วิธีการใช้ “เพนดูลัม” เครื่องมือทำนายจากพลังจิตใต้สำนึก
  1. วิธีการใช้ “เพนดูลัม” เครื่องมือทำนายจากพลังจิตใต้สำนึก

วิธีการใช้ “เพนดูลัม” เครื่องมือทำนายจากพลังจิตใต้สำนึก

เพนดูลัม คืออะไร มาดูวิธีทำนายด้วยด้วยเพนดูลัม เริ่มศึกษาได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ให้เพนดูลัมช่วยตอบคำถามต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้เพนดูลัมหาของหาย
writerProfile
10 พ.ค. 2022 · โดย

การทำนายของคนเรานั้น ก็มีการทำนายด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเสี่ยงเซียมซี การใช้ไพ่ทาโรต์ การดูลายมือ ดูวันเดือนปีเกิดเป็นต้น ศาสตร์การทำนายทายทักอีกอย่างหนึ่ง ที่หลาย ๆ คนอาจจะรู้จักกันแล้ว คือการใช้เพนดูลัมในการทำนาย ซึ่งดูภายนอกแล้ว อาจจะดูไม่มีอะไร แต่เพนดูลัม ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือทำนายอีกศาสตร์หนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ใคร ๆ ก็สามารถฝึกวิธีทำนายด้วยเพนดูลัมได้ สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังไม่รู้จักเพนดูลัม มาทำความรู้จักกับเพนดูลัมกันเลย 

เพนดูลัม คืออะไร

เพนดูลัม คืออะไร ใช้เพนดูลัมทำนาย วิธีทำนายด้วยเพนดูลัม

Pendulum (ลูกดิ่ง,ลูกตุ้ม) มีลักษณะเป็นวัตถุที่ห้อยลงมาและสามารถแกว่งกลับไปกลับมาได้อย่างอิสระ มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน คือคำว่า Pendulus แปลว่า “การห้อย” เมื่อวัตถุที่ถูกห้อยอยู่เคลื่อนย้ายออกจากจุดศูนย์กลาง แรงโน้มถ่วงจะดึงวัตถุกลับเข้าสู่จุดศูนย์กลาง โดยแรงเฉื่อยจะทำให้วัตถุเคลื่อนที่เลยจุดศูนย์กลางทำให้เกิดการแกว่ง หลายคนอาจเคยเห็นเพนดูลัม จากลูกดิ่งที่ใช้ในงานก่อสร้างที่ส่วนใหญ่ส่วนที่เป็นลูกตุ้มทำมาจากโลหะ ซึ่งเป็นอย่างเดียวกับเพนดูลัมที่ใช้ในการทำนายแต่ต่างกันตรงวัสดุของลูกตุ้ม

