เจาะ!โควิด-19 ทุกสายพันธุ์ และวัคซีนที่มี ตัวไหนป้องกันกี่เปอร์เซ็นต์?
  1. เจาะ!โควิด-19 ทุกสายพันธุ์ และวัคซีนที่มี ตัวไหนป้องกันกี่เปอร์เซ็นต์?

เจาะ!โควิด-19 ทุกสายพันธุ์ และวัคซีนที่มี ตัวไหนป้องกันกี่เปอร์เซ็นต์?

ในยามที่โลกเราถูกปกคลุมไปด้วยเชื้อไวรัสโคโรนา แถมโควิดยังกลายพันธุ์อีกหลายสายพันธุ์ นาทีนี้เรามาเจาะลึกกันหน่อยว่าข้อมูลที่ถูกรวบรวมมาตอนนี้เขาพูดถึงอะไรกันอยู่
writerProfile
28 มิ.ย. 2021 · โดย

อย่างที่เราทุกคนรู้ว่าเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 (COVID-19) ปัจจุบันนี้ได้ทวีเพิ่มความรุนแรงจนเป็นไวรัสนักฆ่าที่ใครก็ปฏิเสธความน่ากลัวของมันไม่ได้ แถมยิ่งผลิตวัคซีนออกมามากเท่าไร โควิด-19 ก็ยิ่งพัฒนาตัวเองนำหน้าไปอีก เพราะฉะนั้นทางเดียวที่เราจะเอาชนะเหตุการณ์ไวรัสกลายพันธุ์คือ ต้องควบคุมและหยุดการกลายพันธุ์ให้เร็วที่สุด การทำความเข้าใจประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ลักษณะและอาการของแต่ละสายพันธุ์ก็เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าใครในยุคนี้ก็จำเป็นต้องรู้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นอย่ารอช้า เรามาเริ่มศึกษากันตั้งแต่สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์และน่ากังวลที่สุดกันก่อนเลยดีกว่า เราจะชนะไปด้วยกัน!

อัปเดตล่าสุด : สายพันธุ์โควิด-19 ที่กลายพันธุ์

อัปเดตโดย World Health Organization (WHO) วันที่ 15 มิถุนายน 2564

ขอเท้าความโดยขออธิบายแบบเข้าใจง่ายก่อนเลย อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่าโควิด-19 มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า SARS-CoV-2 และเริ่มแรกเลยคือมีการกลายพันธุ์แบบ D614G หรือก็คือแบบที่เราพบทั่วไปในทั่วโลกในปัจุบัน โดยการกลายพันธุ์นี้ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ดีกว่า (more infectious) และแพร่กระจายและติดต่อได้ดีขึ้น (more transmissible) ทุกคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญนะ แต่เราอยากให้จำ D614G ไว้ให้ดีเลย เพราะเวลาที่วัคซีนตัวไหนเคลมว่าป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ D614G จะได้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงอะไรนั่นเองค่ะ

สำหรับคนที่อยากรู้รายละเอียดเชิงวิชาการมากขึ้นเกี่ยวกับ D614G สามารถตามไปอ่านต่อได้ที่ ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับไวรัส SARS-CoV-2: ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19

ส่วนที่เราจะกล่าวต่อไปนี้คือระบบการตั้งชื่อที่จัดตั้งขึ้นสำหรับการตั้งชื่อสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์จาก SARS-CoV-2 โดยจริง ๆ แล้วจะมี 3 ระบบ แบ่งออกเป็นการเรียกชื่อแบบ GISAID, Nextstrain และ Pango (วันนี้เราจะขอยกมาแค่แบบ Pango lineage เท่านั้น) แต่ 3 แบบนี้อ่านยาก คนที่ใช้จริง ๆ ก็มีแค่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ จนกระทั่ง WHO เข้ามาช่วยตั้งชื่อให้ง่ายขึ้น เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ให้แบบว่าพูดถึง เบต้า เดลตา อัลฟา เป็นอันรู้กันว่าคือสายพันธุ์อะไร ถูกต้องแล้วค่า WHO ก็เลยหยิบยกตัวอักษรกรีกมา label แต่ละสายพันธุ์ซะเลย

โควิดสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VARIANT OF CONCERN)

ต่อไปนี้เป็นรายชื่อผู้เข้ารอบที่เราเห็นที่ไหน เฝ้าระวังทันที ยิ่งมีข่าวว่าระบาดหนักเท่าไรยิ่งต้องกังวลให้มากเข้าไว้ อย่าใช้ชีวิตปกติแต่จงระลึกไว้เสมอว่า Social Distancing กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน ล้างมือบ่อย ๆ บริษัทก็ควรอย่าเพิ่งเร่งการหยุด Work From Home ของพนักงาน และถ้าเป็นไปได้อดใจเที่ยวไว้สักหน่อย อย่าเพิ่งฮอปปิง รอสถานการณ์ดีขึ้นก่อนนะทุกคน

ไวรัสกลายพันธุ์โควิดสายพันธุ์อังกฤษ อัลฟา
  • สายพันธุ์อังกฤษ : อัลฟา (Alpha)
    Pango lineage : B.1.1.7 
    Spike Protein Substitutions:
    69del, 70del, 144del, (E484K*), (S494P*), N501Y, A570D, D614G, P681H, T716I, S982A, D1118H (K1191N*)
    ถ้าใครไม่รู้ว่าโควิดอัลฟาที่เขาพูดถึงกันเนี่ยคืออะไร ถ้าบอกว่าโควิดสายพันธุ์อังกฤษคงจะร้อง "อ๋อ" ขึ้นมาทันที จริง ๆ แล้วสายพันธุ์ B.1.1.7 เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ก่อนจะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ในจีโนม 69-70del ในยีน S ซึ่งเป็นที่สนใจของห้องปฏิบัติการมาก เพราะอาจส่งผลต่อรูปแบบการตรวจหาเมื่อใช้การทดสอบ PCR วินิจฉัยระดับโมเลกุล ที่สำคัญคือ ตัวเขาเนี่ยมีความสามารถในการแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายขึ้น ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น และอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากขึ้นด้วย

  • สายพันธุ์แอฟริกาใต้ : เบต้า (Beta)
    Pango lineage : B.1.351 
    Spike Protein Substitutions:
    D80A, D215G, 241del, 242del, 243del, K417N, E484K, N501Y, D614G, A701V
    แอฟริกาใต้รายงานสายพันธุ์ใหม่ 501Y.V2 (เชื้อสายของ B.1.351) ในปลายปี พ.ศ. 2563 N501Y ไปกลายพันธุ์ร่วมกันกับ B.1.1.7 ของสหราชอาณาจักร แต่ทั้งสองสายพันธุ์มีความแตกต่างทางสายวิวัฒนาการ ทำให้สายพันธุ์นี้แพร่กระจายและติดต่อ แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่า B.1.351 ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น

  • สายพันธุ์บราซิล : แกมม่า (Gamma)
    Pango lineage : P.1 
    Spike Protein Substitutions:
    L18F, T20N, P26S, D138Y, R190S, K417T, E484K, N501Y, D614G, H655Y, T1027I
    จริง ๆ แล้วรายงานแรกของสายพันธุ์นี้มากจากประเทศญี่ปุ่นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 เมื่อตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวในนักเดินทางจากบราซิล ไวรัสสายพันธุ์นี้ถูกตรวจพบครั้งแรกในเมืองมาเนาส์ ประเทศบราซิล เมืองหลวงของรัฐอเมซอนนัส ซึ่งผลการตรวจในเดือนธันวาคม 2563 ระบุว่าในตัวอย่างที่ทดสอบเป็นสายพันธุ์ P.1 ถึง 42%  แถมการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังบ่งชี้ว่า P.1 มีความสัมพันธ์กับการแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้นและยังเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อซ้ำอีกด้วย

