รู้ไว้ได้เงินล้าน! 10 วิธีการลงทุนฉบับมือใหม่ ตอบโจทย์ทุกวัย!!
  1. รู้ไว้ได้เงินล้าน! 10 วิธีการลงทุนฉบับมือใหม่ ตอบโจทย์ทุกวัย!!

รู้ไว้ได้เงินล้าน! 10 วิธีการลงทุนฉบับมือใหม่ ตอบโจทย์ทุกวัย!!

เราเกิดมาในยุคที่การลงทุนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ใคร ๆ ก็วางแผนการลงทุนได้ง่าย ๆ แม้แต่ First Jobber!!
writerProfile
19 ธ.ค. 2019 · โดย

สมัยนี้เราก็รู้กันดีว่าไม่สามารถหารายได้ทางเดียวแล้วมีเงินถุงเงินถังได้อีกต่อไปแล้ว เพราะลำพังค่าครองชีพที่สูงรายได้ก็แทบจะไม่พอรายจ่ายอยู่แล้ว ยิ่งบางคนที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากรวยเหมือน Youtubers/ Bloggers บ้าง ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น บางคนก็หา Second Jobs, Third Jobs กันไปตามที่เรี่ยวแรงจะพอทำไหว แต่จะไม่ดีกว่าหรอถ้าเราเรียนรู้วิธีการลงทุนเอาไว้ และให้ "เงินทำงานแทนเรา" เหมือนที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบพูดกัน วันนี้เราเลยหาข้อมูลมาให้ว่า เราจะเริ่มวางแผนการลงทุนยังไงดีให้แตะล้านแรก!!

ทำไมต้องวางแผนการลงทุน ?

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าทำไมเราต้องวางแผนการลงทุนแต่เนิ่น ๆ แบบนี้ด้วย เหตุผลก็เพราะว่าถ้าเราออมเงินเดือนละ 1,000 ต้องใช้เวลาทั้งหมด 83 ปี ถึงจะได้ 1 ล้านบาทแรก แต่การวางแผนการลงทุนก็เหมือนเป็นทางลัด ลดหย่อนสู่ความมั่งคั่งให้เร็วขึ้นนั่นเอง

ออมยังไงให้มีเงินลงทุน ?

ออมเงินให้มีเงินลงทุน

ก่อนที่จะไปพูดเรื่องลงทุนก็คงต้องพูดเรื่องการออมเงินก่อน เพราะถ้าไม่มีเหลือเก็บเลยสักเดือนจะมีเงินที่ไหนไปลงทุนล่ะ จริงไหม?! เพราะฉะนั้น เราต้องมาวางแผนการออมกันก่อน สมการก็ง่ายมากคือ “รายรับต้องมากกว่ารายจ่าย” ในกรณีนี้ถ้าใครไม่เหลือเก็บเลยในแต่ละเดือน ให้ลดรายจ่ายลงก่อน หรือถ้าใครมีหนี้สินอยู่ ก็ให้นำเงินไปบริหารหนี้สินก่อน ดูแลจนกว่าฝั่งรายรับจะมากกว่ารายจ่ายให้ได้

จากนั้นให้เริ่มลงทุนตามระยะเวลาของแผนการทางการเงิน โดยแบ่งออกเป็น

  • Short Term ลงทุนระยะสั้น (0-1 ปี) : อันนี้คือเก็บไว้สำหรับค่าฉุกเฉินต่าง ๆ โดยให้ลงทุนที่บัญชีออมทรัพย์ หรือกองทุนตลาดเงิน เพราะความเสี่ยงต่ำ
  • Long Term ลงทุนระยะยาว (มากกว่า 7 ปี) : ไว้สำหรับเกษียณอายุ โดยลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ประกันชีวิต LTF/RMF ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง แต่พวกนี้ยิ่งลงทุนนานความเสี่ยงก็จะยิ่งลดลงค่ะ

Noted : นอกจากเราควรศึกษาแหล่งทางเลือกการออมและลงทุนต่าง ๆ แล้ว เรายังควรที่จะวางแผนออมเงินสม่ำเสมอเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วด้วย

วางเป้าหมาย...อยากมีเงินเท่าไหร่หลังเกษียณ

ก่อนอื่นเราต้องรู้จักตัวเองก่อนว่า ต้องการลงทุนเพื่ออะไร ต้องการใช้เงินประมาณเท่าไหร่ และต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อใด แล้วให้ระบุชัดเจนไปเลยเช่น ตั้งเป้าหมายว่าจะมีเงินออมเพื่อเกษียณอย่างน้อย 4,000,000 บาท ภายในระยะเวลา 38 ปี เพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณตอนอายุ 60 ปี เดือนละ 15,000 บาท ไปอีก 20 ปี เป็นต้น

