รวมเส้นทางด่วนในประเทศไทย เช็กก่อนขับรถเที่ยวทั่วไทย คนใช้รถควรรู้!
  1. รวมเส้นทางด่วนในประเทศไทย เช็กก่อนขับรถเที่ยวทั่วไทย คนใช้รถควรรู้!

รวมเส้นทางด่วนในประเทศไทย เช็กก่อนขับรถเที่ยวทั่วไทย คนใช้รถควรรู้!

คนใช้รถควรรู้! เส้นทางด่วนในประเทศไทย หรือทางพิเศษในประเทศไทย มีกี่สาย ชื่ออะไร ขึ้นจากตรงไหน ปลายทางไปไหนได้บ้าง รวมมาให้หมดแล้ว อยากรู้มาดูกันเลยจ้า~
writerProfile
30 พ.ย. 2020 · โดย

ใคร ๆ ก็ชอบการเดินทางที่รวดเร็วกว่า อยากหนีรถติดที่ทำให้เวียนเฮดใช่มั้ยล่ะคะ “ทางด่วน” หรือ “ทางพิเศษ” ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใครหลายคนเลือกเป็นตัวช่วยย่นเวลาการเดินทาง แต่เชื่อเหลือเกินค่ะว่ายังมีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าทางด่วนในประเทศไทยมีกี่สาย? ชื่ออะไร? และแต่ละสายขึ้นจากตรงไหน ปลายทางไปไหนได้บ้าง โดยเฉพาะนักขับรถมือใหม่ วันนี้ Wongnai Travel จัดให้! ไขข้อสงสัยของใครหลายคน กับ รวมเส้นทางด่วนในประเทศไทย เช็กก่อนขับรถเที่ยวทั่วไทย คนใช้รถควรรู้! ถ้าศึกษาดี ๆ จะเห็นว่าทางด่วนในประเทศไทยมีให้เลือกหลากหลายเส้นทาง ตามปลายทางที่แต่ละคนจะเดินทางไป อะ ๆ ไม่พูดเยอะแล้วค่ะ มาดูกันดีกว่าว่าทางด่วนในประเทศไทยมีเส้นไหนบ้าง

ก่อนจะไปดูว่าทางด่วนในประเทศไทยมีกี่สาย และแต่ละสายเดินทางไปที่จุดหมายไหนได้บ้าง เรามาทำความรู้จักกับทางด่วนในประเทศไทยคร่าว ๆ กันก่อนดีกว่าค่ะ ทางด่วน คือ ทางพิเศษที่ดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทางยกระดับ เปิดให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันทางพิเศษที่เปิดใช้งานมีทั้งหมด 8 เส้นทาง ทีนี้เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่า เส้นทางด่วนในประเทศไทยทั้ง 8 สาย ประกอบด้วยเส้นไหนบ้าง

รวมเส้นทางด่วนในประเทศไทย

รวมเส้นทางด่วนในประเทศไทย

1ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)

ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) เป็นทางพิเศษสายแรกของประเทศไทย มีจำนวน 3 เส้นทาง มีระยะทางรวม 27.1 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นทางฝั่งทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก เชื่อมต่อกันที่ทางแยกต่างระดับท่าเรือ ประกอบด้วย

  • สายดินแดง–ท่าเรือ ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร เริ่มจากปลายถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน ผ่านถนนสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางยกระดับและเป็นทางราบตั้งแต่ถนนสุขุมวิทถึงถนนพระรามที่ 4 และเป็นทางยกระดับอีกครั้งในช่วงถนนพระรามที่ 4 ถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายดาวคะนอง–ท่าเรือ มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 6 ด่านคือ ด่านดินแดง, ด่านเพชรบุรี, ด่านสุขุมวิท, ด่านพระรามสี่ 1, ด่านเลียบแม่น้ำ และด่านท่าเรือ 1
  • สายบางนา–ท่าเรือ ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร เริ่มจากปลายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 บริเวณทางแยกต่างระดับบางนา แล้วมุ่งไปทางทิศตะวันตก ผ่านจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท ช่วงนี้เป็นทางราบและเป็นทางยกระดับตั้งแต่ทางแยกต่างระดับสุขุมวิท 50 ถึงทางแยกต่างระดับท่าเรือ มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 4 ด่านคือ ด่านท่าเรือ 2, ด่านอาจณรงค์, ด่านสุขุมวิท 62 และด่านบางนา
  • สายดาวคะนอง–ท่าเรือ ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร แนวสายทางเริ่มจากทางแยกต่างระดับท่าเรือ ผ่านทางแยกต่างระดับบางโคล่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม 9 ช่วงนี้เป็นทางยกระดับ ขึ้นสะพานพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 2 มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 5 ด่านคือ ด่านสาธุประดิษฐ์ 1, ด่านสาธุประดิษฐ์ 2, ด่านพระราม 3, ด่านสุขสวัสดิ์ และด่านดาวคะนอง

2ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)

ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) มีระยะทางรวม 38.4 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย

  • ส่วน A ระยะทางรวม 12.4 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ถนนรัชดาภิเษกผ่านบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท (โรงกรองน้ำสามเสน) สิ้นสุดแนวสายทางที่ถนนพระราม 9
  • ส่วน B ระยะทางรวม 9.4 กิโลเมตร มีแนวเชื่อมต่อกับส่วน A ที่บริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท แนวสายทางมุ่งไปทางทิศใต้ ผ่านถนนศรีอยุธยา เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่บริเวณต่างระดับบางโคล่
  • ส่วน C ระยะทางรวม 8 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง โดยเชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผ่านถนนประชาชื่น มุ่งไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ และเชื่อมต่อกับทางพิเศษอุดรรัถยา
  • ส่วน D ระยะทางรวม 8.6 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง เชื่อมต่อกับส่วน A โดยเริ่มจากถนนพระราม 9 ไปทางทิศตะวันออก ตัดกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ทางแยกต่างระดับมักกะสัน ตัดกับทางพิเศษฉลองรัชที่ทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสิ้นสุดที่ถนนศรีนครินทร์ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์

3ทางพิเศษฉลองรัช

ทางพิเศษฉลองรัช มีระยะทางรวม 28.2 กิโลเมตร สายรามอินทรา–วงแหวนรอบนอก และ สายรามอินทรา–อาจณรงค์ มีด่านเก็บค่าผ่านทางรวมทั้งสิ้น 14 ด่าน

  • สายรามอินทรา–วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นจากถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันออก บริเวณทิศใต้ของทางแยกต่างระดับลำลูกกา มุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยกระดับข้ามถนนสุขาภิบาล 5 และยกระดับข้ามโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนสุขาภิบาล 5–ถนนนิมิตใหม่ จนถึงถนนรามอินทราบริเวณกิโลเมตรที่ 5.5 เรียกถนนในช่วงนี้ว่า ‘ทางพิเศษสายรามอินทรา–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร’ เป็นส่วนต่อขยายของทางพิเศษฉลองรัชทางด้านเหนือ มีด่านเก็บค่าผ่านทางรวมจำนวน 4 ด่าน
  • สายรามอินทรา–อาจณรงค์ ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร เส้นทางเริ่มจากถนนรามอินทรา มุ่งไปทางทิศใต้ ข้ามถนนลาดพร้าว ถนนประชาอุทิศ ถนนพระราม 9 แล้วไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D พร้อมกับข้ามถนนรามคำแหง และถนนพัฒนาการ แล้วเลียบแนวคลองตันข้ามถนนสุขุมวิททางด้านตะวันออกของสะพานพระโขนง ไปบรรจบกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายบางนา–ท่าเรือ ที่บริเวณอาจณรงค์ (ปลายซอยสุขุมวิท 50) มีด่านเก็บค่าผ่านทางรวมจำนวน 10 ด่าน

4ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วน 4)

ทางพิเศษบูรพาวิถี” (ทางด่วน 4) ระยะทาง 55 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 เป็นทางพิเศษสายเดียวที่มีการยกเว้นค่าผ่านทางในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ได้แก่ เทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ ทางพิเศษบูรพาวิถีเป็นทางพิเศษสายแรกที่ใช้ระบบปิดหรือระบบเก็บเงินตามระยะทาง กล่าวคือ เวลารถที่จะขึ้นทางด่วนต้องรับบัตรที่ด่านทางเข้า และเวลารถที่จะลงทางด่วนต้องคืนบัตรและจ่ายเงินที่ด่านทางออก

