รู้จัก! โรค PTSD ภาวะเครียดซึมเศร้า หลังเหตุการณ์รุนแรง!!
  1. รู้จัก! โรค PTSD ภาวะเครียดซึมเศร้า หลังเหตุการณ์รุนแรง!!

รู้จัก! โรค PTSD ภาวะเครียดซึมเศร้า หลังเหตุการณ์รุนแรง!!

ภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์ร้ายแรง หรือโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เป็นโรคเครียดที่เกิดจากการเจอกับสถานการณ์ตึงเครียด กดดัน น่ากลัว
writerProfile
18 ก.พ. 2020 · โดย

ในช่วงที่บ้านเมืองเราเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทบกับจิตใจของผู้คน อย่างที่เราเห็นตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ เลยค่ะ บางคนก็มีอาการตกใจ วิตกกังวลง่าย บางคนถึงกับขยาด กลัว ไม่กล้าไปสถานที่ที่เกิดเหตุไปเลย หรือว่าเราจะตกอยู่ในภาวะเครียดซึมเศร้าจากโรค PTSD กันแน่!

โรค PTSD คืออะไร ?

โรคเครียดซึมเศร้า ptsd

จริง ๆ โรค PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder ก็คือสภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด หรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง พบมากในทหารผ่านศึกและผู้ประสบเหตุการณ์เลวร้าย เช่น ถูกทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางเพศ, เห็นคนอื่นเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ถูกขัง ข่มขืน ปล้นฆ่า, การอยู่ร่วมในเหตุการณ์ หรืออุบัติเหตุรุนแรง เช่น การก่อจลาจล สงคราม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว น้ำท่วม เป็นต้น

ความทรงจำเหล่านี้ทำร้ายจิตใจจนทำให้เกิดความเครียด โรคซึมเศร้า ซ้ำร้ายที่สุดก็คือทำให้มีปัญหาในการทำงาน เข้าสังคม และการดำเนินชีวิตประจำวัน

Noted : ในตอนนี้ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยที่มีอาการ PTSD นี้อยู่กว่า 8 ล้านราย และ 11-20 % ของผู้ป่วย ก็คือเหล่าทหารผ่านศึกอิรักและอัฟกานิสถานนั่นเอง!

อาการของภาวะ PTSD

โรคเครียดซึมเศร้า ptsd

สำหรับอาการของโรค PTSD จะแสดงออกมาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ 1 เดือนแรกหลังจากเกิดเหตุ เรียกว่า Acute Stress Disorder (ASD) หรือ โรคเครียดฉับพลัน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือหลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือนที่เรียกว่า PTSD ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้เองค่ะ

เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือ PTSD นั้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเห็นภาพหรือฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้น เกิดความตื่นตัว ระแวดระวัง ตื่นตระหนกตกใจว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก ในด้านอารมณ์ก็ส่งผลให้เป็นคนโมโหง่าย เกรี้ยวกราด กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ และเครียดง่าย เริ่มหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น บางคนเบื่ออาหารจนน้ำหนักลง โทรม ซีด ไม่ดูแลตัวเองเหมือนเดิม ร้ายแรงที่สุดคือเริ่มรู้สึกกับตัวเองในทางลบ โทษตัวเอง ไม่มีความสุขไม่ว่าจะทำอะไร และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

เช็ก! ใครเสี่ยงเป็น PTSD บ้าง ?

โรคเครียดซึมเศร้า ptsd

คนที่เสี่ยงเป็นโรค PTSD มีดังนี้

  • คนที่เคยถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนอื่นเมื่อยังเด็ก
  • คนที่มีปัญหาในการเข้าสังคม ไม่มีเพื่อนหรือครอบครัวคอยอยู่เคียงข้าง หรือคอยช่วยเหลือ
  • คนที่ผ่านเหตุการณ์ อุบัติเหตุรุนแรง หรือเห็นคนอื่นเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา
  • คนที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวลอยู่แล้ว
  • คนที่มีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับอะไรใหม่ ๆ
  • ผู้หญิง มีแนวโน้มจะเป็น PTSD ได้มากกว่าผู้ชาย

การรักษาและการป้องกันโรค PTSD

โรคเครียดซึมเศร้า ptsd
  1. ควรส่งเสริมให้แสดงออกอารมณ์เศร้าให้เหมาะสม ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เช่น ถ้าอยากร้องไห้ให้ร้องออกมาเลย และพยายามพูดคุยทางด้านบวก สร้างแรงจูงใจที่ดี
  2. มีสติ คอยสังเกตอาการเสี่ยงของตนเองและคนรอบข้าง เช่น มีอาการหูแว่วหรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตายไหม ถ้าพบ ต้องรีบมาปรึกษากับจิตแพทย์โดยด่วน
  3. ลดการรับฟังข่าวที่ทำให้เกิดความเครียด
  4. ฝึกทำสมาธิ สวดมนต์ เล่นโยคะ ฟังเพลงเบา ๆ หรือนวดผ่อนคลาย
  5. ใครที่มีโรคประจำตัว หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ต้องดูแลตัวเองตามเดิม รับประทานยาประจำ กินอาหารและพักผ่อนตามเวลา 

หากมีอาการเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต 1323

เราจะช่วยผู้ป่วย PTSD หลังเหตุการณ์ร้ายแรงได้อย่างไร ?

โรคเครียดซึมเศร้า ptsd

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน โดยเฉพาะถ้าเรื่องเกิดกับคนใกล้ชิดหรือครอบครัวเราเอง โดยให้

1. คัดกรองดูแลกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเวช เน้นว่า "ต้องถามว่า ช่วงนี้มีความคิดอยากฆ่าตัวตายไหม" ถึงจะเป็นคำถามที่ดูรุนแรง และคนส่วนใหญ่ไม่กล้าถาม แต่ก็ควรจะต้องถาม เพราะมีงานวิจัยแล้วว่า การถามช่วยลดความเสี่ยงได้มากกว่าการไม่ถาม

2. ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือบุคคลธรรมดา เราต่างก็ต้องช่วยกันไม่เอ่ยชื่อของผู้ก่อการร้าย ไม่สนองให้เขามีชื่อเสียง ไม่ส่งต่อแนวคิด อุดมการณ์ที่ทำให้เกิดการลอกเลียนแบบทำตาม (No Notoriety) 

3. ไม่เปิดเผยชื่อและข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหยื่อข่าวออนไลน์และยังเป็นการแสดงความเคารพสิทธิในความเป็นส่วนตัว (Right to Privacy) และ สิทธิที่จะถูกลืม (Right to be Forgotten) ของเหยื่ออีกด้วย

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงในบ้านเรายังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ก็อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจของตัวเองให้ดี ไม่เสพสื่อจนเกิดความเครียด รวมทั้งช่วยกันดูแลคนใกล้ชิดที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าและโรค PTSD รวมทั้งเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของเหยื่อและครอบครัว เราเชื่อว่าเราทุกคนจะผ่านมันไปด้วยกัน

อ่านบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