เช็กด่วน! 4 จุดปวดหัวยอดฮิต ปวดหัวส่วนนี้ เป็นอะไรกันแน่!
  1. เช็กด่วน! 4 จุดปวดหัวยอดฮิต ปวดหัวส่วนนี้ เป็นอะไรกันแน่!

เช็กด่วน! 4 จุดปวดหัวยอดฮิต ปวดหัวส่วนนี้ เป็นอะไรกันแน่!

เข้ามาเช็กกันหน่อยดีกว่า อาการตอนปวดหัวของสาว ๆ เป็นแบบไหนกันบ้าง ถ้ารู้สาเหตุจะได้ป้องกันได้ตรงจุด!
writerProfile
24 พ.ย. 2019 · โดย

สงสัยกันไหม เวลาปวดหัวแต่ละครั้งจะมีอาการไม่เหมือนกัน บางวันปวดทางซ้าย บางวันปวดทางขวา หรือปวดทั้งหัวเลยก็มี นั่นเป็นเพราะว่าอาการปวดหัวนั้นมีหลายแบบ วันนี้เราเลยมาไขข้อสงสัยให้แล้ว รวม 4 อาการปวดหัวยอดฮิตที่หลายคนเคยเป็น ปวดหัวแบบไหนเป็นอะไร รู้สาเหตุเร็วจะได้แก้ปัญหากันให้ตรงจุด จะได้ไม่ต้องมานั่งปวดหัว!

ปวดหัว5

ปวดหัวแบบไมเกรน (Migraine Headache)

เริ่มกันที่อาการปวดหัวยอดฮิตของสาว ๆ ออฟฟิศอย่างปวดหัวแบบไมเกรน จะมีอาการปวดหัวแค่ข้างเดียว อาจเป็นข้างซ้ายหรือขวาก็ได้ เป็นการปวดหัวแบบตุบ ๆ คล้ายกับเส้นเลือดกำลังเต้นอยู่ การปวดแบบไมเกรนมักจะตามมาด้วยอาการคลื่นไส้ก็เป็นได้ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะจะมีเรื่องของฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน เพราะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงจึงทำให้เกิดอาการปวดหัวแบบไมเกรน บางคนมีอาการปวดแบบนี้ติดต่อกันนานหลายวันอาจเข้าข่ายปวดหัวแบบเรื้อรังได้ แนะนำว่าต้องรีบไปพบแพทย์นะคะ

ปวดหัว

สาเหตุ :

  • เครียดจากการทำงาน
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง มีแสงจ้าหรือมืดผิดปกติ

วิธีป้องกัน :

  • ไม่เครียดกับงานจนเกินไป
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมเสียงดัง และมีแสงจ้ามากเกินไป
  • หากมีอาการปวดแบบเรื้อรังควรไปปรึกษาแพทย์ หาทางรักษา

ปวดหัวจากความเครียด (Tension Headache)

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าอาการแบบนี้ต้องมาจากความเครียดที่เกิดขึ้นกับตัวเรานี่แหละ ไหนจะเครียดเรื่องเรียน เครียดเรื่องงาน หรือปัญหาชีวิตต่าง ๆ อาการปวดหัวแบบนี้มักจะรู้สึกปวดหัวแบบหนัก ๆ ที่ขมับทั้งสองข้างเลย แต่จะไม่ได้ปวดแบบตุบ ๆ อาจลามไปถึงบริเวณหน้าผากหรือกลางศีรษะเลยก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหัวจากความเครียดนี้จะเกิดขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง หรือขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเครียดต่าง ๆ ที่เจอ

ปวดหัว

สาเหตุ :

  • เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล
  • ใช้สายตามากเกินไป อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นจัด

วิธีป้องกัน : 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
  • ไม่เครียดจนเกินไป
  • ทานอาหารให้ตรงเวลา
  • ไม่ใช้สายตากับสิ่งใดมากจนเกินไป ควรมีการผ่อนคลาย

ข้อแตกต่างระหว่างปวดหัวแบบไมเกรนกับปวดหัวจากความเครียด

ปวดหัวแบบไมเกรน

  • ปวดหัวแค่ข้างเดียว
  • ปวดหัว และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนด้วย
  • ปวดหัวจนนอนไม่หลับ

ปวดหัวจากความเครียด

  • ปวดทั้งศีรษะ
  • ปวดหัว แต่ไม่มีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น คลื่นไส้
  • ปวดหัว แต่พอนอนหลับได้


ปวดหัวจากไซนัสอักเสบ (
Sinus Headache)

ปวดหัวแบบไซนัสอักเสบมักจะมีอาการคล้ายกับตอนที่เราเป็นหวัดเลยล่ะ จะรู้สึกปวดแบบหน่วง ๆ ตรงบริเวณหน้าผาก ช่วงกระบอกตา ขมับ จะรู้สึกปวดหัวแบบร้อนผ่าว ซึ่งลามไปถึงตรงโหนกแก้มด้วย บางคนอาจมีอาการหายใจมีกลิ่นเหม็น รวมถึงน้ำมูกข้นสีเหลืองหรือเขียวด้วยนะ

ปวดหัว

สาเหตุ :

  • เกิดจากการอักเสบบริเวณเยื่อโพรงจมูก
  • การสัมผัสความเย็นเป็นเวลานาน
  • ไข้หวัด ภูมิแพ้

วิธีป้องกัน :

  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ และกลิ่นที่ผิดปกติ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ เช่น การเข้าออกห้องแอร์บ่อย ๆ

ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)

การปวดหัวแบบคลัสเตอร์ หรือเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาการปวดหัวแบบรุนแรงและเฉียบพลัน เป็นอาการปวดหัวแบบรุนแรงชนิดหนึ่งเลยนะ จะเกิดขึ้นแบบกะทันหัน เหมือนมีอะไรมากระแทกที่หัวของเรา โดยมักจะเกิดเป็นชุด ๆ ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นเวลาเดิม ๆ ของทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะปวดบริเวณขมับและเบ้าตา รวมถึงมีอาการตาแดง น้ำตาและน้ำมูกไหลด้วย

ปวดหัว

สาเหตุ :

  • การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างหนัก เกินสภาพร่างกายจะรับไหว
  • อุณหภูมิที่สูงขึ้น
  • ได้รับกลิ่นที่รุนแรงเกินไป เช่น กลิ่นฉุนของน้ำหอม

วิธีป้องกัน :

  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ใช้สายตาอย่างเหมาะสม
  • หากมีอาการปวดหัวจนส่งผลกระทบกับกิจวัตรประจำวันควรเข้าพบแพทย์ทันที


ไหนใครมีอาการปวดหัวแบบไหนกันบ้างคะ ตรงตามอาการที่เป็นอยู่ไหม ถ้าใช่แล้วก็อย่าลืมหาวิธีป้องกันไม่ให้มีอาการปวดหัวบ่อย ๆ กันด้วยล่ะ เพราะถึงแม้บางครั้งสาว ๆ จะไม่มีอาการปวดหัวแบบรุนแรงก็ตาม แต่ถ้าเกิดปวดบ่อย ๆ ก็อาจจะกลายเป็นโรคเรื้อรังและจะแก้ปัญหาได้ยากกว่าเดิมด้วย แนะนำวิธีป้องกันการปวดหัวหลัก ๆ ก็คือ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดจนเกิดไป ทานอาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี แค่นี้ก็ทำให้เราสุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกันแล้วค่ะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