ถ้าอวัยวะที่สำคัญของคนเรามี 32 ประการ ถึงจะเรียกว่าสมบูรณ์ “คอนแทคเลนส์” ก็คงเป็นเหมือนอวัยวะ 33 ที่มาเติมเต็มความเพอร์เฟ็กต์ให้กับคนที่มีปัญหาด้านสายตาอย่างเรา ใส่ง่าย สบาย และสะดวกกว่าการใส่แว่น ทำให้รู้สึกมั่นใจ บุคลิกโดยรวมก็ดูดีขึ้น แต่รู้อะไรไหมคะ จริง ๆ แล้วเมื่อปี ค.ศ.1948 การใส่คอนแทคเลนส์นั้นไม่ง่ายเหมือนปัจจุบันที่แค่ล้าง ๆ จับ ๆ แล้วจิ้มใส่ตา แก้ปัญหาสายตาให้เป็นปกติเพียงไม่กี่วิ ถ้าเราย้อนไปราว ๆ 70 กว่าปี การใส่คอนแทคเลนส์เป็นเรื่องยากมาก ๆ ต้องให้หมอใส่เท่านั้น ความยากมันก็จะประมาณนี้...
วัดความโค้งของดวงตา
คอนแทคเลนส์ปี 1948 ก็จะหนาเบอร์นี้
Source : 1
การใส่คอนแทคเลนส์สมัยก่อน จักษุจะทำหน้าที่ดูแลและควบคุมตั้งแต่ การตรวจ การผลิต และการใส่ ขั้นตอนคือใช้แม่พิมพ์หล่อพลาสติกมาวัดความโค้งของดวงตา ผลิตออกมาก็จะได้คอนแทคเลนส์ใส ๆ หนา ๆ วัสดุทำจากพลาสติกผสมกับแก้ว (Polymethyl Methacrylate) จากนั้นหมอก็จะเป็นคนใส่ให้เรา แล้วขยับให้เข้าที่ค่ะ
แต่ด้วยความที่ Polymethyl Methacrylate เป็นเลนส์ชนิดแข็ง ทำให้ออกซิเจนไม่สามารถผ่านได้ คอนแทคเลนส์เลยถูกพัฒนาไปใช้วัสดุแบบซิลิโคน (Silicone Hydrogels) ที่ออกซิเจนสามารถผ่านได้แทน ซึ่งก็ถูกใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 จนถึงปัจจุบันเลยค่ะ
รู้ประวัติคร่าว ๆ ของคอนแทคเลนส์ไปแล้ว สำหรับสาว ๆ ที่เพิ่งหัดใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะคอนแทคเลนส์แบบที่ใช้กันปัจจุบัน มีความนิ่ม ใส่เองง่าย ๆ และสบายตากว่าตั้งเยอะ แต่ต้องใช้ความใส่ใจในการเลือกให้เหมาะกับตัวเอง ซึ่งใครที่ยังไม่รู้ว่าต้องเลือกยังไงเราก็จะมาแนะนำให้รู้กันค่ะ ก่อนอื่นเลยสาว ๆ จะต้องรู้ก่อนว่าคอนแทคเลนส์จริง ๆ แล้วมี 2 ชนิดนะจ๊ะ
คอนแทคเลนส์ ชนิดนิ่ม VS ชนิดแข็ง
คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง
คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ทำมาจากพลาสติกแข็งใส ใส่แรก ๆ จะมีรูปร่างคงที่ สาว ๆ ที่ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ค่อยเป็น คอนแทคเลนส์แบบแข็งจะช่วยทำให้ใส่ง่ายขึ้น เพราะไม่อ่อนยวบยาบไปมา แต่ด้วยความหนาของวัสดุก็มีข้อเสียตรงที่ ทำให้ดวงตารับออกซิเจนได้น้อย จึงไม่เหมาะใส่นาน ๆ เพราะตาจะแห้งมาก ๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาก็พัฒนามาเป็นชนิดกึ่งแข็งกึ่งนิ่มแล้ว แถมมีราคาไม่ค่อยแพง พร้อมกับอายุการใช้งานที่นานเมื่อเทียบกับราคาค่ะ
