“เกาเหลา” หรือก๋วยเตี๋ยวไร้เส้น อาหารคู่บ้านคู่เมืองของคนไทย ถูกปาก กินง่าย สั่งง่าย แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า “เกาเหลา” แท้จริงแล้วมาจากไหน และแปลว่าอะไรกันแน่? วันนี้เราจะพามาตามรอยอาหารคลาสสิกของคนไทยอย่าง “เกาเหลา” ที่มีความเป็นมาสุดว้าว ใครอยากรู้ลึกรู้จริง ไปอ่านกันเลย!
หากใครอยากฟังเกร็ดความรู้อาหารชวนว้าว แถมยังได้ร้านดีร้านเด็ดวันละร้านไว้ตามไปกินแบบไม่ต้องนึกให้เสียเวลา พลาดไม่ได้กับพอดแคสต์จากวงใน "วงในวันละร้าน" ที่จะให้คุณแบบไม่กั๊ก จะฝ่ารถติดตอนเช้า กินข้าวตอนพักเที่ยง หรือนอนเปื่อยอยู่ห้อง ก็กดฟังกันแบบเพลิน ๆ เรื่องราวความเป็นมาของอาหาร แพ็คคู่มาด้วยร้านน่าลองที่สายกินต้องอดใจไม่ไหว! ไม่อยากพลาด ต้องตามไปฟังกันเลย!
1ทำไมถึงเรียก “เกาเหลา” ?
คุณกรกิจ ดิษฐาน คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เขียนเล่าเกี่ยวกับที่มาของคำว่า “เกาเหลา” ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “เกาเหลา” อาจเป็นคำที่มาจากภาษาจีนอย่าง “เกาโหลว” (高樓) ซึ่งหมายถึงตึกระฟ้า
คงจะเริ่มงงแล้วใช่ไหมล่ะว่าชื่ออาหารมันไปเกี่ยวอะไรกับตึกระฟ้า แถมที่แปลกกว่านั้นก็คือ คำว่า “เกาเหลา” เป็นคำที่ได้อิทธิพลมาจากจีนก็จริง แต่ตามประวัติศาสตร์อาหารจีน กลับไม่มีอาหารที่เรียกว่า “เกาเหลา” อยู่เลย อ้าว! แล้วมันยังไงกันแน่?!
เราคงต้องพาผู้อ่านย้อนเรื่องราวไปถึงภัตตาคารยุคแรก ๆ ในประเทศจีนกัน ภัตตาคารมักจะสร้างเป็นตึกสูง เพื่อให้โดดเด่นจนลูกค้าเห็นได้ตั้งแต่ไกล ๆ จะได้เข้าไม่ผิดร้านนั่นเอง คนที่จะมากินที่ภัตตาคารเหล่านี้ได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ดีมีเงิน เพราะนอกจากอาหารจะปรุงด้วยวัตถุดิบอย่างดีแล้ว ยังได้ชมวิวหลักล้าน และมีพนักงานคอยบริการ
เพจคลินิกภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่าในตอนนั้น มีภัตตาคารตึกสูงอันโด่งดังแห่งหนึ่งเสิร์ฟเนื้อตุ๋นปรุงแต่งรสด้วยเครื่องเทศ และเครื่องปรุงรสโดยไม่มีเส้นก๋วยเตี๋ยว แขกไปใครมาก็เรียกกันจนติดปากว่า “ไปกินเกาโหลว” ซึ่งหมายถึง การไปกินอาหารในภัตตาคารอันลือชื่อแห่งนี้นั่นเอง
หากจะพูดถึงบุคคลสำคัญที่ทำให้เมนูเกาเหลาดังไม่หยุดฉุดไม่อยู่ในประเทศจีนล่ะก็ ต้องขอบคุณกวีเอกนามว่า “ซูตงโพ” ท่านนิยมเนื้อตุ๋นปรุงพิเศษแบบนี้มาก โดยเฉพาะที่ทำมาจากเนื้อหมู จึงมีสูตรเนื้อหมูตุ๋นที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “เนื้อตุ๋นสูตรซูตงโพ” นั่นเอง ท่านสนับสนุนอาหารท้องถิ่นมาก ๆ โดยเฉพาะการทำอาหารแบบเนื้อตุ๋น เพราะท่านเห็นว่าการมีเมนูเด็ดประจำจังหวัดจะทำให้ท้องถิ่นนั้นมีชื่อเสียงและนำรายได้มาสู่ชุมชนได้ ภัตตาคารทั่วประเทศจึงเลียนแบบการปรุงอาหารสูตรพิเศษนี้ ขายกันทั่วไปจนกลายเป็นอาหารแสนธรรมดาที่หากินได้ทั่วไปในประเทศจีน
เมื่อคนจีนอพยพเข้ามาที่เมืองไทยจำนวนมาก ก็ไม่ได้มีแต่เสื่อผืนหมอนใบเท่านั้น แต่ยังมีต้นตำรับการปรุงอาหารแบบเนื้อตุ๋นที่ไม่ใส่เส้นเข้ามาเผยแพร่ในไทยด้วย เวลาผ่านไป คนไทยก็เรียกกันจนเพี้ยนเสียงจาก “เกาโหลว” เป็น “เกาเหลา” นั่นเอง
2จริงจังจนต้องมี “เจ้ากรมเกาเหลาจีน”