5ทางพิเศษอุดรรัถยา

ทางพิเศษอุดรรัถยา” หรือ ทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด มีระยะทาง 32 กิโลเมตร มีเส้นทางเชื่อมต่อมาจากทางพิเศษศรีรัชส่วน C บริเวณจุดตัดกับถนนแจ้งวัฒนะ ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นทางยกระดับมุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านเมืองทองธานี จากนั้นเข้าสู่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 แล้วข้ามคลองเชียงราก ก่อนที่ลดระดับเป็นทางราบมีรั้วกั้นตลอด จากนั้นเข้าสู่อำเภอสามโคกตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3214 ซึ่งบริเวณนี้จะมีเส้นทางแยกไปทางทิศตะวันออกเพื่อต่อเชื่อมกับถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากนี้ เส้นทางจะโค้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 แล้วไปสิ้นสุดบริเวณกิโลเมตรที่ 79 ของถนนกาญจนาภิเษก

6ทางพิเศษสาย S1

ทางพิเศษสาย S1” หรือ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 มีระยะทาง 4.7 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากปลายทางพิเศษฉลองรัช ซ้อนทับไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครเดิม เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี มีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจำนวน 1 ด่านคือ ด่านบางจากซึ่งเป็นด่านของทางพิเศษเฉลิมมหานคร

7ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)

ทางพิเศษกาญจนาภิเษก” (บางพลี-สุขสวัสดิ์) มีระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับถนนกาญจนาภิเษกด้านใต้ (ช่วงถนนพระรามที่ 2 ถึงถนนสุขสวัสดิ์) ทางพิเศษเริ่มต้นจากถนนสุขสวัสดิ์ บริเวณอำเภอพระประแดงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันออกผ่านถนนสุขุมวิท ถนนศรีนครินทร์ และถนนเทพารักษ์ ไปบรรจบกับถนนเทพรัตน บริเวณอำเภอบางพลี พร้อมด้วยระบบเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมความปลอดภัยด้านการจราจร รวมจำนวน 29 ด่าน

8ทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์)

ทางยกระดับอุตราภิมุข” หรือโทลล์เวย์ มีระยะทาง 28.224 กิโลเมตร บริหารจัดการทางยกระดับเป็น 2 ส่วน คือ ทางยกระดับดินแดง–ดอนเมือง เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสัมปทาน และส่วน ทางยกระดับอนุสรณ์สถาน−รังสิต เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ทางยกระดับอุตราภิมุขมีแนวสายทางเริ่มจากบริเวณเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร แล้วสิ้นสุดเส้นทางที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

รู้กันแล้วใช่มั้ยล่ะคะว่า รวมเส้นทางด่วนในประเทศไทย เช็กก่อนขับรถเที่ยวทั่วไทย คนใช้รถควรรู้! ไม่ว่าจะเป็นทางด่วนหรือทางพิเศษในประเทศไทยมีกี่เส้น และเส้นไหน เดินทางไปที่ไหนได้บ้าง คราวนี้ก็ไปเที่ยวทั่วไทยกันได้แบบไม่ต้องกลัวหลง ก่อนที่เพื่อน ๆ จะออกเดินทางขับรถไปเที่ยวกัน ทาง Wongnai Travel ก็ขอแนะนำให้เพื่อน ๆ วางแผนการเดินทางให้ดี เช็กหรือตรวจสอบเส้นทางที่เราจะไป รับรองว่าช่วยประหยัดเวลาการเดินทาง และทำให้การเดินทางคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้เวลาขับไปเที่ยว ก็ต้องใช้สติกันให้มาก ๆ ง่วงไม่ขับนะคะ สำหรับวันนี้ทางเราขอตัวลาไปก่อน ถ้ามีทริคหรือข้อมูลท่องเที่ยวดี ๆ อีก ทางเราจะนำมาฝากแน่นอน! แค่กดไลก์ ติดดาวเพจไว้ บทความไหนก็ไม่พลาดค่า~

อ่านบทความความดี ๆ บทความที่น่าสนใจกันต่อได้ที่นี่เลย