เหมาะกับ : คนที่มีปัญหาสายตาเยอะ ๆ เช่น สายตาเอียง สายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ
คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม
คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม จะต่างจากชนิดแข็ง ตรงที่ทำจากพลาสติกอีกแบบหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้สูง ทำให้เลนส์นิ่มและยืดหยุ่นมาก ๆ แถมใส่สบายถูกใจหลายคน ซึ่งมือใหม่หัดใส่คอนแทคเลนส์ก็อาจจะท้อกันหน่อย เพราะน้องบางมากจริง ๆ ทำให้ใส่ค่อนข้างยาก แต่ด้วยความบางก็ทำให้ปรับตัวเข้าหาได้ง่าย และใส่ได้นานกว่าชนิดแข็ง เพราะออกซิเจนผ่านไปยังดวงตาได้ง่ายกว่า บางคนสามารถใส่ได้ทั้งวันเลยก็มีค่ะ (แต่ห้ามใส่นานนะ)
เหมาะกับ : คนที่มีปัญหาสายตาไม่ซับซ้อนมาก มีความจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ในการทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ
วิธีอ่านค่าข้างกล่องคอนแทคเลนส์
เวลาเราซื้อคอนแทคเลนส์มา ไม่ว่าแพ็คเกจจิงจะมาแบบกล่อง หรือแบบขวดเล็ก ๆ ก็จะมีตัวเลขบอกรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวคอนแทคเลนส์ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ก่อนใส่เราควรดูทุกครั้ง เพื่อเช็กความถูกต้องของค่าสายตา ขนาดของเลนส์ต่าง ๆ ก่อนใส่ค่ะ
ทำความรู้จักตัวย่อข้างกล่องคอนแทคเลนส์
- D ย่อมาจาก Diopters : ตรงนี้เป็นค่าสายตาค่ะ ถ้าสายตาสั้นจะมีเครื่องหมาย ลบ (-) กำกับไว้ ในขณะที่สายตายาวจะเป็นเครื่องหมาย บวก (+) กรณีคนสายตาไม่ถึง 400 สามารถใช้ค่าเดียวกันกับแว่นตาได้เลย แต่ถ้าเกินกว่า 400 ควรปรึกษาจักษุแพทย์ให้ช่วยคำนวณค่าชดเชยระยะ (Compensate Power) กันก่อนน้า
- BC ย่อมาจาก Base Curve : เป็นค่าความโค้งของเลนส์ ปกติจะมีตั้งแต่ 8.0-10.0 ควรเลือกความโค้งที่เหมาะกับดวงตา เพื่อไม่ให้บีบรัด หรือเลื่อนไป-มาเพราะหลวมเกินไปค่ะ
- CYL ย่อมาจาก Cylinder : อีกจุดนึงที่ห้ามพลาดคือ ค่าความเอียงค่ะ จะมีคอนแทคเลนส์ที่แก้ปัญหาสายตาเอียงอยู่ด้วย ซึ่งวิธีอ่านก็เหมือนค่าสายตาเลย ถ้า CYL -1.00 ก็หมายถึงสายตาเอียงลบ 100 นั่นเอง
- DIA ย่อมาจาก DIA Diameters : คือเส้นผ่านศูนย์กลางของคอนแทคเลนส์ ซึ่งจะบอกค่าความใหญ่ของคอนแทคเลนส์ เมื่อเทียบกับตาดำของเราค่ะ มี 4 ขนาด ขนาดเท่าตาดำปกติคือ 14.0 และ 14.2 ส่วน 14.5 จะใหญ่กว่าตาดำเล็กน้อย ในขณะที่ 15.0 จะใหญ่กว่าตาดำปกติ