เพนดูลัมกับการทำนาย

นับตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมคนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาไหน ต่างก็มีความเชื่อที่ว่าโลกเรามีพลังงานบางอย่างที่มีอำนาจเหนือกว่าเรา และพยามที่จะหาวีธีติดต่อกับอำนาจที่มองไม่เห็น เพื่อทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ หลายความเชื่อ หลายลัทธิ ก็มีวิธีติดต่อไม่เหมือนกัน เช่น การเสี่ยงทายด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เซียมซี, การนั่งทางในเพื่อเห็นภาพนิมิต, การถามไพ่, การเข้าทรง ซึ่งเพนดูลัมก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน เพนดูลัมเป็นเครื่องมือทำนายที่มีมาช้านาน ตั้งแต่ก่อนยุคปีระมิด เป็นเครื่องมือที่ใช้ค้นคว้าหาคำตอบจากพลังจิตใต้สำนึกของมนุษย์ โดยมีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในตะวันออกและตะวันตก ในสมัยโบราณมีการใช้เพนดูลัมที่ทำจากกระดูกและหินสี เป็นเครื่องมือในการหาแหล่งน้ำ และในยุคต่อมาก็ถูกใช้ในการทายเพศของเด็กในครรภ์มารดาทั้งของคน และของสัตว์ชนิดอื่น ๆ รวมทั้งใช้ทำนายเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันมีการใช้เพนดูลั่ม ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งทำนายการลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงบางคนอาจใช้ตรวจสอบสุขภาพของตัวเอง โดยการทำนายด้วยเพนดูลัมนั้นมักถูกใช้ในการหาคำตอบลักษณะ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” จึงเป็นเครื่องมือการทำนายที่ไม่ซับซ้อนและเข้าใจได้ง่าย เพนดูลั่มที่ใช้สำหรับการทำนายจะมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นลูกดิ่งที่มีน้ำหนักเล็กน้อยบนสายเชือกหรือสายโซ่ โดยที่น้ำหนักของตุ้มถ่วงจะน้ำหนักเท่าไหร่ก็ได้ โดยปกติตุ้มถ่วงจะมีขนาดเล็ก ทำมาจากหลากหลายวัสดุ เช่น หินสี หรืออัญมณีต่าง ๆ ขนาดของตุ้มถ่วงประมาณครึ่งนิ้วหรือ 1 นิ้ว โซ่หรือสายยาวประมาณ 8 นิ้ว ซึ่งจะมีขนาดพอดีในกระเป๋าใบเล็ก ๆ

เพนดูลัมทำงานอย่างไร

ลูกดิ่งเพนดูลัมจะตอบสนองต่อจิตใต้สำนึกของเรา เมื่อเราตั้งคำถามอย่างแน่วแน่ภายในจิตใจ และ ถือเพนดูลัมอย่างถูกต้อง ลูกดิ่งจะตอบสนองต่อเส้นประสาทในมือของเรา ปฏิกิริยาที่เกิดจากความรู้สึกที่ส่งผ่านเส้นประสาทจะถูกส่งไปยังนิ้วมือจากจิตใต้สำนึก ไปยังห่วงโซ่ที่ถ่วงน้ำหนักของลูกตุ้ม และได้คำตอบออกมา ผ่านการเคลื่อนไหวของลูกตุ้ม แต่เพนดูลัมจะบอกคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จิตใต้สำนึกของเรารับรู้

ในทางวิทยาศาสตร์ ลูกดิ่งเพนดูลัมไม่ได้เคลื่อนไหวด้วยวิญญาณหรือด้วยเวทมนตร์ เพนดูลัมถูกกระตุ้นโดยความคิดของเรา เพียงแค่มันเป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตใต้สำนึกทำให้เราไม่รู้ตัว เช่น เราคิดว่าทำกระเป๋าตังค์หาย บางทีเราอาจรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเราเอาไปวางไว้ไหนแต่เรานึกไม่ออก อย่างไรก็ตามจิตสำนึกของเราก่อนที่จะนึกออกว่ากระเป๋าตังค์หายไปไหนอาจจะกำลังทำอย่างอื่นอยู่ เราจึงตอบตัวเองไม่ได้อย่างชัดเจนว่า เราวางหรือลืมมันไว้ที่ไหนกันแน่ ในขณะที่จิตใต้สำนึกของเราที่เป็นสมาธิและไม่ได้ทำอย่างอื่น รู้ว่ากระเป๋าหายไปตอนไหน ดังนั้น ตอนที่เราใช้เพนดูลัม เราจึงต้องถามกับจิตใต้สำนึกของเรา เพื่อให้เรารู้ว่าเราลืมกระเป่าตังค์ไว้ไหน

ลักษณะการเคลื่อนที่ของเพนดูลัม

เพนดูลัมตอบคำถามหรือทำนายด้วยการเคลื่อนไหว ซึ่งลูกดิ่งเพนดูลัมจะเคลื่อนไหวได้ 4 ทิศทางเท่านั้น คือ

