"กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน" ภาวะหนักใจคนผอม สาเหตุเป็นเพราะอะไรนะ ?
  1. "กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน" ภาวะหนักใจคนผอม สาเหตุเป็นเพราะอะไรนะ ?

"กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน" ภาวะหนักใจคนผอม สาเหตุเป็นเพราะอะไรนะ ?

กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ปัญหาหนักใจของคนผอมที่อยากเพิ่มน้ำหนัก มาดูกันดีกว่าว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และมีภาวะเสี่ยงอะไรบ้าง!?
writerProfile
4 ต.ค. 2023 · โดย

 “กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน” ใครที่ไม่เคยเจอปัญหานี้ก็คงมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าเครียด แต่แท้จริงแล้วสำหรับคนผอมที่ต้องการเพิ่มน้ำหนัก ถือเป็นเรื่องที่น่าหนักใจมาก ในเมื่อกินเยอะก็แล้ว กินจุกจิกก็แล้ว แต่ก็ยังผอมแห้งอยู่ดี สาเหตุของปัญหานี้เกิดจากอะไร และมีภาวะสุ่มเสี่ยงอะไรบ้าง วันนี้ Wongnai Beauty จะมาไขข้อข้องใจให้เพื่อน ๆ กันค่ะ

เช็กค่า BMI ผอมจริงหรือคิดไปเอง ?

เช็ก BMI กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน

มีคนมากมายที่พบเจอปัญหากินอะไรนิดหน่อยก็อ้วน แต่รู้หรือไม่ กลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องกินเท่าไหร่น้ำหนักก็ไม่เพิ่มสักทีก็มีอยู่ไม่น้อย ทางการแพทย์ได้สรุปไว้ว่า กลุ่มคนที่มีค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ถือว่าเป็นคนที่น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ แต่หากเป็นโรคผอมจะมีค่า BMI ต่ำกว่า 17.0 ทำให้คนที่อยู่ในเกณฑ์นี้จะมีอาการเหนื่อยง่าย และอ่อนเพลียกว่าคนทั่ว ๆ ไป

สาเหตุของอาการ "กินเท่าไหร่ ก็ไม่อ้วน"

1. ระบบเผาผลาญทำงานอย่างรวดเร็ว

อัตราการเผาผลาญพื้นฐาน หรือ BMR คือ อัตราแคลอรีที่ร่างกายสามารถเผาผลาญได้ในหนึ่งวัน อัตรานี้มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม การเลือกรับประทานอาหาร หรือกิจกรรมในแต่ละวัน ถ้าเพื่อน ๆ กินเยอะแต่น้ำหนักไม่ขึ้น อาจเป็นเพราะ BMR ของเราสูง จึงเผาผลาญแคลอรีได้ในอัตราที่สูงกว่าคนส่วนใหญ่

2. การดูดซึมผิดปกติ

ร่างกายเราอาจจะไม่สามารถดูดซึมแคลอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหานี้พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ให้สังเกตได้จากอุจจาระของเรา ถ้าอุจจาระมีเศษอาหารที่ไม่ย่อยหรือมีคราบมัน ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดจากสาเหตุนี้ก็ได้

3. การออกกำลังกายเป็นประจำ

หากเราเป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว ร่างกายจะสามารถเผาผลาญแคลอรีได้มากกว่าที่เราคิด และถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกกำลังกาย แต่ร่างกายเราก้ยังสามารถเผาผลาญแคลอรีได้ดีกว่ากลุ่มคนที่ไม่ออกกำลังกาย

4. การเลือกอาหาร

แม้ว่าเราจะกินเยอะ แต่หากอาหารที่เราเลือกกินเป็นอาหารที่แคลอรีน้อย เช่น สลัดจานใหญ่ เราก็อาจจะไม่ได้รับแคลอรีเทียบเท่ากับคนที่กินแซนวิสชิ้นเล็ก ๆ แต่เป็นแซนวิสที่เต็มไปด้วยเนื้อและมันหมู หากเป้าหมายของเราคือการเพิ่มน้ำหนัก ลองเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรีมากขึ้นดู เช่น นมไขมันเต็มส่วน ชีส และเนื้อสัตว์

กินแล้วไม่อ้วน ปัญหาเสี่ยงโรค!

การที่เรากินเยอะแล้วไม่อ้วน อย่ามองว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจ ในเมื่อกินเยอะแล้วแต่น้ำหนักยังคงที่นั่นแสดงว่าร่างกายคุณอาจพบปัญหาเข้าให้แล้ว และปัญหานี้ก็เป็นอาการของโรคร้ายอีกหลายชนิด ดังนี้

โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid)

โรคนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ทำให้ฮอร์โมนต่อมไร้ท่อกระตุ้นให้เผาผลาญเกินความจำเป็น ทำให้หิวบ่อย กินจุ กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน หากปล่อยไว้อาจเกิดผลเสียตามมา และนำไปสูงโรคกระดูกพรุนได้

โรคเบาหวาน (Diabetes)

โรคเบาหวานหลายคนอาจจะคิดถึงคนที่น้ำหนักมากกว่าเกิน แต่การกินเท่าไหร่ไม่อ้วนก็เป็นอาการของโรคนี้เช่นกัน เนื่องจากระดับอินซูลินในเลือดสูง เมื่อได้รับน้ำตาลเข้าไปก็จะถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะ ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น การเผาผลาญแคลอรีก็จะมากขึ้นไปด้วย

พยาธิในร่างกาย

หากร่างกายเราเป็นที่อยู่อาศัยของพยาธิ เมื่อเรากินอะไรเข้าไปพยาธิก็จะกินสารอาหารเราไปจนหมด ทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย กินเท่าไหร่น้ำหนักก็ไม่เพิ่ม หากสงสัยว่าตัวเองมีพยาธิ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาพยาธิในลำไส้

ขาดสารอาหาร

เกิดจากการที่เราเลือกกินแต่อาหารที่ไม่ได้รับแคลอรี อาจเพราะสาเหตุกลัวอ้วน ร่างกายก็จะได้รับสารอาหารที่ไม่ครบถ้วน ทำให้กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน อีกทั้งยังมีอาการอ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรงร่วมด้วย

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Irritable Bowel Disease หรือ IBD)

เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการท้องเสีย ไปจนถึงขับถ่ายเป็นเลือด ขาดสารอาหาร และน้ำหนักลดลง หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง และเสียชีวิตได้เลย

แนวทางการเพิ่มน้ำหนักที่ถูกต้อง!

  1. แนะนำให้ทานอาหารจำพวกโปรตีนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อแทน เช่น ถั่ว นม ไข่ขาว โดยเพิ่มโปรตีนเป็น 1.5 - 2.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพิ่มการรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ควรเพิ่มพลังงานจากเดิมที่กินอยู่ วันละ 500 แคลอรี/วัน
  2. ไม่แนะนำให้ทานอาหารหวาน ๆ มัน ๆ หรืออาหารที่ไขมันสูง เพราะอาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและน้ำตาลในเลือดสูงได้
  3. ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ และเพิ่มอาการอยากอาหารมากขึ้น
  4. ไม่ควรดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร
  5. งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะทำให้อยากอาหารลดลง

เป็นอย่างไรบ้างคะ พฤติกรรมกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนถือเป็นปัญหาที่น่าหนักใจอยู่ไม่น้อยเลยใช่มั๊ย ดังนั้นหมั่นสังเกตร่างกายของเราเป็นประจำ อะไรที่ดูมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงทั้งนั้น ดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะชาว Wongnai Beauty ทุกคนน~

References :