ซึ่งเราก็ต้องรู้ด้วยนะว่าเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน ระหว่าง รับความเสี่ยงได้ต่ำ (Conservative), รับความเสี่ยงได้ปานกลาง (Moderate) และ รับความเสี่ยงได้สูง (Aggressive) เพื่อที่จะได้เลือกการลงทุนตามความเสี่ยงที่เรารับได้นั่นเอง

แบบทดสอบคุณยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน คลิก

ออมเงินเท่าไหร่ก่อนเกษียณ

งั้นมารู้จักการลงทุน 6 แบบหลัก ๆ กันหน่อย!

1. หุ้น (Stock)

ลงทุนหุ้น

ถ้าอยากเป็นเจ้าของกิจการแต่เงินยังมีไม่พอ การซื้อหุ้นถือเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากค่ะ เพราะการลงทุนแบบนี้เป็นตราสารที่กิจการออกให้แก่ผู้ถือ เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ โดยผู้ถือหุ้นจะมีฐานะเป็น "เจ้าของ" มีส่วนได้เสีย มีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการเลย อย่างเช่น เงินปันผล แล้วยิ่งถ้ากิจการดี หุ้นเติบโต เราก็จะสามารถทำกำไรได้จากส่วนต่างราคาได้อีกด้วย

สิ่งที่ต้องรู้ : 

  1. ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไม่ค่อยแน่นอน เพราะถ้าหากกิจการล้มละลาย ผู้ถือหุ้นจะได้เงินคืนหลังจากกิจการจ่ายหนี้เรียบร้อยแล้ว 
  2. ความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นสูง ควรหมั่นเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงกับอัตราผลตอบแทนที่คาดการณ์ไว้เป็นประจำทุก 3-6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อ “ปรับพอร์ตการลงทุน” ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 

ซึ่งเราสามารถดูภาพรวมการซื้อขายของหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จากดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ถ้าหากดัชนีเป็นสีเขียวแสดงว่ามูลค่าตลาดรวมวันนี้ สูงกว่า วันก่อนหน้า และถ้าหากดัชนีเป็นสีแดงแสดงว่ามูลค่าตลาดรวมวันนี้ ต่ำกว่า วันก่อนหน้านั่นเอง ดู SET Index คลิกที่นี่ และดูสรุปภาพรวมตลาด คลิกที่นี่

2. อนุพันธ์ (Derivatives)

ลงทุนอนุพันธ์

แต่ถ้าเราเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้มาก อยากทำกำไรไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม การลงทุนในอนุพันธ์คือเหมาะมาก เพราะเขาคือ สัญญาทางการเงินที่ทำขึ้นในปัจจุบัน เพื่อตกลง ซื้อขาย  “สินค้าอ้างอิง” หรือ ให้สิทธิในการซื้อขายในอนาคต เช่น กี่หน่วย ราคาเท่าไหร่ ส่งมอบและชำระราคาเมื่อใด ตัวอย่างเช่นพวก ราคาข้าว ราคายางพารา ราคาน้ำมัน ราคาทองหรือดัชนีราคาหุ้นก็ตาม

สิ่งที่ต้องรู้ : 

  1. เป็นสัญญาที่มีสินทรัพย์อ้างอิง เช่น ทองคำ น้ำมัน โลหะเงิน
  2. ใช้เงินลงทุนต่ำ ผู้ลงทุนวางเงินประกันเพียง 10-15% ของมูลค่าสัญญาเท่านั้น
  3. มีโอกาสได้อัตราผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับเงินตั้งต้น 

Noted : เป็นสัญญาที่มีอายุจำกัดเช่น 1 เดือน, 3 เดือน หรือ 6 เดือน ผู้ลงทุนจึงต้องคำนึงถึงข้อนี้ไว้ด้วย

ซึ่งอนุพันธ์ที่ซื้อขายใน บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ก็ยังแยกย่อยได้อีก 2 แบบ คือ 