  • สายพันธุ์อินเดีย : เดลตา (Delta)
    Pango lineage : B.1.617.2 
    Spike Protein Substitutions:
    T19R, (G142D*), 156del, 157del, R158G, L452R, T478K, D614G, P681R, D950N
    นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จักโควิดสายพันธุ์อินเดีย หรือที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า โควิดเดลตา ซึ่งแน่นอนว่ามาแบบ Full Option ทั้งเพิ่มความสามารถในการแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายขึ้น ลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน ลดประสิทธิภาพของโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) บางชนิด คือ สารที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้มีกลไกยับยั้งไวรัสที่ต้องการทดสอบ เอาเป็นว่ามาทีหลังและมาแรงกว่าใครเพื่อนนั่นแหละค่ะ ทำความรู้จักสายพันธุ์นี้เพิ่มเติม คลิกเลย >> อาการใหม่ของโควิดสายพันธุ์เดลตา  

โควิดสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (VARIANT OF INTEREST)

มาถึงฝั่งที่ถึงจะไม่รุนแรงเท่า แต่ก็ปล่อยให้คลาดสายตาไม่ได้กันบ้างดีกว่า โดยในฝั่งนี้เราจะไม่ได้พูดถึงเจาะลึกมากนัก ในอนาคตถ้ามีโอกาสจะมาอธิบายเพิ่มเติมให้ทุกคนกระจ่างแจ้งมากขึ้นอีกครั้งค่ะ

ไวรัสกลายพันธุ์โควิดสายพันธุ์อินเดีย เดลตา
  • สายพันธุ์สหรัฐอเมริกา : เอฟไซลอน (Epsilon)
    Pango lineage : B.1.427/B.1.429
    B.1.427 Spike Protein Substitutions: L452R, D614G
    B.1.429 Spike Protein Substitutions: S13I, W152C, L452R, D614G
    ทั้งสองสายพันธุ์เพิ่มการแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายขึ้น ~20% , ลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน (Reduced neutralization by post-vaccination sera) และลดประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของยา bamlanivimab และยา etesevimab

  • สายพันธุ์บราซิล : เซตา (Zeta)
    Pango lineage : P.2
    Spike Protein Substitutions: E484K, (F565L*), D614G, V1176F
    ลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน (Reduced neutralization by post-vaccination sera) และลดประสิทธิภาพของโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) บางชนิด คือ สารที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้มีกลไกยับยั้งไวรัสที่ต้องการทดสอบ

  • พบในหลายประเทศ : เอตา (Eta)
    Pango lineage : B.1.525 
    Spike Protein Substitutions:
    A67V, 69del, 70del, 144del, E484K, D614G, Q677H, F888L
    มีประสิทธิภาพในการลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันช่วงพักฟื้นและหลังฉีดวัคซีนอย่างมาก (Potential reduction in neutralization by convalescent and post-vaccination sera) ลดประสิทธิภาพของโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) บางชนิด คือ สารที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้มีกลไกยับยั้งไวรัสที่ต้องการทดสอบ

  • สายพันธุ์ฟิลิปปินส์ : เธตา (Theta)
    Pango lineage : P.3 
    Spike Protein Substitutions:
    N501Y, E484K, P681H, N-terminal LGV141-143del
    มีความสามารถในการแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายขึ้น เพิ่มความรุนแรงและเปลี่ยนแปลงอาการของโรค ลดประสิทธิผลของมาตรการด้านสาธารณสุข หรือการวินิจฉัย วัคซีน รวมถึงการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

  • สายพันธุ์สหรัฐอเมริกา : ไอโอตา (Iota)
    Pango lineage : B.1.526
    Spike Protein Substitutions:
    (L5F*), T95I, D253G, (S477N*), (E484K*), D614G, (A701V*)
    ลดประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของยา bamlanivimab และยา etesevimab แล้วยังลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันช่วงพักฟื้นและหลังฉีดวัคซีน (Reduced neutralization by convalescent and post-vaccination sera) อีกด้วย

  • สายพันธุ์อินเดีย : แคปปา (Kappa)
    Pango lineage : B.1.617.1 
    Spike Protein Substitutions:
    (T95I), G142D, E154K, L452R, E484Q, D614G, P681R, Q1071H
    ลดผลการทดสอบการตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน (Reduced neutralization by post-vaccination sera) และลดประสิทธิภาพของโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) บางชนิด คือ สารที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้มีกลไกยับยั้งไวรัสที่ต้องการทดสอบ

  • สายพันธุ์เปรู : แลมบ์ดา (Lambda)
    Pango lineage : C.37
    Spike Protein Substitutions:
    G75V, T76I, del247/253, L452Q, F490S, D614G, T859N
    นอกเหนือจากโควิดเดลตาแล้ว ขอแนะนำตัวนี้ให้รู้จักอีกตัวที่น่าเฝ้าระวัง เพราะพบใน 29 ประเทศเรียบร้อยแล้ว แถม WHO ยังออกมาพูดว่ามันยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม บอกได้เพียงแต่ว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง

แล้วตอนนี้ในประเทศไทยมีโควิด-19 กี่สายพันธุ์?!

