ปัจจุบันธุรกิจบนโลกออนไลน์กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบธุรกิจที่ผู้คนให้ความสนใจ ด้วยพฤติกรรมการซื้อของที่แปรเปลี่ยนไป รวมถึงเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้นและเอื้อต่อการทำธุรกิจ การขายของออนไลน์หรือทำธุรกิจออนไลน์เปรียบเสมือนช่องทางทำเงินอีกทางหนึ่ง ถึงแม้จะมีงานประจำอยู่แล้วก็สามารถมีธุรกิจส่วนตัวควบคู่กันไปด้วยได้
เทรนด์การขายของออนไลน์จึงกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ขณะที่แวดวงร้านอาหารเองก็เริ่มปรับตัว มีช่องทางเดลิเวอรีที่สามารถสั่งอาหารผ่านทางออนไลน์ได้เช่นกัน หลายๆ คนอาจสงสัยว่าแล้วเราควรเริ่มต้นการขายของออนไลน์อย่างไร ควรเตรียมตัวยังไงบ้าง วันนี้ Wongnai for Business มีคำตอบที่จะช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด!
1. หาจุดเด่นของร้านที่แตกต่างจากเจ้าอื่น

เมื่อคิดจะริเริ่มธุรกิจอะไร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารหรือธุรกิจใดๆ ปัจจัยสำคัญอย่างแรก คือการสร้างข้อแตกต่างหรือจุดโดดเด่นของร้านเรา เพราะสนามธุรกิจในโลกออนไลน์นั้นมีการแข่งขันสูงไม่แพ้กัน มองไปทางไหนก็มีสินค้ารูปแบบคล้ายกันอยู่เต็มไปหมด แล้วจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราเป็นตัวเลือกของลูกค้า
การสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวสินค้า เน้นขายลูกค้าเฉพาะกลุ่มเพื่อลดการแข่งขันได้หรือเปล่า หรือจะเป็นการสำรวจตลาดและตั้งราคาสินค้า ทำโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดใจ การออกแบบสื่อโฆษณาภาพถ่ายโปรโมทสินค้า หากเป็นธุรกิจร้านอาหารแล้ว ภาพอาหารหน้าตาน่าทานจะเป็นตัวยั่วน้ำลาย ทำให้คนอยากสั่งอาหารของร้านได้ไม่ยาก อย่าลืมลองเพิ่มเรื่องราวและคุณค่าให้กับแบรนด์และสินค้าของคุณ ทุกอย่างล้วนเป็นวิธีการดึงดูดลูกค้าได้เสมอ
2. เว็บไซต์สวยงาม ข้อมูลสินค้าชัดเจน
การขายของออนไลน์ไม่มีหน้าร้านที่จับต้องได้ นี่เป็นข้อแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปที่อาจเป็นสิ่งที่ต้องระวัง ดังนั้นหน้าร้านของธุรกิจออนไลน์จึงถูกแทนที่ด้วยเว็บไซต์หรือเว็บที่ลงขายสินค้า เว็บไซต์ของร้านควรสร้างความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรก ด้วยดีไซน์ที่สวยงาม แสดงถึงสไตล์ของสินค้าหรือแบรนด์ แต่จะสวยงามอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะสิ่งที่ลูกค้ามักจะมองหาเป็นอันดับแรกคือข้อมูลสินค้า เช่น ราคา ขนาด วัสดุ สีสัน การจัดส่งสินค้าและการจ่ายเงิน เป็นต้น

เราอาจเห็นได้ว่าหลายครั้งร้านค้าออนไลน์เสียลูกค้าไปอย่างง่ายดายเพียงเพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่ครบถ้วน ทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจไปหาร้านอื่นได้ง่ายๆ สำหรับร้านอาหารแล้ว การมีเว็บไซต์ของร้านจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจก่อนการมาทานอาหารที่ร้านอาหารของเราได้ง่ายขึ้น ทั้งรายการเมนูและราคาอาหาร ภาพบรรยากาศร้าน ข้อมูลที่ตั้งและการเดินทาง เป็นต้น
นอกจากนี้สำหรับการขายของออนไลน์โดยปกติแล้ว หากไม่มีเว็บไซต์หลักเป็นของทางร้านเอง ยังสามารถลงขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ e-commerce ได้ ซึ่งรวมรวบสินค้าหลากหลายประเภทเอาไว้ ซึ่งเว็บไซต์ e-commerce ถือเป็นช่องทางการขายที่น่าสนใจ เพราะเป็นที่รู้จักและลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า แต่ก็อาจมีการแข่งขันสูงเมื่อลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าประเภทเดียวกันจากผู้ขายคนอื่นได้เช่นกัน
3. กดซื้อสินค้าได้สะดวก ขั้นตอนไม่ซับซ้อน