- EFF ย่อมาจาก Effect : สำหรับสาว ๆ ที่ใส่คอนแทคเลนส์เพื่อความสวยงาม ก็มักจะมาให้ความสำคัญกับตรงนี้ เป็นค่าเอฟเฟกต์ของคอนแทคเลนส์ ที่บอกความโตของลายบนคอนแทคเลนส์ว่าใส่ออกมาจะเท่าตาดำจริงของเรา หรือใหญ่กว่าตาจริงก็ดูได้จากค่า Eff. ของลายนั้น ๆ เลยจ้า โดยขนาด 14 เท่าตาดำปกติ 16 โตกว่าตาดำ และ 18 คือบิ๊กอายค่า
- ค่าอมน้ำ : แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการอุ้มน้ำของคอนแทคเลนส์ ซึ่งมีผลต่อการให้ออกซิเจนไหลผ่าน ถ้ายิ่งมากก็จะลดโอกาสปัญหาตาแห้ง หรือระคายเคืองเวลาใส่ไปนาน ๆ โดยปกติแล้วค่าอมน้ำจะเป็นไปตามอายุการใช้งานของคอนแทคเลนส์ ทั้งนี้ความสบายตาก็ขึ้นอยู่กับวัสดุ หรือขนาดของคอนแทคเลนส์ด้วยนะจ๊ะ
Tips : สำหรับคนที่เพิ่งหัดใส่คอนแทคเลนส์ครั้งแรก ควรตรวจวัดสายตา และค่าต่าง ๆ ของดวงตากับจักษุแพทย์ ก่อนซื้อคอนแทคเลนส์มาใส่ด้วยนะจ๊ะ
วิธีเลือกคอนแทคเลนส์ให้เหมาะสม
เพราะเป็นวัตถุที่อยู่ติดกับดวงตา คอนแทคเลนส์จึงเป็นไอเท็ม ที่ทั้งให้ประโยชน์และก็ความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กัน เพราะงั้นการเลือกคอนแทคเลนส์ให้เหมาะสมกับตัวเอง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพตาในระยะยาวได้ค่ะ โดยวิธีเลือกคอนแทคเลนส์คร่าว ๆ ก็ตามนี้เลยค่า
- เลือกค่าความชัดให้ตรงกับสายตา : จุดประสงค์หลักของการใส่คอนแทคเลนส์ คือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสายตาค่ะ ควรเลือกค่าความชัดให้เหมาะสมกับดวงตาที่สุด โดยเฉพาะมือใหม่ อย่างแรกเลยควรตรวจวัดสายตากับจักษุแพทย์โดยตรงจะดีกว่านะ
- ความสวยงามของลวดลาย : ลวดลายแปลก ๆ สวย ๆ ไม่ได้หมายความว่าอยู่บนดวงตาของเราแล้วจะสวยนะคะ ความสวยงามควรเลือกจากความธรรมชาติ อาจจะมีสีหรือลวดลายเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความเปล่งประกายให้กับดวงตาค่ะ
- แบรนด์คอนแทคเลนส์ : หลีกเลี่ยงการซื้อตามตลาดนัด ที่ตรวจสอบข้อมูลของแบรนด์ไม่ได้ ทางที่ดีซื้อตามร้านแว่น สั่งจากเว็บ Official หรือแหล่งซื้อที่น่าเชื่อถือเถอะจ้า จะได้ไม่เสี่ยงต่อดวงตาเนอะ
- อายุการใช้งานของคอนแทคเลนส์ : ตรงนี้ก่อนซื้อสังเกตให้ดีนะคะ ให้ใช้ตามอายุการใช้การที่ระบุไว้จริงเท่านั้น ห้ามฝืนใช้เกินอายุ เพราะพอหมดอายุวัสดุก็จะเสื่อมสภาพ อันตรายต่อดวงตาสุด ๆ
- เลือกให้เหมาะกับสรีระของดวงตา : เพื่อป้องกันปัญหาตาล้า ตาขาดออกซิเจน โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับดวงตา การเลือกคอนแทคเลนส์ให้ตรงกับสรีระรูปตาของเรา เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจให้มาก ๆ ทั้งความโค้ง ขนาดของคอนแทคเลนส์สำคัญมาก ๆ เลยน้า