สายพันธุ์โควิดในประเทศไทย

รายงานจาก Hfocus ดังนี้ว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยจากการตรวจสอบสายพันธุ์โควิด-19 ที่พบในประเทศไทย จากตัวอย่างเชื้อที่ส่งเข้ามายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 13 มิ.ย. 64 เป็นจำนวน 5,055 ตัวอย่าง พบว่ามีสายพันธุ์ในไทย ดังนี้

  • สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 4,528 ราย คิดเป็น 89.6%
  • สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 496 ราย คิดเป็น 9.8%
  • สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 31 ราย คิดเป็น 0.6%

ทางด้าน นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจสายพันธุ์ต่าง ๆ เป็นการสุ่มตรวจเพื่อเป็นแนวทางเฝ้าระวัง โดยจะสุ่มตัวอย่างจาก...

  1. กลุ่มที่มีอาการรุนแรง
  2. กลุ่มที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่
  3. พื้นที่ที่ไม่เคยระบาดแต่มีการพบเชื้อ
  4. ตามชายขอบชายแดน
  5. กลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ

เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ : เว็บไซต์รัฐบาลอังกฤษ GOV.UK รายงานในวันที่ 27 พ.ค. 64 ว่าสายพันธุ์ C.36.3 ถูกพบในไทยที่แรก! ในขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวใน Bangkok Post ว่า สายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดจากประเทศอียิปต์ ฉะนั้นจะกล่าวว่าเป็นสายพันธุ์ไทยไม่ได้!

ประสิทธิภาพการป้องกันโรคของวัคซีน

ต่อไปนี้เป็นตารางอธิบายประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีนกับโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีรายงานในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น Pfizer/ BioNTech ของสหรัฐอเมริกา-เยอรมัน, Moderna จากอเมริกา, AstraZeneca ของอังกฤษ น้องใหม่ไฟแรงจากอเมริกาอย่าง Novavax อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีน Novavax คลิก >> ความหวังใหม่! Novavax เผยผลทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนโควิดสูงกว่า 90% , Sputnik-V ของรัสเซีย, Johnson & Johnson ของอเมริกาอีกหนึ่งตัว หรือจะ Sinopharm ของประเทศจีน ก็รวบรวมไว้หมดแล้ว!

ประสิทธิภาพการป้องกันโรคของวัคซีน pfizer modernav sinovac astrazeneca

หมายเหตุ : เพิ่มเติมนิดหน่อยเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นนะทุกคน ก็คือตรงที่เขาบอกว่าวัคซีนอื่น ๆ ที่ใช้ mRNA เนี่ย หมายถึงวัคซีนที่ใช้ mRNA-based ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 หรือไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดวัคซีนเข้ามาในร่างกายมนุษย์ ตัวสารพันธุกรรมจะทำร่างกายมนุษย์สร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมานอกเหนือจากตัว mRNA ข้างต้นที่กล่าวถึงไปแล้วอย่าง Pfizer/ BioNTech และ Moderna

ส่วนวัคซีนอื่น ๆ ทุกชนิด ก็หมายถึงวัคซีนที่ไม่ได้ใช้ mRNA-based เลย แต่ใช้เป็นวิธีอื่น ๆ เช่น แบบ Viral Vector Vaccine (ใช้หลักการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปในไวรัสพาหะชนิดอื่นๆ เช่น adenovirus เพื่อพาเข้ามาในร่างกายมนุษย์ และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาได้) แบบเดียวกับ AstraZeneca, แบบ Protein-based Vaccine (ใช้เป็นชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส เช่น โปรตีนส่วนหนาม หรือ spike protein) แบบเดียวกับ Novavax และสุดท้าย แบบวัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) ผลิตโดยการใช้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้ว ตัวเด็ด ๆ ที่เรารู้จักกันในประเทศไทยก็คือ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ของบริษัทซิโนแวค (SinoVac) ประเทศจีนนั่นเองค่า 

