เงินเดือนเท่านี้ ไหวไหม? เทียบค่าครองชีพกับเงินเดือนของแต่ละประเทศ
  1. เงินเดือนเท่านี้ ไหวไหม? เทียบค่าครองชีพกับเงินเดือนของแต่ละประเทศ

เงินเดือนเท่านี้ ไหวไหม? เทียบค่าครองชีพกับเงินเดือนของแต่ละประเทศ

เงินเดือนเท่านี้ อยู่ไหวไหม ลองมาเทียบค่าครองชีพและเงินเดือนขั้นต่ำกันดีกว่าค่ะ ว่าแต่ละประเทศมีเงินเดือนเฉลี่ยประมาณเท่าไหร่ ค่าครองชีพต่อเดือนประมาณเท่าไหร่
writerProfile
1 ธ.ค. 2021 · โดย

ช่วงนี้ประเทศไทยประสบกับปัญหาของแพงขึ้น เพราะเจอกับโรคระบาด แถมเจอกับภัยพิบัติอื่น ๆ อย่างน้ำท่วม ทำให้น้ำมันแพง ของราคาแพงขึ้น แต่ค่าแรงเท่าเดิม ค่อนข้างสวนทางกับรายจ่าย เราลองมาเทียบค่าครองชีพและเงินเดือนขั้นต่ำกันดีกว่าค่ะ ว่าแต่ละประเทศมีเงินเดือนเฉลี่ยประมาณเท่าไหร่ ค่าครองชีพต่อเดือนประมาณเท่าไหร่ แล้วเงินเดือนเฉลี่ย ใช้ได้ประมาณกี่เดือน แล้วประเทศที่ค่าครองชีพแพงที่สุดคือที่ไหน 

ค่าครองชีพ คือ?

ค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า ค่ารักษาพยาบาล ภาษีและประกันสังคม แต่ละพื้นที่และแต่ละประเทศ ก็จะมีปัจจัยและราคา ค่าครองชีพที่แตกต่างกันไป อย่างบางที่ ค่าอาหารไม่แพง เพราะอยู่ใกล้แหล่งผลิตอาหาร หรือบางพื้นที่ค่าเดินทางแพง เพราะไม่มีระบบขนส่งที่ดี บางพื้นที่ค่าเช่าบ้านแพง เพราะค่าที่ดินสูง อยู่ในย่านธุรกิจ เป็นต้น

เงินเดือนเฉลี่ยคำนวนมาจากไหน?

ข้อมูลจากเว็บไซต์ World data รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของหลาย ๆ ประเทศ มาวิจัยและคำนวนจากรายได้เฉลี่ยต่อปีต่อประชากรทั่วประเทศ และหารเป็นรายเดือน หมายความว่าเงินเดือนเฉลี่ยอาจจะสูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับจริง เพราะเป็นค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ และรวมเงินเดือนของคนที่มีรายได้สูงต่อเดือนเข้าไปด้วย

เงินเดือนเท่านี้ ไหวไหม? เทียบค่าครองชีพกับเงินเดือนของแต่ละประเทศ 

เทียบค่าครองชีพกับเงินเดือน ประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้

ประเทศไทย 

  • เงินเดือนเฉลี่ย : ประมาณ 19,430 บาทต่อคน 
  • ค่าครองชีพต่อเดือน : 27,485 บาท
  • เงินเดือนหลังหักภาษี อยู่ได้ : 0.8 เดือน (24 วัน)
    หลาย ๆ คนอาจจะได้เงินเดือนน้อยกว่าหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยนี้ แต่ค่าครองชีพต่อเดือนในประเทศไทยเฉลี่ยสูงกว่าเงินเดือนถึง 8,000 กว่าบาทต่อเดือน คนที่มีกำลังซื้อก็พอซื้อได้ แต่ถ้าเงินเดือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มีครอบครัว และหาเงินคนเดียวก็จะรู้สึกตึงจนแทบจะไม่พอจ่าย และเงินเดือนสามารถอยู่ได้แค่ 0.8 เดือนเท่านั้น (ประมาณ 24 วัน) จากการจัดอันดับค่าครองชีพที่แพงที่สุด ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 95 จาก 197 ประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับกลาง ๆ

