ช่วงนี้กระแส “ไอ้ไข่” กุมารเทพแห่งวัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นมาแรงมาก ด้วยขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ขออะไรก็ได้ เรียกได้ว่ากระแสดังจนมีคนดังมากมายแห่กันไปไหว้ขอพร ออกสื่อจนคนพากันไปกราบไหว้บูชากันอย่างคับคั่งตลอดช่วงปีที่ผ่านมานี้ ใครที่ยังสงสัยว่าไอ้ไข่เป็นใครมาจากไหน แล้วเราจะบูชาขอพรไอ้ไข่กันอย่างไร วันนี้ Wongnai จะมาเผยทุกเรื่องที่คุณต้องรู้ สำหรับการบูชา “ไอ้ไข่” ทั้งสถานที่บูชาไอ้ไข่ คาถาบูชาไอ้ไข่ พร้อมวิธีบนบาน แก้บน รวมถึงการตั้งหิ้งบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลกันครับ
ไอ้ไข่คือใครกันแน่ แล้วทำไมต้องเรียก “ไอ้” ด้วย?
จากการสืบค้นข้อมูลจากหลาย ๆ ที่ ก็ค้นพบว่า ตำนาน “ไอ้ไข่ วัดเจดีย์” นั้น มีด้วยกันหลากหลายคำบอกเล่าครับ บ้างก็ว่า เป็นลูกศิษย์หรืออาจจะเป็นวิญญาณเด็กที่ติดตาม “หลวงปู่ทวด” หรือที่ชาวไทยจะคุ้นเคยกับชื่อ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ที่โด่งดังในจังหวัดสงขลา ซึ่งได้ติดสอยห้อยตามมายังนครศรีธรรมราชแล้วเกิดล้มป่วย จึงได้ฝากศิษย์คนนี้ไว้กับ “ขรัวทอง” ให้ดูแลวัดแห่งนี้ เพราะญาณทิพย์ได้บอกกับท่านว่า ที่นี่เป็นศาสนสถานที่เก็บสมบัติที่จะมีความรุ่งเรืองสืบไปในอนาคต
อีกตำนานหนึ่งก็บอกว่า เป็นลูกชาวบ้านหรืออาจจะเป็นเด็กวัดที่อาศัยอยู่แถววัดเจดีย์ วันหนึ่งเกิดพลัดตกจมน้ำเสียชีวิต แล้วด้วยจิตที่ผูกพันกับวัด จึงยังคงอยู่เฝ้าที่แห่งนี้มาโดยตลอด
ไม่ว่าตำนานจะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าสงสัยลำดับถัดมาก็คือ ที่มาของชื่อไอ้ไข่ทำไมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ชื่อว่า กุมารเทพ ถึงถูกเรียกว่า “ไอ้” ที่ดูจะเป็นคำที่ไม่สุภาพนัก คำตอบนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปีพุทธศักราช 2523 ถึง 2526 ครับ เมื่อ “ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์” หรือ “อาจารย์เที่ยง หักเหล็ก” จอมขมังเวทย์ในสมัยนั้น เกิดนิมิตเห็นเด็กชายร่างเปลือยเปล่ามาบอกว่า “ขอให้แกะสลักรูปเราที เราจะได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง” อาจารย์เที่ยงยังได้ถามชื่อเสียงเรียงนามของเด็กคนนั้นมาด้วย ได้ความว่า “เราไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” นับแต่นั้นมา ชื่อไอ้ไข่จึงถูกเรียกขานกันต่อ ๆ มา พร้อมกับรูปสลักเด็กที่กล่าวกันว่า ใครมีวัว ควาย หรือสิ่งของหาย มาขอพรไว้ ก็จะได้คืน ทำให้ไอ้ไข่เป็นที่รักและเคารพของชาวบ้านเมืองสิชลนับแต่นั้นมา
อย่างไรก็ตาม คำว่าไอ้ไข่นั้นถูกเรียกติดปากกันมาด้วยความต้องการรักษาคำดั่งเดิมเอาไว้ แต่ต่อมาก็มีการเรียก “ตาไข่” ด้วยอายุที่น่าจะผ่านมานานแล้ว หรือ “บ่าวไข่” ที่หมายถึง “พี่” ในภาษาใต้ครับ
คาถาบูชาไอ้ไข่ และวิธีการบนบานศาลกล่าว
ไอ้ไข่ถือเป็นกุมารเทพ ไม่ใช่กุมารทองอย่างที่ใครหลายคนอาจเข้าใจผิดครับ วิธีบูชาไอ้ไข่เราจะเริ่มด้วย “บทสวดบูชาพระรัตนตรัย” แล้วตามด้วยการท่อง “นะโมฯ (3 จบ)” แล้วจึงกล่าวคาถาบูชาไอ้ไข่ครับ
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (กราบ)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมังนะมัสสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ (กราบ)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
อิติ อิติ กุมารไข่เจดีย์ จะ มหาเถโร ลาภะ ลาภา ภะวันตุเม
จากนั้นแล้ว หากคิดจะบนบานเพื่อขอสิ่งที่ต้องการ เราจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “สัจจะ” ครับ นั่นคือ เมื่อได้ดังที่หมายแล้ว ก็ต้องไม่ลืมที่จะมาแก้บนคืนกลับไปตามที่สัญญาเอาไว้ด้วย
วิธีบนไอ้ไข่นั้น ให้จุดธูปทั้งหมด 3 ดอก แล้วสวดตามที่กล่าวไว้ด้านบนครับ จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานให้มั่นคงแน่วแน่ แล้วขอในสิ่งที่ต้องการอย่างเฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ถ้าจะขอให้รวยหรือมีเงินทอง ก็จะต้องขอให้ชัดเจนว่าต้องการเท่าไหร่เป็นต้น
วิธีการแก้บนและของถวายแก้บนไอ้ไข่
ส่วนในการแก้บน ให้จุดธูปเพียง 1 ดอก แล้วสวดตามที่กล่าวไว้ด้านบนเช่นกันครับ จากนั้นกล่าว
"ข้าพเจ้าได้บนบานเรื่อง................เอาไว้ บัดนี้ด้วยบารมีของไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ที่ท่านได้ทำให้สมปรารถนาแล้วทุกประการ ข้าพเจ้าจึงได้นำของมาถวายเพื่อแก้บนด้วยถือสัจจะเป็นที่ตั้ง ขอให้การบนบานครั้งนี้ขาดจากกันนับแต่บัดนี้ด้วยเทอญ"
ซึ่งของที่มาถวายนั้น ตามขนบโบราณจะไม่นิยมนำมากินครับ
เราควรถวายอะไรบ้างในการแก้บน?