ที่มา ตารางแสดงประสิทธิภาพการป้องกันโรคของวัคซีน : Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) ตีพิมพ์ 4 มิ.ย. 2564

ก่อนจากกันวันนี้ เราอยากให้ทุกคนค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ตัดสินใจฉีดวัคซีนที่ตัวเองศึกษามาอย่างดีแล้วจริง ๆ ว่าดีที่สุด ขอย้ำว่า ศึกษาอย่างดีที่สุดก่อน เพราะต่อให้ไวรัสโคโรนายังมีแนวโน้มกลายพันธุ์ออกมาทำให้อาการของการติดเชื้อเข้าขั้นน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีหวังทีเดียว ถ้าเราเรียนรู้และทำความเข้าใจกันซะตั้งแต่ตอนนี้ว่า ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ไหนต้องปราบด้วยวัคซีนตัวไหน ในขณะเดียวกันกับที่นักวิจัยและพัฒนาก็เร่งทำหน้าที่ของตนกันอย่างเต็มที่เพื่อให้มีวัคซีนที่ดีที่สุดอยู่นั้น เราเชื่อว่าวันใดวันนึงเราจะสามารถเอาชนะไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ลงได้ในไม่ช้า! 

สำหรับใครที่สนใจศึกษาข้อมูลของวัคซีนตัวอื่น ๆ แบบเจาะลึก ไปอ่านต่อกันได้เลยที่...

References

World Health Organization. (2021) "Tracking SARS-CoV-2 variants" เข้าถึงได้จาก https://www.who.int/en/activities/tracking-SARS-CoV-2-variants/ สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

Centers for Disease Control and Prevention. (2021) "SARS-CoV-2 Variant Classifications and Definitions" [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/variants/variant-info.html สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

Thermo Fisher Scientific. (n.d.) "Emerging SARS-CoV-2 Mutations and Variants" [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.thermofisher.com/th/en/home/clinical/clinical-genomics/pathogen-detection-solutions/covid-19-sars-cov-2/mutations-variants.html สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (n.d.) "ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับไวรัส SARS-CoV-2: ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19" [Online]. เข้าถึงได้จาก https://pidst.or.th/A966.html สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

Rappler. (2021) "COVID-19 Philippine variant? Call it 'Theta,' says WHO" เข้าถึงได้จาก https://www.rappler.com/nation/who-says-call-covid-19-philippine-variant-theta สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

Cold Spring harbor Laboratory. (2021) "https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2021.03.06.434059v2.full" [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2021.03.06.434059v2.full สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

India Today. (2021) "Lambda: New Covid variant found in 29 countries, designated 'Variant Of Interest' by WHO | All you need to know" [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.indiatoday.in/coronavirus-outbreak/story/lambda-variant-covid-coronavirus-covid19-new-variant-all-you-need-to-know-1816702-2021-06-18 สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

ศูนย์ข่าวเฝ้าระวังโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2021) "Update ข้อมูลวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19" [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.med.cmu.ac.th/covid19/ข่าวเด่น/3455 สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. (2021) "กรมวิทย์เผยไทยยังพบโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ส่วนเดลต้า(อินเดีย) ล่าสุดพบ 496 คน มากสุดกทม." [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.hfocus.org/content/2021/06/21899 สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

Bangkok Post. (2021) "'Thai variant' detected in UK" [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2123211/thai-variant-detected-in-uk สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

GOV.UK. (2020) "Confirmed cases of COVID-19 variants identified in UK" [Online]. เข้าถึงได้จาก https://www.gov.uk/government/news/confirmed-cases-of-covid-19-variants-identified-in-uk สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.

IHME. (2021) "COVID-19 vaccine efficacy summary" [Online]. เข้าถึงได้จาก http://www.healthdata.org/covid/covid-19-vaccine-efficacy-summary สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564.