สำหรับร้านค้าที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ช่องทางการชำระเงินเปรียบเสมือนด่านสุดท้ายของการซื้อขายของออนไลน์ที่หลายๆ ครั้งร้านค้าออนไลน์มักจะตกม้าตาย เพราะขั้นตอนการจ่ายเงินที่ซับซ้อนเกินความจำเป็นซึ่งอาจทำให้ลูกค้าถอดใจกับการซื้อสินค้าของคุณไปเสียก่อน คำแนะนำสองข้อหลักๆ เมื่อออกแบบเว็บไซต์และช่องการชำระเงินคือ ไม่ควรบังคับให้มีการสมัครสมาชิกของเว็บไซต์ก่อนการซื้อสินค้า และไม่ควรทำให้ขั้นตอนการชำระเงินยาวจนเกินไป พยายามอย่าเก็บข้อมูลของผู้ซื้อมากเกินความจำเป็น เมื่อมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและข้อมูลที่ต้องกรอกมากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้ลูกค้าเกิดเปลี่ยนใจระหว่างขั้นตอนการชำระเงินได้
4. โปรโมทร้านผ่านช่องทางที่หลากหลาย

เมื่อลงขายของออนไลน์แล้วก็อย่าลืมโปรโมทร้านให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย โดยปกติแล้วเวลาเราต้องการซื้อสินค้าสักอย่างหนึ่ง หรือเสิร์ชหาร้านอาหารอร่อยๆ สักร้าน เรามักจะค้นหาผ่านเว็บไซต์อย่าง Google หรือดูจากรีวิวของเพื่อน รีวิวในเว็บไซต์ หรือรีวิวตามคำแนะนำของ Influencer และผู้ใช้งาน Social media ต่างๆ ดังนั้นการโปรโมทสินค้าอาจจะไม่ใช่การยิง Ad หรือโฆษณาออนไลน์รัวๆ บน Facebook หรือ Instagram เพียงอย่างเดียว
ลองหันมาเขียนบล็อกหรือบทความที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าที่เราขาย เชื่อมโยงให้เข้ากับเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยม เพื่อให้คนที่ค้นหาข้อมูลพบเจอเว็บของร้านของเราได้ และสิ่งที่สำคัญอีกประการคือการใช้รีวิวของลูกค้าให้เป็นประโยชน์ กระตุ้นให้ลูกค้าแบ่งปันรีวิวสินค้าให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรีวิวการใช้งานผลิตภัณฑ์ รีวิวร้านอาหาร ภาพถ่ายและข้อความต่างๆ ที่ลูกค้านำมาแชร์ลง Social media เพราะ Word-of-mouth หรือการบอกต่อกัน เป็นหนึ่งในอาวุธทรงพลังที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าเลยทีเดียว
5. ตอบรับลูกค้าอย่างรวดเร็วเสมอ

ในหลายๆ ครั้งลูกค้าอาจมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้า นอกเหนือจากที่เราระบุไว้ในรายละเอียดสินค้า (แต่ก็อย่าลืมระบุข้อมูลสำคัญไว้ทุกครั้งล่ะ) อาจขอดูรูปภาพเพิ่มเติมของสินค้าประกอบการตัดสินใจ หรือทักเข้ามาสอบถามเรื่องเวลาเปิด-ปิดของร้านอาหาร วิธีการเดินทางมาที่ร้าน โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีการสั่งออนไลน์และจัดส่งเดลิเวอรีด้วยแล้ว การตอบกลับคำถามของลูกค้าอย่างรวดเร็วจะทำให้เราสามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน Customer service หรือการบริการที่ร้านไม่ควรละเลย
ปัจจุบันหลายๆ เว็บไซต์ขายของออนไลน์ได้หันมาใช้ Chat bot หรือโปรแกรมการตอบข้อความอัตโนมัติ ซึ่งสามารถตั้งค่าเกี่ยวกับคำถามที่อาจพบบ่อยได้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทำงานและตอบรับลูกค้าได้เร็วยิ่งขึ้น
6. พัฒนาเว็บไซต์และเรื่อง SEO

