีรากอันหยั่งลึก ความเชื่อจึงกลายเป็นความจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเรื่องของการกินบาป เมื่อบาปถูกกินจากร่างคนที่ไร้ลมหายใจ ความเชื่อจึงบอกว่าบาปจึงติดตัวไปกับผู้ที่กินมัน ผู้กินบาปจึงกลายเป็นผู้ที่สังคมไม่ต้องการเพราะความเชื่อว่าจะนำพาเรื่องไม่ดี
.
เมื่อคุณกินสิ่งที่สังคมไม่ต้องการ คุณจึงกลายเป็นสิ่งที่สังคมไม่ต้องการไปด้วย ประหนึ่งคำว่า You are what you eat คนกินบาปกลายเป็นผู้ที่สังคมไม่ต้อนรับแต่กลับคิดถึงเวลาที่ต้องการใช้งาน
.
ด้วยค่าจ้างที่ได้รับอันบางเบา ดูแล้วจะไม่คุ้มต่อสุขภาพจิตของผู้กินบาปเสียเลย เพราะบ่อยครั้งหลังจากทำพิธีเสร็จแล้ว พวกเขาจะโดนขู่โดยเจ้าของบ้านว่าห้ามกลับมาอีก แถมพิธีกรรมก็ห้ามทำในบ้าน ด้วยความไม่เป็นที่ต้อนรับ ทุกบ้านมักขับสู้พวกเขาเสียมากกว่าเพราะกลัวเรื่องร้าย ๆ จะติดตัวเข้ามาในบ้าน
.
บางการตีความอธิบายไว้ว่าเหล่าผู้ประกอบอาชีพกินบาปส่วนใหญ่แล้วมักเป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีทางเลือกมากนักในสังคม หรือเป็นผู้ที่ยอมเสียสละตัวเองอย่างสูงเพื่อแสดงถึงการปลดปล่อยวิญญาณของผู้อื่น
.
5.) เมื่อไม่มีบาปให้กิน
ภายหลังศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชุมชนพื้นบ้านทำให้การกินบาปค่อย ๆ หายไป ในแง่หนึ่งพิธีการกินบาปเองนั้นก็เป็นการชำระจิตวิญญาณที่มีฟังก์ชันคล้ายกับการสารภาพบาปต่อพระเจ้า ทำให้ภายหลังบาปนั้นถูกสารภาพไปเสียหมดจนไม่เหลือให้กิน ไม่นานนักคนกินบาปจึงกลายเป็นเพียงตำนานที่ถูกจารึกว่าเคยมีอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์โลก
.
ในบริบทนี้เราอาจจะมองได้ทั้งความเชื่อพื้นบ้านที่ถูกลดทอนความแข็งแรงด้วยหลักคำสอนของศาสนา หรือในอีกบริบทหนึ่งเราได้เห็นการดีลต่อความรู้สึกของคนเป็น คนตาย ที่เลือกต่อรองผ่านอาหารและการกิน
#คนกินบาป #บาปบุญ #SinEater #Wongnai #WongnaiStory
Reference
https://hauntedpalaceblog.com/2023/09/10/sin-eaters-selfless-saviours-or-the-walking-damned/#_ftn1
https://www.eatsleepliveherefordshire.co.uk/the-history-of-sin-eaters/