ชวนรู้จัก 10 โรคกลัวแปลก ๆ มีอาการแบบนี้อยู่บนโลกจริงหรอ!!
  1. ชวนรู้จัก 10 โรคกลัวแปลก ๆ มีอาการแบบนี้อยู่บนโลกจริงหรอ!!

ชวนรู้จัก 10 โรคกลัวแปลก ๆ มีอาการแบบนี้อยู่บนโลกจริงหรอ!!

พามารู้จักกับ 10 โรคกลัวแปลก ๆ หรือโรคที่มีชื่อเรียกว่า “โฟเบีย” ความกลัวแบบนี้มีอยู่จริงบนโลกด้วยหรอ! ใครที่มีอาการกลัวอะไรแปลก ๆ ต้องเข้ามาเช็กกันหน่อย
writerProfile
10 มิ.ย. 2021 · โดย

เคยเป็นกันไหม รู้สึกกลัวสิ่งนี้มากทั้ง ๆ ที่คนอื่นไม่กลัว หรือกลัวอะไรแปลก ๆ แต่ก็ไม่รู้เหตุผลว่ากลัวเพราะอะไร อาการเหล่านี้อาจบอกได้ว่าเรากำลังเป็นโรคกลัวแปลก ๆ หรือที่เรียกว่า “โรคโฟเบีย” เป็นโรคกลัวชนิดที่ไม่ปกติ มักจะเกิดกับความกลัวสิ่งของ บุคคล การกระทำ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งโฟเบียนี้จะแตกต่างกับความกลัวแบบปกติคือ ไม่มีการแสดงอารมณ์ที่รุนแรงมาก และเราจะรู้ว่าตัวเองกำลังกลัวอะไรอยู่ แต่เราจะไม่รู้ว่ากลัวสิ่งนั้นเพราะอะไรกันแน่ วันนี้เราเลยรวม 10 โรคกลัวแปลก ๆ มาให้อ่านกันค่ะ

1. โรคกลัวรู (Trypophobia)

โรคกลัวรู (Trypophobia)

โรคกลัวรู (Trypophobia) มีใครเคยเป็นบ้างคะ พอเห็นอะไรที่มีลักษณะเป็นรูหรือเป็นหลุมที่มีจุดเยอะ ๆ จะรู้สึกกลัว ไม่อยากมอง ขยะแขยง ขนลุก จะรู้สึกกระอักกระอ่วนไปหมด ไม่อยากเข้าใกล้สิ่งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นรูที่เกิดขึ้นจากมนุษย์และเกิดขึ้นตามธรรมชาติก็ตาม เช่น ปะการัง เมล็ดฝักบัว รูในผนังคอนกรีต รังผึ้ง เป็นต้น โรคกลัวรูแบบนี้บางคนเป็นแล้วถึงขั้นตัวสั่น อาเจียน เข่าอ่อน และไม่สบายไปเลยก็มีนะ

2. โรคกลัวขาดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia)

โรคกลัวขาดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia)

ใช่แล้วค่ะทุกคน ฟังไม่ผิดหรอก มันมีอาการ Phobia แบบนี้อยู่จริง ๆ กับโรคกลัวขาดโทรศัพท์มือถือ อาการกลัวการขาดสมาร์ทโฟนที่เปรียบเสมือนอวัยวะที่ 33 ของร่างกายเราไปแล้ว นั่นก็เป็นเพราะว่าทุกวันนี้เราใช้สมาร์ทโฟนกันตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ถ้าช่วงไหนไม่ได้เล่นไม่ได้จับจะรู้สึกหงุดหงิด จะเล่นมือถืออยู่ตลอดเวลาในช่วงที่ทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กินข้าว ขับรถ เข้าห้องน้ำ หากใครมีอาการโฟเบียแบบนี้อยู่ไม่เพียงส่งผลเสียด้านจิตใจนะ ยังส่งผลต่อสุขภาพด้วย ไม่ว่าจะทำให้ปวดเมื่อยข้อมือ เส้นเอ็นยึด ตาล้า ตาแห้งอีกด้วย

3. โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)

โรคกลัวการเข้าสังคม (Social anxiety disorder)