วิธีใส่และวิธีถอดคอนแทคเลนส์
มาถึงขั้นตอนการใส่คอนแทคเลนส์ เชื่อว่าหลายคนเคยถอดใจจากขั้นตอนนี้แน่นอน เพราะไม่รู้จะยัดเข้าไปยังไง ไม่รู้ว่าใส่ถูกมั้ย ก่อนอื่นก็ต้องขอบอกเลยว่า ถ้าใส่ถูกจริง จะไม่รู้สึกถึงคอนแทคเลนส์เลย แถมไม่มีอาการระคายเคืองด้วย โดยวิธีใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่ยากอย่างที่คิด เราสรุปวิธีแบบง่าย ๆ มาให้ดูกันค่า
วิธีใส่คอนแทคเลนส์
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้ว ก่อนใส่คอนแทคเลนส์ห้ามทาครีมที่มือ
- ล้างคอนแทคเลนส์ด้วยน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์โดยเฉพาะ ห้ามใช้น้ำเกลือล้างเพราะจะทำให้ระคายเคืองตาค่ะ
- วางคอนแทคเลนส์บนปลายนิ้ว หันให้ถูกด้าน ถ้าถูกด้านคอนแทคเลนส์จะตั้งเป็นรูปถ้วยทรงสวย ถ้าผิด ขอบคอนแทคเลนส์จะบานออก
- ใช้มืออีกข้างเปิดหนังตา ทั้งข้างบนและข้างล่างให้ตาเปิดออก ตอนใส่ก้มหน้าเล็กน้อยแล้วส่องกระจก จะใส่ง่ายขึ้นค่ะ เพราะตาเราจะเปิดได้กว้าง
- ค่อย ๆ วางคอนแทคเลนส์ลงบนตา บางคนถ้ากลัวการวางลงบนตาดำตรง ๆ อาจวางไว้ตรงขอบตาล่างก่อน แล้วค่อย ๆ เลื่อนให้เข้าที่
วิธีถอดคอนแทคเลนส์
- ล้างมือให้สะอาดก่อนถอด โดยเฉพาะตามนิ้วมือ เช็กดูว่าเล็บของเรามีสิ่งสกปรกอยู่มั้ย ทำความสะอาดให้เกลี้ยงเลยค่ะ
- เทน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์เก่าในตลับออก แล้วเติมน้ำยาเข้าไปใหม่
- ใช้มือเปิดหนังตาบนและล่างให้เปิดออก ก้มหน้าเล็กน้อย กรอกตามองบนเบา ๆ
- ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งจีบเข้าหากัน แล้วหยิบคอนแทคเลนส์ออก
- นำคอนแทคเลนส์แช่ลงในตลับ ในน้ำยาที่สะอาด
หลังใส่คอนแทคเลนส์เป็นแล้ว หลายคนอาจจะชินและเริ่มมีอาการขี้เกียจ จนลัดขั้นตอนการดูแลความสะอาดไปบ้าง ไม่ดีเลยนะจ๊ะ ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญสุด โดยเฉพาะตลับแช่คอนแทคเลนส์ หมั่นล้างวันเว้นวัน แช่ในน้ำร้อน หรือเปลี่ยนตลับใหม่ทุกอาทิตย์ก็จะช่วยเรื่องความสะอาด การสะสมแบคทีเรียได้เยอะเลย อย่าลืมนะคะว่าข้างนอกมีทั้งฝุ่นและมลภาวะเยอะมาก ถ้าดูแลไม่ดี ระวังโรคเกี่ยวกับตาจะถามหาน้าา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
รวมฮิตคอนแทคเลนส์สายฝรั่ง เปลี่ยนลุคเป๊ะปังอินเตอร์สุดๆ
มหากาพย์ 17 คอนแทคเลนส์ที่คนดัง ชอบใส่กัน
คู่มือตัดแว่นฉบับมินิมอล เลือกให้เหมาะ สายเนิร์ดก็ชิคได้!