ถ้าใครที่เคยไปเยือนวัดเจดีย์จะทราบว่า ตลอดเส้นทางก่อนจะถึงวัดนั้น เต็มไปด้วยรูปปั้นไก่หลากหลายขนาด ยิ่งพอเข้ามาในวัดก็จะต้องตื่นตากับบรรดาไก่ปูนปั้นทั้งเล็กใหญ่หลากหลายที่ถูกนำมาใช้ในการบูชาไอ้ไข่ ใช่แล้วล่ะ “ไก่ปูนปั้น” คือหนึ่งในของที่ใช้ในการแก้บนนั่นเอง ซึ่งจำนวนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนบนบานไว้ ตั้งใจจะนำไก่ปูนปั้นมามอบให้เท่าไหร่ ซึ่งตลอดเส้นทางเข้ามาในวัดนั้น จะมีโรงงานที่ผลิตไก่เหล่านี้ไว้คอยบริการ เราจึงไม่ต้องไปหาซื้อจากที่อื่นมาก็ได้นะ
นอกจากไก่ปูนปั้นแล้ว ยังมี “ประทัด” ที่นิยมนำมาจุดกัน รวมถึง “ขนมเปี๊ยะและน้ำแดง” ที่เป็นอาหารที่ใช้นำมาถวาย ส่วนพวก “ชุดทหารตำรวจ”, “หนังสติ๊ก” และ “ของเล่นสำหรับเด็กผู้ชาย” ก็เป็นสิ่งที่นำมาถวายให้กับไอ้ไข่ได้เช่นกัน
วิธีตั้งหิ้งบูชาไอ้ไข่ที่บ้าน
แน่นอนว่า นอกจากผู้คนที่แห่แหนกันมาเคารพบูชาและสักการะขอพรกับไอ้ไข่แล้ว ทางวัดยังเปิดให้เช่าไอ้ไข่เอาไว้สำหรับพกติดตัวหรือนำไปบูชาที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย วิธีบูชาไอ้ไข่ที่บ้านนั้น หากเราต้องการจัดหิ้งสำหรับบูชา เราไม่จำเป็นที่จะต้องอัญเชิญเข้ามาในบ้าน เพราะไอ้ไข่ไม่ใช่กุมารทอง แต่ถือเป็นเทพในร่างเด็กองค์หนึ่ง โดยในการจัดหิ้ง จะต้องวางไอ้ไข่ไว้ในจุดที่ต่ำกว่า พระพุทธ พระสงฆ์ องค์กษัตริย์ องค์เทพ และนิยมหันหน้าหิ้งไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ
สำหรับอุปกรณ์ที่จะใช้ประกอบบนหิ้ง รวมถึงคำแนะนำในการบูชา มีดังนี้
- กระถางธูป 1 กระถาง
- เชิงเทียน 2 อัน (1 คู่) สามารถใช้เทียนไฟฟ้าได้
- แจกันดอกไม้ 2 อัน (1 คู่) หรือจะใช้เป็นพานแล้ววางพวงมาลัยแทนก็ได้ แต่ไม่ควรคล้องพวงมาลัยที่องค์ไอ้ไข่โดยตรง
- พานสำหรับวางของไหว้ต่าง ๆ *ไม่ควรวางของถวายกับพื้นหิ้งโดยตรง
- ภาชนะต่าง ๆ เช่น แก้ว จาน ช้อน ถ้วย *ควรแยกต่างหาก ไม่ใช้ปะปนกับคนในบ้าน
- ควรรักษาความสะอาดของหิ้งและองค์ไอ้ไข่อยู่เสมอ ไม่ควรให้รกหรือมีฝุ่นเกาะ
- หากมีผ้าแดงให้นำมาปูรองพื้นหิ้ง เชื่อว่าเป็นเคล็ดในการบูชา แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ขอให้เน้นรักษาความสะอาด
- การลาของไหว้ ตั้งนะโม 3 จบ แล้วตามด้วย “เสสัง มังคะลัง ยาจามิ”
- ของไหว้เมื่อลาเสร็จ สามารถกินได้ เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ถ้าเป็นของแก้บน โบราณถือว่าไม่ควรกิน
ทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องที่ต้องรู้ เมื่อคิดจะบูชาไอ้ไข่ วัดเจดีย์ อย่างไรก็ตาม คาถาบูชาไอ้ไข่ และการบูชาขอพรเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้พรใด ๆ ที่เราขอประสบผลสำเร็จได้ครับ เราต้องลงมือทำอย่างเต็มที่และตั้งใจไปกับมันด้วย ไม่เช่นนั้น เราคงไม่มีวันที่จะได้สมดั่งพรที่ได้ขอไปครับ
ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องต่อได้ที่