โรคกลัวการเข้าสังคมแบบนี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยเป็น เห็นได้ตั้งแต่ตอนเรียนไปจนถึงชีวิตวัยทำงานกันเลย เช่น ตอนเรียนต้องออกไปนำเสนองานหน้าชั้นเรียน ส่วนการทำงานก็ยกตัวอย่างการขายงานให้กับลูกค้า ผู้ป่วยโรคโฟเบียชนิดนี้จะมีอาการประหม่า รู้สึกไม่สบายใจ อึดอัด กังวลใจ ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เหงื่อออกมาก เมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะและมีสถานการณ์ที่มีผู้อื่นจ้องมองตนเอง มักมีความคิดว่าคนรอบข้างจะมองตัวเองในแง่ลบหรือกลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้างไปในทางไม่ดีนั่นเองค่ะ

4. โรคกลัวเชื้อโรค (Mysophobia)

โรคกลัวเชื้อโรค (Mysophobia)

เพราะความสะอาดต้องมาเป็นอันดับ 1 ยิ่งมีสถานการณ์โควิดแบบนี้ด้วย โรคกลัวเชื้อโรคนี่แหละจะทำให้เราปลอดภัยได้ โรคกลัวชนิดนี้ผู้ป่วยจะมีความวิตกอย่างรุนแรงเกี่ยวกับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่าง ๆ เรียกว่าโดนสิ่งสกปรกไม่ได้เลย เกิดอาการกลัวทุกครั้งที่จะต้องสัมผัสกับสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นของสาธารณะ รวมไปถึงจะไม่ยอมให้ใครมาสัมผัสของใช้ส่วนตัวเลย ยิ่งของใช้ชิ้นไหนโดนมือคนอื่นเป็นอันต้องรีบทำความสะอาดทันทีเพราะความกลัวว่าจะมีเชื้อโรคเข้ามา พออ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายคนคงกำลังคิดว่าตอนนี้เราเป็นโรคกลัวเชื้อโรคกันหรือยังนะ

5. โรคกลัวกระจก (Catoptrophobia)

โรคกลัวกระจก (Catoptrophobia)

โรคกลัวกระจกเป็นโรคโฟเบียชนิดหนึ่งที่มีอาการกลัวกระจกเงาต่าง ๆ หรือกลัวพื้นผิวที่มีเงาสะท้อน ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่ากระจกมีความเกี่ยวข้องกับจิตใจของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยกลัวการถูกจ้องมองผ่านกระจกหรือมีความรู้สึกอึดอัดกับภาพร่างตัวเองที่สะท้อนผ่านกระจก อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นด้วยจะมีการหายใจติดขัด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว หรือบางครั้งก็ไม่สามารถพูดหรือคิดได้ชัดเจน

6. โรคกลัวเลือด (Hemophobia)

โรคกลัวเลือด (Hemophobia)

เคยได้ยินกันบ้างใช่ไหมคะกับอาการของคนกลัวเลือด ใครที่เห็นเลือดแล้วถึงขั้นเป็นลมหมดสติจนคนรอบข้างแทบประคองไว้ไม่ทัน โรคกลัวเลือดเป็นความกลัวต่อเลือดอย่างรุนแรงและไม่สมเหตุสมผล อยู่ในกลุ่มของโรคโฟเบียที่มีความผิดปกติคล้ายกับโรคทางด้านระบบประสาทที่ทำให้เราหายใจลำบาก หัวใจเต้นถี่และเร็วขึ้น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวนี้ อาจเป็นเพราะเคยได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนทางจิตใจเลยทำให้รู้สึกหวาดกลัวนั่นเองค่ะ

7. โรคกลัวเข็ม (Trypanophobia)

โรคกลัวเข็ม (Trypanophobia)

เรามักจะเห็นเด็กหลายคนร้องไห้เวลาจะถูกฉีดยาหรือแม้แต่ผู้ใหญ่บางคนก็เป็นนะ หน้าซีดคล้ายจะเป็นลมทุกครั้งเวลาจะโดนฉีดยา โรคกลัวเข็มแบบนี้อาจเรียกอีกอย่างว่าโรคที่มีความคิดในแง่ลบต่อแพทย์ พยาบาล หรือการทำหัตถการทางการแพทย์ หรือสรุปง่าย ๆ ว่าเคยมีอดีตฝังใจกับการรักษาแบบนี้มาตั้งแต่เด็กมาจนถึงตอนโต โรคกลัวเข็มแบบนี้อาจมีความรุนแรงไปจนถึงปฏิเสธการรักษาจากแพทย์ทุกอย่างเลยก็เป็นได้นะ