คราวนี้เราจะมาลงลึกถึงประวัติศาสตร์เกาเหลาในประเทศไทยกันบ้าง ในสมัยก่อน เกาเหลาถือเป็นอาหารบรรดาศักดิ์ของเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น ไม่ต่างจากในประเทศจีนที่เป็นอาหารจานหรูของคนรวย เกาเหลาเข้าวังครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ช่วงนั้นมีการทำบุญเลี้ยงพระ รัชกาลที่ 4 ต้องการทำเกาเหลาถวายพระ แต่ด้วยความที่เป็นอาหารสุดแปลกจากประเทศจีน ไม่มีนางก้นครัวคนไหนปรุงได้ เพราะเกาเหลามีเครื่องในซึ่งคนไทยทำไม่เก่ง ขั้นตอนการปรุงก็แสนยุ่งยาก จำเป็นต้องใช้กุ๊กจีนมาทำเท่านั้น ถึงขนาดที่ต้องมีตำแหน่ง “เจ้ากรมเกาเหลาจีน” มาดูแลอย่างเป็นจริงเป็นจังเลยทีเดียว
อ่านมาถึงตรงนี้ คงจะมีคำถามในใจกันใช่ไหมล่ะคะว่าเกาเหลาเป็นอาหารชั้นสูงขนาดนี้ จะมาเปลี่ยนเป็นก๋วยเตี๋ยวไม่มีเส้นของคนทั่วไปอย่างเรา ๆ ตอนไหน? ถ้าอยากรู้คำตอบก็ต้องย้อนไปในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
3จากก๋วยเตี๋ยวสร้างชาติสู่เกาเหลาสารพัดจะดัดแปลง
ในยุคที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านมีนโยบายรัฐนิยมที่สนับสนุนให้ประชาชนกินก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจอมพล ป. เห็นว่า หากประชาชนหันมาร่วมกันกินก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติ เพราะตอนนั้นเป็นยุคข้าวยากหมากแพงอย่างแท้จริง ข้าวสารขาดแคลนอย่างหนัก ซึ่งนโยบายนี้ก็ได้ผล ก๋วยเตี๋ยวเริ่มฮิตติดตลาด คนไทยนิยมกินกัน
หลังจากที่ก๋วยเตี๋ยวกลายเป็นอาหารหลักของคนไทยแล้วนั้น ก็เริ่มมีการดัดแปลงเป็นสูตรต่าง ๆ ทั้งแบบแห้ง แบบน้ำต้มยำ แบบไทย แบบจีน และที่พิเศษหน่อยคือแบบไม่ใส่เส้นหรือที่เรียกกันว่า “เกาเหลา” ซึ่งอย่างหลังมักมีราคาแพงกว่า ทั้ง ๆ ที่ไม่ใส่เส้นด้วยซ้ำ คงเพราะมันเน้นแต่เนื้อนั่นเอง
ยุคของจอมพล ป. นี้เองเป็นจุดเปลี่ยนของเกาเหลาจากอาหารชาววังเป็นอาหารธรรมดาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ เรียกได้ว่า ถ้ามีแอปพลิเคชัน Wongnai ในยุคนั้นล่ะก็ ผู้คนคงพากันติดดาว เขียนรีวิวกันล้นหลามเลยล่ะ
แต่ตอนนี้ใครหิวก็สั่งได้ง่าย ๆ ไม่ต้องรอ! เพราะมีร้านเกาเหลาเด็ด ๆ เพียบ ไม่ว่าจะเป็น ร้านวัฒนาพานิช ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ, เกาเหลาเนื้อวัวไร้เทียมทานราชวัตร, เกาเหลาเนื้อเปื่อยตลาดพลู, เล็ก เกาเหลาเลือดหมู ประดิพัทธ์, สหรส, รสดีเด็ด By นพ
วันนี้เราก็ได้เจาะลึกเรื่องราวของเกาเหลากันมาพอสมควรแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าอาหารที่เราคุ้นเคยและมองว่ามันแสนจะธรรมดา จะมีประวัติความเป็นมาที่ไม่ธรรมดาเลย เรียกได้ว่า อาหารสักอย่างหนึ่งไม่ได้เป็นแค่ของที่กินให้อิ่มท้อง แต่มันคือเรื่องราวของผู้คน วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับมนุษยชาติของเรามาหลายศตวรรษเลยทีเดียว ถ้าได้เข้ามาเรียนรู้ให้ลึกแล้วล่ะก็ จะยิ่งหลงรักการกินขึ้นไปอีก :)
ข้อมูลอ้างอิง
Gypzy World, 2561. “ในยุคก่อนเก่า "เกาเหลา" ไม่ใช่แค่ก๋วยเตี๋ยวไร้เส้น” [online]. เข้าถึงจาก http://www.gypzyworld.com/article/view/1146 สืบค้น 10 มิถุนายน 2563
OKNation, 2550. “เกาเหลา” [online]. เข้าถึงจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/jimmyjet/2007/04/10/entry-1สืบค้น 10 มิถุนายน 2563
SILPA-MAG, 2562. “เกาเหลา” ของอร่อยที่คนไทยคุ้น แต่ไม่มีในอาหารจีน-“ปาท่องโก๋” ต้นฉบับก็คนละแบบ” [online]. เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_25972 สืบค้น 10 มิถุนายน 2563
อ่านแล้วหิว! อยากซดน้ำซุปร้อน ๆ ให้คล่องคอ ต้องไปสั่งกันแล้วล่ะ!