ความกลัวต่อค้างคาวยังไม่ทันหาย ความตระหนกระลอกใหม่ก็เข้ามาแทรก! หลายคนคงจะตกใจไม่น้อยกับข่าวการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เชื่อกันว่ามาจากปลาแซลมอนในตลาดอาหารทะเลซินฟาตี้ ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทางการถึงกับสั่งปิดตลาดแห่งนี้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563 รวมทั้งตลาดค้าส่งขนาดใหญ่อีก 6 แห่งทั่วกรุงปักกิ่ง ทั่วโลกจึงกลับมาตื่นตระหนกอีกครั้ง ยิ่งสำหรับสายส้มแล้วยิ่งใจเสียกันเลยทีเดียวว่าแซลมอนของโปรดจะกลายเป็นวายร้ายนำเชื้อโคโรน่ากลับมาแพร่อีกระลอกหรือเปล่า?
1เขียงแซลมอนเจ้าปัญหา
เมื่อทางการจีนออกมาประกาศปิดตลาดซินฟาตี้ในวันที่ 13 มิถุนายน 2563 หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย จนถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อ 79 รายแล้ว ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากปลาแซลมอนในตลาดแห่งนี้ ทุกคนต่างตื่นตระหนก ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งต่างหยุดขายปลาแซลมอน และนำไปทำลายทิ้ง บริษัททั้งหลายหยุดนำเข้าแซลมอนจากต่างประเทศ แม้แต่อาหารทะเลเดลิเวอรีก็หยุดส่งชั่วคราวในหลายประเทศ เรียกได้ว่า สร้างปรากฏการณ์ความกลัวแผ่ไปทุกหย่อมหญ้า
จากการพิสูจน์เบื้องต้นโดยองค์การอนามัยท้องถิ่น พบว่า เชื้อไวรัสนี้อยู่บนเขียงที่ใช้หั่นปลาแซลมอนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
Wu Zunyu หัวหน้านักระบาดวิทยาที่ Chinese Center for Disease Control and Prevention (CDC) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนว่า “ณ ตอนนี้ มันยากที่จะบอกแหล่งที่มาของการแพร่เชื้อไวรัส และไม่สามารถสรุปได้ว่าแซลมอนเป็นต้นตอของการระบาดระลอกใหม่นี้ แค่เพราะว่าเชื้อถูกตรวจพบบนเขียง”
เนื่องจากตลาดอาหารทะเลซินฟาตี้แห่งนี้เป็นแหล่งรวมของผู้คน และสินค้าจำนวนมาก ทำให้การพิสูจน์หาต้นตอของไวรัสยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
2ปลาแซลมอนติดเชื้อไวรัสได้จริงหรือ?
ปลาจะแตกต่างจากสัตว์ป่าอย่างค้างคาว หนึ่งในความเป็นไปได้ที่พบเชื้อไวรัสบนเขียงของปลาแซลมอน อาจเพราะพื้นผิวของปลาแซลมอนปนเปื้อนเชื้อจากพนักงานที่มีเชื้อโคโรน่าอยู่แล้วนั่นเอง
เมื่อปลาแซลมอนที่ปนเปื้อนเชื้อถูกส่งออกไปยังประเทศจีน พนักงานในตลาดอาจติดเชื้อระหว่างการขนส่งหรือขณะแล่ปลา จากนั้นก็แพร่ต่อไประหว่างมนุษย์ด้วยกัน ยิ่งการขนส่งต้องใช้วิธีการแช่แข็งในอุณหภูมิที่ต่ำมากแล้วล่ะก็ เชื้อโคโรน่าอาจอยู่ได้นานหลายวันเลยทีเดียว
Cheng Gong นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิงหวา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า “เชื้อไวรัสส่วนใหญ่มักจะระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมท่านั้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ปลาแซลมอนจะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ การที่เชื้อไวรัสจะแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ยังต้องมีตัวรับ (Receptor) บนพื้นผิวเซลล์ซึ่งจะพบเฉพาะในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ไม่พบในปลา”
3แซลมอนไทยมาจากไหน?
ยอดนำเข้าแซลมอนของประเทศไทยในปี 2562 สูงถึง 4.9 พันตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 5 เท่า และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยอิทธิพลของอาหารญี่ปุ่นฟีเวอร์ทำให้ผู้คนบริโภคแซลมอนกันมากขึ้น
หลายคนอาจจะกังวลว่าแซลมอนไทยนำเข้ามาจากประเทศจีนหรือเปล่า? ซึ่งคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยรัฐว่า ประเทศไทยไม่ได้นำเข้าปลาแซลมอนจากจีน แต่มาจากประเทศหลัก 2 ประเทศคือนอร์เวย์ ในทวีปยุโรป และชิลี ในทวีปอเมริกาใต้ โดยประเทศไทยนำเข้าแซลมอนจากนอร์เวย์มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่นเลยทีเดียว!
อย่างไรก็ตาม ปลาแซลมอนที่ตลาดตลาดอาหารทะเลซินฟาตี้ ในกรุงปักกิ่ง ก็เป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศนอร์เวย์เช่นกัน ขณะนี้ทางการจีนกำลังตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนในปลาแซลมอนนี้มาจากไหนกันแน่
4แล้วเรายังกินแซลมอนได้ไหม?
Hong Kai ผู้เชี่ยวชาญจาก Chinese Preventive Medicine Association แนะนำว่า “ประชาชนไม่ควรกินแซลมอนดิบในช่วงนี้ จนกว่าผลการพิสูจน์เชื้อจะออกมาอย่างชัดเจน”
เมื่อเปรียบเทียบกับการกินแล้ว “การเลือกซื้อหรือการทำอาหารมีความเสี่ยงสูงกว่า” ผู้เชี่ยวชาญของจีนจึงแนะนำการเตรียมอาหาร ดังนี้
ส่วนใครที่จะเดินทางไปเลือกซื้องของในตลาด แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือให้สะอาดเมื่อกลับมาถึงบ้าน ในส่วนของภาครัฐ ควรคุมเข้มสินค้าแช่แข็งและสินค้านำเข้าให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
แม้การพิสูจน์จะยังไม่แน่ชัด แต่ระหว่างนี้ก็อย่านิ่งนอนใจ วลี “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่เว้นแม้แต่ตอนนี้ที่การระบาดของไวรัส COVID-19 ยังไม่หมดไป ส่วนสาวกแซลมอนก็ไม่ต้องเสียใจ แค่กินแบบปรุงสุกก็ปลอดภัยหายห่วง!
ข้อมูลอ้างอิง
CGTN, 2563. “Off the shelves in Beijing, is salmon guilty of spreading coronavirus?” [online]. เข้าถึงจาก https://news.cgtn.com/news/2020-06-14/Off-the-shelves-in-Beijing-is-salmon-guilty-of-spreading-coronavirus--Rj33sh4b8Q/index.html สืบค้น 16 มิถุนายน 2563
Fortune, 2563. “How Beijing’s second coronavirus wave triggered a salmon boycott” [online]. เข้าถึงจาก https://fortune.com/2020/06/15/china-coronavirus-beijing-outbreak-salmon/ สืบค้น 16 มิถุนายน 2563
ไทยรัฐออนไลน์, 2563. “แหล่งที่มาแซลมอน ในไทย คนผวาติดเชื้อโควิด กลัวซ้ำรอยจีน ระบาดรอบ 2” [online]. เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1869613 สืบค้น 17 มิถุนายน 2563
ใครสนใจบทความให้ความรู้อื่น ๆ ไปตามอ่านกันเลย!