8. โรคกลัวเครื่องบิน (Aerophobia)

โรคกลัวเครื่องบิน (Aerophobia)

โรคกลัวเครื่องบินหรือโรคกลัวการเดินทางโดยเครื่องบิน คืออาการกลัวในกลุ่มโรค Phobia ชนิดหนึ่ง อาการของโรคนี้จะมีความหวาดกลัวหรือวิตกกังวลว่าถ้าได้นั่งยานพาหนะทางอากาศ เช่น เครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ จะกลัวสิ่งเหล่านี้ตกลงมา หรือตกหลุมอากาศ โดยส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคกลัวเครื่องบินมักมีพื้นฐานมาจากการกลัวความสูงหรือกลัวที่แคบมาก่อน ทำให้มีความวิตกกังวล ความเครียด และตระหนักใจทุกครั้งที่ต้องขึ้นเครื่องบิน

9. โรคกลัวสัตว์ (Zoophobia)

โรคกลัวสัตว์ (Zoophobia)

โรคกลัวสัตว์เป็นอาการที่มีความกลัวต่อสัตว์อย่างรุนแรงและไม่สมเหตุสมผล คนที่เป็นมักจะมีอาการกังวลหรือกลัวมากกว่าปกติเวลาที่เจอสัตว์ประเภทต่าง ๆ ทั้งสัตว์ที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว หรือสัตว์ใหญ่ทั่วไปอย่าง ช้าง ม้า วัว ซึ่งสัตว์บางชนิดหลายคนอาจมองว่าตัวเล็ก น่ารัก และไม่มีพิษภัย แต่สำหรับคนที่เป็นโรคกลัวสัตว์นั้น จะกลัวสัตว์แบบไม่มีเหตุผลและไม่อยากเข้าใกล้ ความกลัวสัตว์นี้อาจรวมไปถึงกลัวซากสัตว์ตายหรือกลัวการเข้าสวนสัตว์ไปเลยก็ได้ค่ะ

10. โรคกลัวความรัก (Philophobia)

โรคกลัวความรัก (Philophobia)

“ถ้ารักได้ รักไปแล้ว ไม่อยู่เป็นโสดจนถึงทุกวันนี้หรอก” ใครเคยเป็นบ้างสารภาพมาดี ๆ ขอปิดท้ายกันที่โรคกลัวความรัก มันมีอยู่จริง ๆ นะคะทุกคน และถูกจัดเป็นโรคโฟเบียชนิดหนึ่งด้วย ผู้ป่วยจะกลัวการได้รับความรักและจะปฏิเสธความรู้สึกพิเศษที่มีกับบางคน จะไม่ชอบที่ตัวเองมีความรู้สึกลึกซึ้งกับคนอื่น หากตัวเองรู้สึกดีกับใครแล้วจะเลือกวิ่งหนีความรัก หลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้ตกหลุมรัก หรือหลีกเลี่ยงการไปสถานที่ต่าง ๆ ที่มีคนรัก บางคนมีอาการตื่นกลัว มีเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก คลื่นไส้ เป็นต้น ไหนสาว ๆ คนไหนเป็นบ้างยกมือหน่อย

ครบแล้วกับ 10 โรคกลัวแปลก ๆ ที่เราคัดมาให้อ่านกัน สารภาพมาดี ๆ ว่าใครมีอาการโฟเบียแบบนี้บ้าง อย่างน้อยเชื่อว่าต้องมีกันบ้างแหละ Phobia อาจไม่ใช่โรคกลัวที่มีอาการรุนแรงมาก แต่ก็มีผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วยส่วนหนึ่ง ใครที่กำลังมีอาการกลัวในสิ่งเหล่านี้อยู่นั้น อยากให้ลองไปปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาการและแนวทางรักษา จะได้ไม่เป็นปัญหาเรื้อรังในภายหลังนะคะ

อ่านบทความที่น่าสนใจต่อได้ที่...