ประเทศลาว 

  • เงินเดือนเฉลี่ย : ประมาณ 6,864 บาทต่อคน 
  • ค่าครองชีพต่อเดือน : 29,371 บาท
  • เงินเดือนหลังหักภาษี อยู่ได้ : 0.4 เดือน (12 วัน)
    แอบมาดูประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศลาวดูบ้าง เงินเดือนถือว่าต่ำมาก ๆ และค่าครองชีพมหาโหดสุด ๆ แถมค่าครองชีพก็ถือว่าแพงเลยทีเดียว เพราะว่าลาวนำเข้าผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศไทยแล้ว เงินเดือนขั้นต่ำของเราก็ยังเยอะกว่า ซึ่งสาเหตุนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่แรงงานจากประเทศลาว ย้ายไปทำงานที่ประเทศอื่น ๆ กันเยอะ และประเทศไทยก็เป็นจุดหมายหนึ่งในนั้น จากการจัดอันดับค่าครองชีพที่แพงที่สุด ประเทศลาวอยู่ลำดับที่ 83 ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศไทยถึง 11 อันดับเลยทีเดียว

ประเทศเวียดนาม 

  • เงินเดือนเฉลี่ย : ประมาณ 7,335 บาทต่อคน 
  • ค่าครองชีพต่อเดือน : 21,135 บาท
  • เงินเดือนหลังหักภาษี อยู่ได้ : 0.7 เดือน (21 วัน)
    ช่วงนี้หลาย ๆ ประเทศเข้าไปลงทุนในเวียดนามกันเยอะ เพราะว่าค่าแรงถูก ค่าครองชีพเวียดนามก็ถูกกว่าประเทศไทยค่ะ ค่าครองชีพในประเทศไทยแพงกว่าเวียดนามถึง 30% แต่กำลังซื้อของเวียดนามอาจจะน้อยกว่าประเทศไทย เพราะว่าค่าแรงต่ำกว่า และถ้าเทียบกับประเทศไทยแล้ว อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามสูงกว่า ค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าไทย เลยทำให้ค่าครองชีพดูแพงกว่านั่นเองค่ะ ซึ่งจากการจัดอันดับค่าครองชีพ ประเทศเวียดนาม อยู่ที่อันดับ 138

ประเทศกัมพูชา 

  • เงินเดือนเฉลี่ย : ประมาณ 4,097 บาทต่อคน 
  • ค่าครองชีพต่อเดือน : 22,888 บาท
  • เงินเดือนหลังหักภาษี อยู่ได้ : 0.4 เดือน (12 วัน)
    ที่ค่าเฉลี่ยต่างกันเยอะ อาจจะเป็นเพราะว่าความต่างของชนชั้นระหว่างคนจนกับคนรวยที่กว้างกว่า แต่ถ้าดูกันจริง ๆ แล้วประเทศกัมพูชาค่าครองชีพค่อนข้างถูกกว่าประเทศลาว เพราะอยู่อันดับที่ 122 แต่มีค่าครองชีพที่สูงกว่าประเทศเวียดนาม ถ้าเทียบกันแล้ว ค่าอาหาร และค่าขนส่งสาธารณะที่ประเทศกัมพูชาค่าใช้จ่ายรายหัวราคาสูงกว่าเวียดนาม เงินเดือนที่ประเทศกัมพูชาหลังหักภาษีแล้ว สามารถอยู่ได้ 0.4 เดือนเท่านั้น (ประเทศเวียดนามอยู่ได้ 0.7 เดือน) ถ้าหากมีครอบครัว ค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งสูงไปอีก

ประเทศแอฟริกาใต้ 

  • เงินเดือนเฉลี่ย : ประมาณ 14,902 บาทต่อคน 
  • ค่าครองชีพต่อเดือน : 32,215 บาท
  • เงินเดือนหลังหักภาษี อยู่ได้ : 1.4 เดือน (42 วัน)
    ลองมาดูประเทศในทวีปอื่น ๆ อย่างทวีปแอฟฟริกาใต้กันบ้างดีกว่าค่ะ ซึ่งก็ถือว่าค่าครองชีพแพงเหมือนกัน เพราะอยู่ที่อันดับ 70 ซึ่งสูงกว่าไทย ถึงแม้ประเทศแอฟริกาใต้จะมีทรัพยากรที่สำคัญหลายอย่าง แต่ก็มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง และยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมของแรงงานอีกด้วย ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ประเทศจีน 

  • เงินเดือนเฉลี่ย : ประมาณ 29,210 บาทต่อคน 
  • ค่าครองชีพต่อเดือน : 24,872 บาท
  • เงินเดือนหลังหักภาษี อยู่ได้ : 1.2 เดือน (36 วัน)
    ประเทศจีนเป็นประเทศที่ค่าครองชีพใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก ๆ กำลังซื้อก็ใกล้เคียงกัน เงินเดือนเฉลี่ยอาจจะดูสูงกว่า แต่ค่าครองชีพของประเทศจีน อยู่ที่อันดับ 108 ซึ่งต่ำกว่าประเทศไทย หมายถึง มีค่าครองชีพที่ถูกกว่าประเทศไทยนั่นเองค่ะ ประเทศจีนปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม เพื่อลดช่องว่างระหว่างชนชั้น แต่คนรุ่นใหม่ ๆ ย้ายออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น เพราะมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจ และมีเสรีในการทำการค้ามากกว่า