อย่าลืมพัฒนาเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพและเสถียรอยู่เสมอ หากได้คำติชมอะไรเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ ก็สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงเว็บให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งการใช้งานเว็บบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเพื่อความสะดวกต่อลูกค้าในการซื้อขายของออนไลน์
นอกจากนี้อย่างที่ได้เอ่ยถึงการเขียนบทความในเทคนิคก่อนหน้านี้ การทำให้เว็บไซต์ขายของออนไลน์ของร้านติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของการค้นหาในเว็บอย่าง Google เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถือเป็นช่องทางที่คนค้นหาข้อมูลและมีโอกาสมาเจอร้านของเราได้ ควรดูเรื่อง SEO (Search Engine Optimization) โดยการทำให้เว็บไซต์ของเรามีคำหรือคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องซึ่งจะทำให้เว็บติดอันดับต้นๆ ของหน้าการค้นหาได้
7. หีบห่อแข็งแรง ของถึงมืออย่างปลอดภัย

เมื่อขายของออนไลน์อย่าลืมให้ความสำคัญกับการห่อสินค้าและการจัดส่งเพื่อให้สินค้าถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัย เพราะหากมีส่วนไหนเสียหายจนต้องมีการส่งสินค้ากลับไปใหม่ อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ในด้านธุรกิจร้านอาหาร แพคเกจจิ้งเปรียบเสมือนหีบห่อที่ทางร้านไม่ควรละเลย เมื่ออาหารหรือของกินเป็นสิ่งที่เสียและควบคุมได้ยากกว่าสินค้าอื่นๆ การห่อพัสดุให้แข็งแรงและเตรียมวัสดุป้องกันการกระแทกหรือกันหกเลอะเทอะไว้ภายในกล่องจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องสินค้าเสียหายระหว่างการจัดส่ง นอกจากนี้ยังทำให้ลูกค้าวางใจในร้านของเราเมื่อต้องการสั่งสินค้าออนไลน์ในครั้งต่อๆ ไปด้วยเช่นกัน
การขายของออนไลน์ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงและยังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เลือกทางที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มาเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้ง่ายๆ ด้วยแนวทางเหล่านี้ได้เลย ไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ แต่การเปิดธุรกิจสู่โลกออนไลน์ยังสำคัญต่อธุรกิจบริการอย่างร้านอาหารอีกด้วย Wongnai for Business ยังคงมีข้อมูลข่าวสารดีๆ สำหรับการทำธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟมาฝากทุกคน ติดตามได้เลยที่ Facebook: Wongnai for Business หรือ Line OA https://lin.ee/3iai38K
สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารท่านใดสนใจ ระบบจัดการร้านอาหาร Wongnai POS สามารถลงทะเบียนและรับคำปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์กับ Wongnai ฟรี! คลิกที่นี่ได้เลย
ติดตามบทความเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเติม
- รู้ให้ทัน ใช้ให้เป็น ระบบเดลิเวอรี่เพื่อร้านอาหารยกระดับร้านสู่ยุค 4.0
- เข้าร่วมแคมเปญเพิ่มยอดขาย “อร่อยซ่าไปกับโค้ก” ดึงดูดลูกค้าด้วยเซตเมนูคู่โค้ก สื่อ และโค้ดส่วนลด
- Food Waste ภาระใหญ่ร้านอาหารกับแนวทางการตรวจสอบเพื่อลดต้นทุน
- เปิดสูตรคำนวณจุดคุ้มทุน เพิ่มยอดขายสำหรับร้านอาหาร
- ไขข้อสงสัย รวมข้อดีและข้อเสียของการเปิดจองโต๊ะร้านอาหาร
- 5 เหตุผล ทำไมร้านอาหารต้องลงทุนในเทคโนโลยี