  • ฟิวเจอร์ส (Futures) คือผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกัน โดยใช้ราคาของวันนี้แต่ส่งมอบและชำระเงินกันในอนาคต แถมไม่จำเป็นต้องถือสัญญาไว้จนครบกำหนด อาจซื้อขายแลกเปลี่ยนมือกันได้
  • ออปชัน (Options) คือมีผู้ซื้อและผู้ขายจะมี "สิทธิซื้อ" และ "สิทธิขาย" สินทรัพย์อ้างอิงตามราคา จำนวน และระยะเวลา ที่ระบุไว้จากผู้ขาย โดย ผู้ซื้อ ต้องเป็นคนจ่าย “ค่าพรีเมียม” (Premium) และผู้ขายก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาเมื่อผู้ซื้อขอใช้สิทธิ

สามารถเช็คข้อมูลซื้อขายประจำวันได้ ที่นี่

3. กองทุนรวม (Mutual Fund)

กองทุนรวม

สำหรับคนที่ประสบการณ์ลงทุนยังน้อย มีเงินลงทุนไม่มากให้แวะมาทางนี้ก่อน เพราะกองทุนรวมเป็นทางเลือกการลงทุนยอดฮิต สำหรับมือใหม่  และคนที่ไม่มีเวลาติดตามข้อมูลตลอดเวลา โดยหลักการก็ง่าย ๆ คือ ระดมเงินลงทุนจากคนจำนวนมากเพื่อตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา พอได้รับผลตอบแทนก็นำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุน

สิ่งที่ต้องรู้ : 

  1. มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลเงินลงทุนให้
  2. ใช้เงินลงทุนต่ำ เริ่มต้นได้ตั้งแต่หลักร้อยบาทขึ้นไป
  3. ความเสี่ยงปานกลาง (เพราะความเสี่ยงค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุนรวมนั้น ๆ นำเงินไปลงทุน)

Noted : ถ้าอยากรู้ว่าตอนนี้ได้กำไรหรือขาดทุนให้ดูที่ค่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV) ซึ่งจะทำการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาด (Mark to Market) ในแต่ละวัน

เช็คข้อมูลมูลค่าหน่วยลงทุน NAV คลิกที่นี่

4. DW : ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants)

ลงทุน

ถ้าอยากซื้อหุ้นแต่ก็งบไม่พอ ลองหันมารู้จัก DW กัน สำหรับตัวนี้เขาเป็นตราสารทางการเงินที่ผู้ออกให้สิทธิกับผู้ซื้อในการซื้อ (Call DW) หรือ ขาย (Put DW) หลักทรัพย์อ้างอิงในอนาคตทำให้ผู้ลงทุนสามารถเก็งกำไรหรือป้องกันความเสี่ยงได้ ทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง โดยจุดเด่นที่สำคัญก็คือใช้เงินลงทุนน้อยกว่าหุ้น แต่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า!

สิ่งที่ต้องรู้ : 

  1. ใช้เงินลงทุนต่ำ ผลตอบแทนสูง
  2. สามารถออก DW ได้โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากบริษัทที่ต้องการนำมาเป็นหลักทรัพย์
  3. อ้างอิงกับดัชนีหลักทรัพย์ เช่น SET50 Index ได้
  4. มีผู้ดูแลสภาพคล่องที่เรียกกันว่า Market Maker
  5. ความเสี่ยงสูงมาก (มีโอกาสขาดทุนสูง)

ค้นหา DW คลิกที่นี่

5. อีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) 

การลงทุน, ลงทุน, วางแผนการลงทุน

ส่วนตัวนี้เป็นลูกครึ่งที่ผสมผสานระหว่างกองทุนรวมและหุ้นนั่นเองค่ะ หรือก็คือสามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง แต่ใช้เงินลงทุนน้อย และได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลและส่วนต่างราคาตามดัชนีอ้างอิงที่กองทุน ETF นั้น ๆ ส่วนจุดเด่นสำคัญของ ETF คือผู้ลงทุนเห็นราคา ETF และสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ตลอดเวลา ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดทำการ ไม่จำเป็นต้องรอราคา NAV ต่อหน่วย ณ สิ้นวัน เหมือนกับกองทุนเปิดทั่วไป

สิ่งที่ต้องรู้ : 

  1. ใช้เงินลงทุนต่ำกว่าหุ้น
  2. ความเสี่ยงค่อนข้างสูง (แต่น้อยกว่าหุ้น)
  3. มีผู้ดูแลสภาพคล่องที่เรียกกันว่า Market Maker
  4. ได้ผลตอบแทนตามดัชนี ค่าบริหารจัดการต่ำ