ประเทศออสเตรเลีย 

  • เงินเดือนเฉลี่ย : ประมาณ 147,970 บาทต่อคน 
  • ค่าครองชีพต่อเดือน : 64,298 บาท
  • เงินเดือนหลังหักภาษี อยู่ได้ : 1.9 เดือน (57 วัน)
    หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าเงินเดือนเฉลี่ยสูง ค่าครองชีพก็ต้องสูงตามไปด้วย ถูกต้องแล้วล่ะค่ะ เพราะว่าประเทศออสเตรเลีย ติดอันดับประเทศที่ค่าครองชีพสูง โดยอยู่อันดับที่ 11 ของโลก มีค่าครองชีพสูงกว่าประเทศไทยถึง 2.34 เท่า! แต่ถ้าเทียบค่าใช้จ่ายแล้ว ถือว่าอยู่ได้สบาย ๆ 

ประเทศเกาหลี 

  • เงินเดือนเฉลี่ย : ประมาณ 90,474 บาทต่อคน 
  • ค่าครองชีพต่อเดือน : 38,169 บาท
  • เงินเดือนหลังหักภาษี อยู่ได้ : 1.9 เดือน (57 วัน)
    ประเทศในฝันของหลาย ๆ คน เป็นประเทศที่ค่าครองชีพสูงก็จริง แต่เงินเดือนเยอะ สามารถอยู่ได้แบบไม่ลำบาก เงินเหลือ ๆ ไปซื้อเสื้อผ้า ทำศัลยกรรม หรือของใช้ฟุ่มเฟือยต่าง ๆ อย่างแบรนด์เนมได้ โดยไม่รู้สึกว่าแพง กำลังจ่ายสูง ค่าครองชีพแพงอยู่ที่อันดับ 48 จาก 197 ประเทศ ถึงจะได้เงินเดือนสูง แต่คนรุ่นใหม่ ๆ อยากย้ายออกนอกประเทศ เพราะสภาพสังคมที่กดดัน ราคาบ้านที่แพงขึ้นจนซื้อไม่ไหว และการผูกขาดธุรกิจของนายทุน ที่ทำให้ธุรกิจใหม่ ๆ เติบโตได้ยากนั่นเองค่ะ

และจากการจัดอันดับค่าครองชีพในเว็บไซต์ Living cost ประเทศที่ค่าครองชีพแพงที่สุดคือ ประเทศโมนาโก เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป มี GDP ต่อหัวค่อนข้างสูง และมีค่าครองชีพเฉลี่ยที่แพงกว่าค่าครองชีพเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3.91 เท่า แต่ถึงจะเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงยังไงก็ตาม เงินเดือนของประเทศโมนาโกเมื่อหักภาษีเฉลี่ยแล้วเพียงพอสำหรับค่าครองชีพถึง 1.7 เดือน (ประเทศไทยหลังหักภาษี แค่ 0.8 เดือน) แต่เงินเดือนที่สูงที่สุดในโลก คือเมืองเบอร์มิวด้า อยู่ในอเมริกาเหนือ เงินเดือนหลักหักภาษีแล้ว เพียงพอสำหรับค่าครองชีพถึง 1.9 เดือน และประเทศที่มีเงินเดือนต่ำที่สุดในโลก คือ ประเทศอัฟกานิสถาน เนื่องจากเป็นประเทศที่การพัฒนาไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังมีเรื่องของการก่อการร้าย ปัญหาความยากจน การทุจริต ทำให้การรักษาฐานเงินเดือน และการตรึงราคาค่าครองชีพเป็นเรื่องที่ยาก โดยเงินเดือนหลังจากหักภาษีแล้ว สามารถใช้ได้ 0.6 เดือนเพียงเท่านั้น

Reference : 

Worlddata.info. "Comparison of worldwide cost of living" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.worlddata.info/cost-of-living.php สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564

Livingcost.org. "Cost of living by country" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://livingcost.org/cost สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564  

ที่เงินเดือนของไทยเฉลี่ยออกมาแล้วใช้ไม่ถึง 1 เดือน เพราะเราใช้บัญชีเป็นบัญชีเงินผ่าน ประมาณว่าได้รับเงินมาปุ๊บ! ต้องจ่ายค่าหนี้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิตปั๊บ! (ใครเป็นแบบนี้บ้างยกมือขึ้น!) ข้อมูลจากเว็บไซต์เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยค่าครองชีพเท่านี้ ต้องบอกเลยว่า “หญิงเองก็ลำบาก” แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ คิดว่าต่อเดือนควรจะได้เงินเดือนประมาณเท่าไหร่ ถึงจะพอกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