  1. เคลื่อนไปข้างหน้า-ไปหลัง
  2. เคลื่อนไปทางซ้าย-ทางขวา
  3. แกว่งเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา
  4. แกว่งเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา

การเคลื่อนที่แบบต่าง ๆ ของเพนดูลัม ทำให้เราต้อง "ตั้งค่า" ความคิดของเราเพื่อใช้งาน เรามาดูกันว่า เราต้องทำอย่างไรบ้าง

การเตรียมตัวและการฝึกฝนเพื่อใช้งานเพนดูลัม

ในการใช้งานเพนดูลัมเราจะต้องรู้จักการเคลื่อนไหวของเพนดูลัมทั้ง 4 แบบ ที่ได้อธิบายไปแล้ว ซึ่งการเคลื่อนไหวในแต่ละแบบหมายถึง การตอบคำถาม 4 คำตอบ คือ ใช่, ไม่ใช่, ไม่รู้ และ ไม่อยากตอบในตอนนี้ หลังจากนั้นเราจะเริ่มต้นหาคำตอบที่เราต้องการจากเพนดูลั่มด้วยวิธีการดังนี้

  1. ให้นั่งบนเก้าอี้ที่มีโต๊ะสำหรับวางแขนได้ อาจเป็นโต๊ะทำงาน อ่านหนังสือ หรือโต๊ะกินข้าว ในสถานที่ที่เงียบสงบ ถ้าจะให้ดีที่สุดคืออยู่คนเดียว วางข้อศอกข้างหนึ่งที่ถนัดไว้บนโต๊ะ แล้วปล่อยให้ลูกตุ้มห้อยจากมือ จะประคองข้อศอกด้วยมืออีกข้างก็ได้ จับสายห้อยระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของเราเบา ๆ แค่พอที่จะป้องกันไม่ให้ลูกดิ่งหล่น ลูกดิ่งควรเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระและห่างจากระดับของโต๊ะประมาณหนึ่งถึงสองนิ้ว จากนั้นผ่อนคลายอารมณ์ของเราให้สบาย ๆ
  2. ปล่อยให้ลูกดิ่งแกว่งตามธรรมชาติจนกว่าจะอยู่อย่างนิ่ง ๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นการแสดงถึง การรอคำสั่งจากจิตรู้สำนึกของเรา เมื่อลูกดิ่งหยุดและไม่เคลื่อนไหว ให้คิดถึงคำว่า "ใช่" ในใจ จากนั้นให้เราถามตัวเอง ด้วยคำถามที่มีคำตอบคือ "ใช่" เช่น เราเป็นผู้หญิงใช่ไหม? เราอายุเท่านี้ใช่ไหม? เมื่อเราคิด และความคิดของเราได้ถูกส่งผ่านไปยังเพนดูลัม ตอนนี้ลูกดิ่งก็จะเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจากนั้นพูดคำตอบออกมาดัง ๆ ถ้าเพนดูลัมตอบออกมาได้ตรง ได้รับผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันในคำถามอื่น ๆ ด้วย ก็ให้เราดูและจดจำการเคลื่อนไหวของลูกตุ้มไว้ 
  3. ขั้นต่อมา เราต้องรู้ว่า ลูกตุ้มจะตอบสนองอย่างไรเมื่อเราคิดว่า "ไม่" ทำตามวิธีการเดียวกันจากตอนแรก แต่คราวนี้ให้คิดคำว่า "ไม่" ถามคำถามที่มีคำว่า "ไม่" เป็นคำตอบ ให้รออย่างใจเย็น แล้วเพนดูลัมจะเคลื่อนไหวในรูปแบบที่สอดคล้องกับคำตอบของเรา ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนที่ของเพนดูลัมจะแตกต่างจากตอนที่เราใช้คำว่า "ใช่"
  4. ขั้นตอนการฝึกฝนในการใช้เพนดูลัมอาจใช้เวลาหนึ่งวันหรือมากกว่านั้น พยายามทดลอง 4-5 คำถาม และต้องตั้งจิตให้นิ่งที่สุด ไม่ต้องกังวล เมื่อทำเสร็จแล้ว การแกว่งของเพนดูลั่มแทนคำตอบ ก็จะเป็นในรูปแบบเดียวกันตลอดไป
  5. เมื่อฝึกฝนจนได้รูปแบบของคำตอบแล้ว เราต้องเรียนรู้อีกสองคำตอบที่ลูกดิ่งจะตอบเรา เพราะบางครั้งเพนดูลัมก็จะไม่รู้คำตอบ ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ถึงรูปแบบว่า "เพนดูลัมจะตอบอย่างไรถ้าไม่รู้คำตอบ" และบางครั้งเพนดูลัมก็ "ไม่ต้องการตอบคำถาม" วิธีการฝึกเพื่อหาคำตอบเพิ่มเติม ก็แค่ให้เราถือเพนดูลัมในลักษณะเดิม และเพ่งความคิดไปยังคำถามที่เรา "ไม่รู้คำตอบ" หรือ "ลังเลใจ" แล้วสังเกตุถึงลักษณะการเคลื่อนที่ของเพนดูลัมที่ได้แสดงออกมา ทดลองซ้ำอีก 4-5 คำถาม เพื่อให้เราแน่ใจในรูปแบบการเคลื่อนที่ของลูกดิ่งที่เกิดขึ้น และรูปแบบของการ "ไม่ต้องการตอบ" ก็จะเป็นรูปแบบสุดท้ายที่เหลืออยู่ของฝึกการเคลื่อนที่ของเพนดูลัมนั่นเอง