ซึ่งในเบื้องต้นนี้เราขอพาทำความรู้จัก ETF 4 ประเภทคร่าว ๆ นั่นก็คือ Equity ETF (อ้างอิงดัชนีราคาหุ้นในประเทศ), Foreign ETF (อ้างอิงดัชนีราคาหุ้นต่างประเทศ หรือกลุ่มหุ้นต่างประเทศ), Gold ETF (อ้างอิงดัชนีราคาทองคำ) และ Bond ETF (อ้างอิงราคาตราสารหนี้) สามารถตรวจสอบรายชื่อ ETF ที่ซื้อขายในประเทศไทยได้ ที่นี่

6. ตราสารหนี้ (Bond)

ลงทุนตราสารหนี้

คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอและได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุ ตัวอย่างเช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน โดยสามารถลงทุนตราสารหนี้ได้ตั้งแต่ 1 วัน ไปจนถึง 20 ปี เมื่อลงทุนแล้วจะได้รับดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ ตามที่ระบุไว้ในหน้าตั๋ว เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการรายได้แน่นอน สม่ำเสมอ

สิ่งที่ต้องรู้ : 

  1. ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปและให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ
  2. ความเสี่ยงต่ำ
  3. ลำดับสิทธิสูงกว่าหุ้นสามัญ
  4. ขายก่อนครบกำหนดได้

สามารถดูรายชื่อ Broker ที่ให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ได้ ที่นี่ และคำนวณตราสารหนี้ได้ ที่นี่

แนะนำการลงทุนอื่น ๆ ง่าย ๆ สำหรับมือใหม่ยังไม่พร้อมเสี่ยง!

1. สลากออมสิน : 

เป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่ง โดยผู้ฝากจะได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด พร้อม ๆ กับมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลทุกเดือน ครบกำหนดก็จะได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย โดยสลากออมสิน 1 หน่วย มีมูลค่า 50 บาท แถมตอนนี้สะดวกมาสามารถซื้อได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา, ตู้ ATM ธนาคารออมสิน และออมสิน Internet Banking

2. ฝากประจำปลอดภาษี  / กองทุนรวมตลาดเงินหรือตราสารหนี้ระยะสั้น :

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นออมเงินและมีความรู้เรื่องการลงทุนไม่มากนัก แนะนำให้ลองสร้างวินัยโดยการฝากประจำทุกเดือนเป็นจำนวนเงินเท่า ๆ กัน โดยให้ตัดจากบัญชีเงินเดือนอัตโนมัติไปเลยยิ่งดี หรือ จะเป็นกองทุนที่ลงทุนเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น แต่อันนี้แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมก่อนว่าเหมาะสมกับสิ่งที่เราต้องการไหม และให้ผลตอบแทนตามที่เราพอใจไหมด้วย

3. สหกรณ์ออมทรัพย์ :

หรือก็คือสะสมหุ้นของสหกรณ์ในบริษัทที่เราทำงานอยู่ ผลตอบแทนก็จะมาในรูปของเงินปันผลในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะดีกว่าเงินฝากและตราสารหนี้ แต่ก็ไม่อยากให้ชะล่าใจ ควรศึกษาให้ดีว่าการบริหารงานและการจัดการสหกรณ์ของที่ทำงานนั้นดีแค่ไหน มีปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่าด้วย จะได้ลงทุนอย่างปลอดภัยกันค่ะ

4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ : 

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ออฟฟิศมีสวัสดิการ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ไว้ให้ควรลงทุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะผลตอบแทนจะเห็นชัดมาก ๆ ในยามเกษียณ อันนี้สามารถเลือกสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% เลยนะ (ซึ่งส่วนใหญ่นายจ้างจะสมทบให้อีก) แนะนำให้ตัด % ที่มากที่สุดเท่าที่ไหวไปเลย เพราะยังไงก็เป็นเงินก้อนที่เราได้คุ้มชัวร์ ๆ 

เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับข้อมูลการวางแผนการลงทุนสำหรับมือใหม่ที่เรานำมาฝากในวันนี้ ใครเริ่มลงทุนตัวไหนอยู่หรือมีข้อมูลดี ๆ ก็มาแชร์เพิ่มเติมได้ จะได้แบ่งปันความรู้เรื่องการลงทุนให้กับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ด้วย ยังไงก็ขอให้สาว ๆ วงในบิวตี้แตะล้านแรกกันได้เร็ว ๆ ทุกคนจ้า!

อ่านบทความการเงินดี ๆ ต่อได้ที่