เพื่อน ๆ หลายคนที่มีปัญหาเรื่องความรัก เรื่องเพื่อน หรือเรื่องครอบครัวแล้วมักจะสบายใจมากกว่า ถ้าได้คุยกับคนแปลกหน้า อย่างเช่น เพื่อนที่ไม่ค่อยสนิท ในเว็บบอร์ด แม่ค้า ช่างตัดผม ช่างทำเล็บ คนขับแท็กซี่ หรือแม้กระทั่งหมอดู เพื่อปรึกษาปัญหาชีวิต หรือระบายอารมณ์ที่คั่งค้างในใจ จนบางครั้งคนใกล้ตัวอาจจะน้อยใจ ว่าทำไมถึงไม่เปิดใจพูดกันตรง ๆ แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมคะว่าในทางจิตวิทยาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย
“The Stranger On The Train” (Or Bus, Or Plane)

ปรากฏการณ์ที่เราสามารถพูดคุยและเปิดเผยกับคนแปลกหน้าอย่างสนิทใจ เรียกว่า “The Stranger On The Train” (Or Bus, Or Plane) “คนแปลกหน้าบนรถไฟ (รถเมล์ และ เครื่องบิน)” เมื่อเราอยู่ในภาวะจำยอม เราจะกล้าเปิดใจคุยกับคนแปลกหน้ามากขึ้น และสาเหตุที่ทำให้คนเรากล้าที่จะพูดกับคนแปลกหน้า ก็คือ
- คนแปลกหน้า เป็นคนที่เจอกันแค่ครั้งเดียว ไม่มีความสัมพันธ์ หรือส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาของเรา ถ้าหากว่าเราปรึกษาปัญหาชีวิตกับคนที่สนิท บางครั้งจะทำให้คนที่เราสนิทเป็นกังวลเกี่ยวกับเรา และรู้สึกอึดอัด รู้สึกเป็นภาระได้
- การที่เราคุยกับคนแปลกหน้า ทำให้เรารู้สึกอายน้อยลง เรื่องบางเรื่อง อาจจะทำให้เราโดนล้อและรู้สึกอาย ถ้าปรึกษาคนที่สนิท แต่ถ้าปรึกษาคนแปลกหน้า จะทำให้เราไม่ต้องกังวลว่าจะโดนล้อไหม ถ้าเขาไม่อินกับเรื่องของเรา หรือมีปฏิกริยาที่ไม่ดี ก็ทำให้เราไม่รู้สึกแย่ เพราะไม่ต้องลงทุนในความสัมพันธ์ หรือรู้สึกแย่ถ้าโดนคนแปลกหน้าตัดสินเกี่ยวกับเรา
- ไม่โดนขายความลับ หรือโดนนินทา เพราะว่าคนแปลกหน้านั้นไม่ได้อยู่ร่วมในสังคมเดียวกับเรา เลยแทบจะไม่มีโอกาสที่จะโดนเอาเรื่องของเราไปนินทาต่อ หรือต้องทนกับสายตาแปลก ๆ ของคนรอบข้าง
- ง่ายกว่าที่จะตัดความสัมพันธ์ เพราะเป็นแค่คนแปลกหน้า เราจึงไม่จำเป็นต้องแคร์ ถ้าหากเขาไม่ชอบเราหรือรู้สึกแย่กับความลับที่เราเพิ่งเล่าไป หรือได้คำปรึกษาที่ไม่ตรงใจเรา
- คนแปลกหน้าไม่สร้างปัญหาแก่เรา บางครั้งการที่เราเปิดใจเล่าความลับกับพ่อแม่หรือคนสนิท อาจจะทำให้โดนตัดสิน มองว่าความลับของเราเป็นปัญหา และอาจจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดซ้ำบ่อย ๆ เหมือนเป็นการตอกย้ำ
- คนแปลกหน้าอาจจะมีมุมมองดี ๆ ที่เราไม่เคยรู้ เพราะอาจจะเป็นคนที่มาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากเรา อาจจะได้มุมมองใหม่ ๆ จากการพูดคุยหรือถกเถียงเกี่ยวกับปัญหา
- คนแปลกหน้าไม่มีอคติต่อเรื่องที่เราเล่า สามารถให้ความคิดเห็นที่ตรงประเด็นมากกว่า หรือถ้าหากเขาตัดสินใจจากประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเอง แล้วไม่ตรงใจเรา เราก็จะไม่ค่อยรู้สึกแย่เท่ากับปรึกษาคนใกล้ตัว
เราอาจจะโดนสอนมาว่าไม่ควรคุยกับคนแปลกหน้า ในตอนเด็ก ๆ แต่ Nicholas Epley & Juliana Schroeder จากมหาวิทยาลัยชิคาโก้และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้วิจัยและทำการทดลอง พบว่า การพูดคุยกับคนแปลกหน้าทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม การคุยกับคนแปลกหน้าก็เป็นการเข้าสังคมที่ถือว่าเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์เช่นกัน ในสังคมสมัยใหม่ อาจจะโดนจำกัดด้วยกฎต่าง ๆ ที่ห้ามพูดคุยบนรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ทำให้มนุษย์เลี่ยงการติดต่อกับคนรอบข้างด้วยการ ใส่หูฟัง แกล้งหลับ หรือแม้แต่แกล้งป่วย แต่การทำแบบนั้น ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าและโรคอ้วนมากขึ้น บางคนอาจจะไม่กล้าคุยกับคนแปลกหน้า เพราะกลัวเสียหน้า หรือกลัวการโดนปฏิเสธ แต่มีการวิจัยเล็ก ๆ เกี่ยวกับการคุยกับคนแปลกหน้าบนรถไฟและรถเมล์ ในการวิจัยนี้ได้แบ่งผู้ทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งให้ทักทายและให้ลองคุยกับคนแปลกหน้า แต่อีกกลุ่มให้ยืนเงียบ ๆ ไม่พูดกับใคร ผลปรากฏว่ากลุ่มคนที่ได้ลองคุยกับคนแปลกหน้าส่งผลดีต่อสุขภาพจิตมากกว่า แม้กระทั่งคนที่เป็น Introvert ก็รู้สึกมีความสุขมากขึ้นกับการได้คุยกับคนแปลกหน้าอีกด้วย
Reference :
Nicholas Epley & Juliana Schroeder. 2014. "Mistakenly Seeking Solitude" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.researchgate.net/publication/263899201_Mistakenly_Seeking_Solitude สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564
EMMELYNC. 2017. "THE STRANGER ON THE TRAIN PHENOMENON" [Online] เข้าถึงได้จาก : http://emmelync.com/research/virtual-strangers/ สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564
Nicholas Epley & Juliana Schroeder. 2019. "The surprising benefits of talking to strangers" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.bbc.com/news/world-48459940 สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564
เข้าใจว่าหลายคนยังกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะกลัวโชคร้าย และเจอพวกมิจฉาชีพ ถ้าอยากเริ่มต้นคุยกับคนแปลกหน้าให้ปลอดภัยก็เริ่มจากการทักทายสั้น ๆ ก่อน และไม่ต้องแชร์ข้อมูลส่วนตัวที่เฉพาะเจาะจงเกินไป ก็จะสามารถวางใจได้ในระดับหนึ่งค่ะ ว่าการคุยกับคนแปลกหน้าในครั้งนี้จะช่วยให้เรามีความสุข หรือได้มุมมองใหม่ ๆ มากขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