ในการฝึกฝนนี้อาจจะทำให้รู้สึกท้อ และอาจจะล้มเลิกกันฝึกฝนไปก็ได้ อาจจะพึ่งตัวช่วยโดยการใช้แผ่นคำตอบสำเร็จรูป ที่เขียนว่า ใช่, ไม่ใช่, ไม่รู้ และไม่ตอบมาเป็นตัวช่วยก็ได้ ที่สำคัญคือห้ามเร่งเพนดูลัมให้ตอบเด็ดขาด ต้องใจเย็น ๆ และเปิดใจให้กว้าง ถ้าทำไม่ได้ให้ฝึกฝนใหม่เรื่อย ๆ หรือพักไปก่อนให้อยู่ในสภาพที่พร้อม แล้วฝึกใหม่

เพนดูลัมสามารถตอบคำถามอะไรได้บ้าง

ส่วนใหญ่แล้ว การใช้เพนดูลัม จะเป็นการถามในสิ่งที่เราพบและเคยผ่านมาแล้ว เป็นคำถามปลายปิด มีแค่ใช่และไม่ใช่เท่านั้น สามารถใช้เพนดูลัมหาของหายได้ โดยการถามถึงเบาะแสเกี่ยวกับของที่หายไป หรือบางคนอาจจะถือเพนดูลัม ให้เพนดูลัมแกว่งไปในทิศทางที่ทำของหายได้ การใช้งานเพนดูลัม มีดังนี้

  1. การค้นหาสิ่งของที่หายไป เช่น กระเป๋าเงิน, กุญแจ, แมว
  2. การค้นหาความรู้สึกของเรา เป็นการใช้ที่สำคัญและควรเข้าใจถึงคำถามให้มากด้วย เช่น เราต้องการมีแฟนหรือไม่? เราต้องการอยู่คนเดียวหรือไม่? เป็นต้น
  3. ค้นหาสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ เช่น เราต้องการเปลี่ยนงานหรือไม่? เราควรจะเลือกทำงานนี้ใช่ไหม? อยากย้ายไปต่างประเทศใช่ไหม?
  4. การเลือกหรือตัดสินใจ เช่น ต้องเรียนในสาขานี้หรือไม่?

