SOS! 9 สัญญาณเตือน "วัยทองก่อนวัย" ปัญหาใกล้ตัวที่วัยทำงานก็เป็นได้!
  1. SOS! 9 สัญญาณเตือน "วัยทองก่อนวัย" ปัญหาใกล้ตัวที่วัยทำงานก็เป็นได้!

SOS! 9 สัญญาณเตือน "วัยทองก่อนวัย" ปัญหาใกล้ตัวที่วัยทำงานก็เป็นได้!

อารมณ์แปรปรวน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจเป็นสัญญาณของ “วัยทองก่อนวัย” มารู้ทันอาการ พร้อมวิธีดูแลตัวเองให้สมดุลก่อนจะสายเกินไป!
writerProfile
19 พ.ค. 2025 · โดย

เคยเป็นกันมั้ย? อยู่ดี ๆ ก็รู้สึกหงุดหงิด เบื่อโลกโดยไม่มีเหตุผล จนคนรอบข้างแซวว่า “เป็นวัยทองรึเปล่า?” หลายคนอาจมองว่าเป็นแค่คำพูดเล่นขำ ๆ แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของคนวัย 40+ เท่านั้นนะคะ เพราะแม้แต่สาว ๆ วัยทำงานอายุประมาณ 25 - 35 ปี ก็มีโอกาสเจอกับอาการแบบนี้ได้เช่นกัน ซึ่งเราเรียกกันว่า "วัยทองก่อนวัย"

วันนี้ Wongnai Beauty เลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับอาการวัยทองก่อนวัยให้มากขึ้น ใครที่รู้สึกว่าอารมณ์ตัวเองช่วงนี้แปลก ๆ ลองมาเช็กกันดูหน่อยดีกว่าว่าเข้าข่ายหรือเปล่า?

วัยทองก่อนวัย คืออะไร?

วัยทองก่อนวัย, วัยทอง, ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย, ประจำเดือน

“วัยทองก่อนวัย” (Premature Perimenopause) หรือที่ในทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย” (Premature Menopause) เป็นภาวะที่ร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน หรือฮอร์โมนเพศหญิงเร็วกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ โดยปกติแล้วผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าสู่วัยทองในช่วงอายุประมาณ 45 - 55 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเริ่มลดลงอย่างชัดเจน

ในบางกรณีผู้หญิงอาจเริ่มมีอาการหรือสัญญาณของการเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าที่ควร โดยอาจเริ่มตั้งแต่อายุ 25 - 35 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวัยที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และวัยทำงาน หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโทรเจนในช่วงอายุนี้ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย อารมณ์ และคุณภาพชีวิตอย่างชัดเจน และนั่นก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า "วัยทองก่อนวัย" นั่นเองค่ะ

สัญญาณเตือนวัยทองก่อนวัย

เมื่อระดับฮอร์โมนเพศหญิงอย่าง “เอสโทรเจน” เริ่มลดลงเร็วกว่าปกติ ร่างกายและอารมณ์ของผู้หญิงก็จะเริ่มแสดงความเปลี่ยนแปลงออกมา ซึ่งอาการเหล่านี้คล้ายกับวัยทองทั่วไป แต่ต่างกันตรงที่เกิดขึ้นในช่วงวัยที่ยังไม่ควรมีอาการ เช่น อายุระหว่าง 25 - 35 ปี เราเรียกภาวะนี้ว่า “วัยทองก่อนวัย” โดยอาการที่มักพบได้บ่อย มีดังนี้ 