คำถามที่ไม่ควรถามเพนดูลัม และข้อควรระวังในการใช้เพนดูลัม

  1. คำถามที่ไม่ชัดเจน คำถามที่เกี่ยวกับเรื่องปริมาณ เช่น มาก-น้อย หรือคำถามที่ตอบได้หลายมุมมอง เราสวยไหม? เราฉลาดไหม?
  2. ไม่ควรถามคำถามที่เกี่ยวกับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา หรือคำถามที่เป็นเรื่องไกลตัว
  3. ไม่ควรใช้เพนดูลัมในขณะที่ร่างกายอ่อนเพลีย เพราะผลที่ได้อาจจะไม่ตรง
  4. ไม่ควรถามคำถามที่เกี่ยวกับกฏแห่งกรรม หรือถามเกี่ยวกับความตาย จะตายเมื่อไหร่ ตายเพราะอะไร

บางคนอาจจะมีแผ่นคำตอบของเพนดูลัม เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยในการทำนาย เช่น การทำนายลัคนาราศี ตัวเลข ชื่อย่อ วันเกิด เดือนเกิด เพื่ออ่านถึงลักษณะของคนได้อีกด้วย

เพนดูลัมแบบไหนที่เหมาะกับเรา

สำหรับการเลือกเพนดูลัมให้เหมาะกับตัวเอง ให้เลือกตามความรู้สึกของเราได้เลย เพนดูลัมที่ขายตามท้องตลาดมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งแบบที่เป็นคริสตัล หิน เงิน ทองแดง โลหะ หรือแม้แต่แบบที่เป็นไม้ก็มี แต่ที่นิยมมากที่สุดคือแบบที่เป็นคริสตัล เคลียร์ควอตซ์ เพราะน้ำหนักเบา หาซื้อได้ง่าย ที่สำคัญราคาไม่แพงอีกด้วย ส่วนใครจะเลือกเป็นหินสีก็ได้ แต่ละสีก็จะมีพลังงานที่แตกต่างกันไป และมีหิน 7 จักระ ที่รวมเอาพลังงานทั้ง 7 จักระไว้ด้วยกัน บางครั้งก็มีเพนดูลัมที่สามารถเปลี่ยนสีของหินได้ สีหินทั้ง 7 สี ก็จะช่วยเสริมเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

  1. สีม่วง ส่วนใหญ่จะใช้หินอะเมทิสต์ ช่วยในการทำสมาธิ ทำให้มีสติ
  2. สีดำ อย่างหินออบซิเดียน โอนิกซ์ เป็นหินที่ช่วยบอกความจริง ช่วยปกป้อง ขจัดความกลัว
  3. สีชมพู เช่น โรสควอตซ์ เป็นหินที่ช่วยเสริมด้านความรักและการให้อภัย
  4. สีเขียว กรีนอเวนเจอรีน เป็นหินที่เสริมเรื่องโชค และความอุดมสมบูรณ์
  5. สีเหลือง หินแคลไซต์ ช่วยให้รู้สึกสงบ และเด่นเรื่องการสื่อสาร
  6. สีส้ม หินแจสเปอร์ ช่วยในการคิดคำนวน กระตุ้นให้เกิดจินตนาการ ปลดปล่อยความเครียด
  7. สีแดง หินคาร์เนเลี่ยน ช่วยให้เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ เสริมความเชื่อมั่นและทำให้กล้าเปิดเผยมากขึ้น

สำหรับเพื่อนๆที่ชอบเรื่องการทำนายหรืออยากรู้จิตใต้สำนึกของตัวเอง เพนดูลั่มก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีความเป็นวิทยาศาสตร์ในการอธิบายได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ของแบบนี้อยู่ที่วิจารณญาณและความเชื่อของแต่ละคนนะคะ สามารถใช้เพนดูลั่มเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจได้ แต่ไม่ควรงมงายจนเกินไป แล้วเราจะสนุกไปกับการใช้เพนดูลั่มในการทำนายไปพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิต

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