วัยทองก่อนวัย, วัยทอง, ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย, ประจำเดือน
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ : รอบเดือนเริ่มผิดปกติ เช่น มาเร็ว มาช้า หรือขาดหายไปหลายเดือนโดยไม่ได้ตั้งครรภ์
  • อารมณ์แปรปรวน : ขี้หงุดหงิด โกรธง่าย ขี้น้อยใจ หรือรู้สึกเศร้าแบบไม่มีสาเหตุ บางรายอาจมีอาการซึมเศร้าแฝงอยู่ด้วย
  • นอนไม่หลับ : มีปัญหาในการนอน เช่น นอนหลับยาก ตื่นกลางดึกบ่อย หรือตื่นมาแล้วยังรู้สึกไม่สดชื่น
  • รู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกาย : อาการคล้าย "ฮอตแฟลช" (Hot Flash) คืออยู่ดี ๆ ก็รู้สึกร้อนวูบขึ้นมาทันที โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • ความต้องการทางเพศลดลง : ความรู้สึกทางเพศลดน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรักหรือคู่ชีวิต
  • ช่องคลอดแห้ง : ฮอร์โมนเอสโทรเจนที่ลดลง ส่งผลให้เยื่อบุช่องคลอดบางลง แห้งง่าย ทำให้รู้สึกเจ็บช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย : รู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลาทั้งที่ไม่ได้ทำงานหนัก หรือบางคนอาจมีอาการเวียนหัวหรือหน้ามืดร่วมด้วย
  • ผิว ผม และเล็บมีการเปลี่ยนแปลง : การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนยังส่งผลต่อผิวพรรณ เส้นผมและเล็บ โดยปัญหาที่พบได้บ่อย คือ ผิวแห้งกร้าน ขาดความชุ่มชื้น ผมร่วงมากขึ้น และเล็บเปราะหักง่าย
  • ความจำสั้น : รู้สึกจำอะไรไม่ค่อยได้เหมือนเดิม หรือมีปัญหาในการจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่เป็นเวลานาน

สาเหตุของวัยทองก่อนวัย

ภาวะวัยทองก่อนวัยไม่ได้เกิดจากอายุเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหลายปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกายลดลงเร็วกว่าที่ควร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการวัยทองก่อนวัย มีดังนี้

วัยทองก่อนวัย, วัยทอง, ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย, ประจำเดือน
  • พันธุกรรมหรือกรรมพันธุ์

หากในครอบครัวมีผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองก่อนวัย เช่น แม่ พี่สาวหรือน้องสาว ก็มีโอกาสสูงที่เราอาจเผชิญกับภาวะนี้เช่นกัน เพราะพันธุกรรมมีบทบาทต่อการทำงานของรังไข่และระบบฮอร์โมน

  • ความเครียดสะสม และการพักผ่อนไม่เพียงพอ

คนวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดัน มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะวัยทองก่อนวัยได้มากกว่าวัยอื่น ๆ เนื่องจากความเครียดเรื้อรังสามารถรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ควบคุมการหลั่งของฮอร์โมน เมื่อร่างกายเผชิญกับความเครียดมากเกินไป ระบบฮอร์โมนก็อาจเสียสมดุล เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอซ้ำ ๆ ก็อาจส่งผลให้ร่างกายฟื้นฟูฮอร์โมนได้น้อยลงเช่นกัน

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือการรับประทานอาหารที่ขาดสารอาหารจำเป็น ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมน และอาจเร่งให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะวัยทองเร็วกว่าปกติ

  • ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย (Primary Ovarian Insufficiency)

ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย (Primary Ovarian Insufficiency) เป็นภาวะที่รังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศหญิง โดยเฉพาะ “เอสโทรเจน” ลดลง จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แม้ว่าในบางรายจะยังมีไข่หลงเหลืออยู่ในรังไข่ก็ตาม แต่รังไข่ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการวัยทองเร็วกว่าปกตินั่นเอง

  • โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน

โดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันมีหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม แต่ในกรณีของโรคภูมิต้านทานตนเอง ระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานผิดปกติ และเข้าใจผิดว่าอวัยวะหรือเซลล์ของร่างกายตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงเข้าไปโจมตี ส่งผลให้เกิดการอักเสบและทำลายเนื้อเยื่อภายใน รวมถึงอาจรบกวนการทำงานของรังไข่ ทำให้การผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลงเร็วกว่าปกติ เช่น โรคไทรอยด์บางชนิด หรือโรคอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

  • การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายแสง

การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายแสง โดยเฉพาะในบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้รังไข่ได้รับความเสียหาย ซึ่งส่งผลให้รังไข่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และทำให้การผลิตฮอร์โมนเพศหญิงลดลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้เกิดอาการวัยทองก่อนวัยได้ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ร้อนวูบวาบ หรือความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น

  • การผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง

หากต้องเข้ารับการผ่าตัดเอารังไข่ออก เช่น ในกรณีที่มีซีสต์หรือเนื้องอก ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะวัยทองทันที แม้อายุยังน้อยก็ตาม เพราะไม่มีแหล่งผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจนตามธรรมชาติอีกต่อไป

วิธีรับมือและปรับสมดุลฮอร์โมน

วัยทองก่อนวัย, วัยทอง, ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย, ประจำเดือน
  • จัดการความเครียด

เมื่อเราประสบกับความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ แต่หากความเครียดยืดเยื้อ ร่างกายจะอยู่ในภาวะเครียดเรื้อรัง ทำให้คอร์ติซอลสูงเกินไป ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโทรเจน ที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์และสุขภาพโดยรวม รวมถึงการทำงานของรังไข่ ดังนั้นการควบคุมความเครียด จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสมดุลฮอร์โมน และลดความเสี่ยงจากการเข้าสู่วัยทองก่อนวัย หรือภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล

สำหรับใครที่กำลังมองหาวิธีจัดการกับความเครียดแบบเร่งด่วน สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการฝึกหายใจลึก ๆ เริ่มจากการนั่งหรือยืนตรง จากนั้นจึงหายใจเข้าอย่างช้า ๆ ค้างไว้ 3 - 5 วินาที แล้วหายใจออกช้า ๆ ทำซ้ำวนไป 5 - 10 นาที ซึ่งการหายใจลึก ๆ จะช่วยลดระดับคอร์ติซอลและกระตุ้นระบบประสาทส่วนพาราซิมพาเทติก ซึ่งจะทำให้ร่างกายผ่อนคลายและลดความตึงเครียด

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับ 7 - 8 ชั่วโมงต่อคืน จะช่วยฟื้นฟูร่างกายและรักษาสมดุลฮอร์โมน เพราะในระหว่างการนอนหลับ ร่างกายจะซ่อมแซมตัวเองและปรับสมดุลฮอร์โมน หากนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโทรเจนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังไข่และระบบสืบพันธุ์

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ นอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงแล้ว ยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนดี เช่น ฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งช่วยลดความเครียดและทำให้รู้สึกดีขึ้น การออกกำลังกายยังช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบสืบพันธุ์ และส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การเลือกกินอาหารที่มีไฟโตเอสโทรเจน เช่น ถั่วเหลือง เต้าหู้ และถั่วลิสง มีส่วนช่วยเสริมการผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงสำคัญในการรักษาสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย และช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง รวมถึงการรับประทานไขมันดี เช่น อาโวคาโด ปลาแซลมอน และเมล็ดเจีย ซึ่งมีประโยชน์ต่อการสร้างฮอร์โมนและควบคุมการทำงานของระบบฮอร์โมน

ในขณะเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูงและประเภทแปรรูป เพราะสามารถทำให้ระดับฮอร์โมนแปรปรวน โดยเฉพาะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระบบสืบพันธุ์

  • การหลีกเลี่ยงสารที่กระทบต่อฮอร์โมน

เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามีสารเคมีบางประเภทที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน เช่น พาราเบน หรือสารเคมีที่พบในพลาสติก ซึ่งอาจเข้าไปกระทบกับระบบฮอร์โมน โดยเฉพาะในกรณีที่สารเหล่านี้มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมน จึงสามารถรบกวนการทำงานของฮอร์โมนได้

แม้ว่าวัยทองก่อนวัยจะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายคน แต่ความจริงแล้วฮอร์โมนในร่างกายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะฉะนั้นจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพทั้งกายและใจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อชะลอความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และใช้ชีวิตได้อย่างมีสมดุลและมีความสุขในทุกช่วงวัย
.
อ่านบทความเคล็ดลับความสวยอื่น ๆ ได้ที่ :