งานหนักฆ่าคนตายได้จริง Karoshi Syndrome  อาการจากการทำงานหนักเกินไป
  1. งานหนักฆ่าคนตายได้จริง Karoshi Syndrome อาการจากการทำงานหนักเกินไป

งานหนักฆ่าคนตายได้จริง Karoshi Syndrome อาการจากการทำงานหนักเกินไป

ใครบอกงานหนักไม่ทำให้ใครตาย มารู้จักกับ Karoshi Syndrome อาการจากการทำงานหนักที่พิสูจน์ว่างานหนักฆ่าคนตายได้จริงๆ
writerProfile
8 ก.พ. 2023 · โดย

ในโลกทุนนิยมที่ต้องมีการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายในด้านการทำงาน และต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การทำงานเพื่อเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และการวัดผล KPI เพื่อวัดประสิทธิภาพที่จับต้องได้ ทำให้เกิดวลีที่ว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ไม่เคยมีใครตายเพราะทำงานหนัก” เพื่อปลุกใจให้แรงงานตัวเล็กๆ กลับมามีไฟอีกครั้งหนึ่ง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของการทำงานที่หนักจนเกินพอดี ก่อให้เกิดอาการจากการทำงานหนัก หรือ Karoshi Syndrome ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 745,000 คนต่อปี 

Karoshi Syndrome อาการจากการทำงานหนัก

Karoshi Syndrome อาการจากการทำงานหนัก

Karoshi Syndrome เป็นโรคที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ต้องเร่งฟื้นฟูประเทศ และต้องการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ ทำให้มีชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้น และเพราะว่าประชากรมีไม่เพียงพอ ทำให้พนักงานต้องแบกรับภาระงานที่หนักเกินตัว ทำให้ต้องทำงานล่วงเวลาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น คุณมิวะ ซาโดะ นักข่าวช่อง NHK ที่เสียชีวิตตอนอายุแค่ 31 ปี เพราะทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเธอได้พักแค่ 2 วันต่อเดือนเท่านั้น และวัฒนธรรมการทำงานหนัก = ดี ก็ได้ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน โรคคาโรชิ หรือ Karoshi Syndrome นี้ มักจะเกิดจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเกิดอาการเหนื่อยล้าของร่างกาย เครียดสะสม และอาจจะนำไปสู่อาการหัวใจวายเฉียบพลัน มักเกิดกับคนที่ทำงานหนัก กดดัน ไม่มีเวลาพักผ่อน สัญญาณเตือนก็อย่างเช่น ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ และปวดท้อง

เช็คลิสต์ ปัจจัยเสี่ยง Karoshi Syndrome

  • ทำงานหนักติดต่อกันจนไม่ได้พักผ่อน
  • นอนหลับไม่สนิท คิดเรื่องงานตลอดเวลา
  • ไม่ได้ออกไปทำอะไรที่ชอบ
  • ทำ OT เฉลี่ย 37 ชั่วโมงขึ้นไปในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
  • เจอเหตุการณ์เครียด กดดัน การเปลี่ยนแปลงกระทันหัน
  • งานไม่มีความสม่ำเสมอ ต้องทำงานเป็นกะ
  • ไม่มีเวลาออกกำลังกาย หรือทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ไม่เคยได้ใช้วันลา หรือลาลำบาก เพราะห่วงงาน

วิธีป้องกันไม่ให้เกิด Karoshi Syndrome

  • เลือกบริษัทที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ดี สามารถแบ่งงานให้พนักงานอย่างเหมาะสม และมีเวลาพักผ่อน
  • แบ่งเวลาการทำงานและเวลาพักผ่อนอย่างชัดเจน
  • ออกไปทำอะไรที่ชอบบ้าง
  • หันมาใส่ใจตัวเองและคนรอบข้างให้มากขึ้น
  • อย่าหักโหม ไม่ไหวก็ควรพัก
  • หาเวลาคลายเครียดบ้าง ปล่อยวางให้เป็น

เกณฑ์การวินิจฉัยโรค Karoshi Syndrome

หลายๆ คนอาจจะคิดว่า จริงๆ แล้วโรคหลอดเลือดในสมองแตก หรือโรคหัวใจวาย ก็อาจจะมาจากปัจจัยอื่นๆ ได้เช่นกัน ทำไมต้องโทษว่างานหนักฆ่าคนตายด้วย เว่อร์ไปหรือเปล่า! ถึงจะก้ำกึ่งและวินิจฉัยได้ยากก็จริง แต่ก็มีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคคาโรชิอยู่นะ ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่จะเอามาวินิจฉัยโรคคาโรชินั้น ก็จะมีระยะเวลาการทำงานหนัก และความเครียดที่เกิดจากการทำงาน เช่น ทำ OT เฉลี่ย 37 ชั่วโมงขึ้นไปในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หรือทำงานเต็มที่ 84 ชั่วโมงทุกสองสัปดาห์ มีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานเกิดขึ้น มีการทำงานหนักในระยะสั้นและระยะยาวติดต่อกันก่อนเสียชีวิต ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้ก็จะเป็นตัวชี้วัด ว่าเสียชีวิตจากการทำงานจริงหรือเป็นเพราะปัจจัยอื่น 

การชดเชยจากการเสียชีวิตเพราะ Karoshi Syndrome

ตามเกณฑ์ของประกันสังคม หากว่าเกิดการเสียชีวิต หรือสูญหายในระหว่างการทำงาน ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ตามกฎหมายจะได้รับเงินชดเชย 70% ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 10 ปี จ่ายค่าทำศพ ให้ผู้จัดการศพของลูกจ้างที่เสียชีวิต 5 หมื่นบาท

สำหรับใครที่เป็น Workaholic ต้องเตือนตัวเองเลยนะคะ ว่าหาเวลาพักบ้าง การตั้งใจทำงาน การมีแพชชั่นกับงานเป็นสิ่งที่ดี การทำงานช่วยทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าและสามารถหาเงินมาใช้ได้อย่างมีความสุขก็จริง แต่การที่โหมงานหนักอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำงานจนรู้สึกล้า ก็อาจจะเสี่ยงให้เกิดโรคคาโรชิได้ นอกจากลูกจ้างจะเตือนตัวเองแล้ว บริษัทและนายจ้างเอง ก็ควรจะหันกลับมาตระหนักถึงความร้ายแรงของ Karoshi Syndrome ให้มากขึ้นด้วย ว่าควรจะปรับระบบการทำงานอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฎกรรมแบบนี้อีก เพราะเราทุกคน ก็ต่างเป็นคนสำคัญของใครคนหนึ่ง ถึงจะทำงานจนมีเงินเป็นล้าน ก็ซื้อเมื่อวานและซื้อชีวิตคนกลับคืนมาไม่ได้ 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Reference 

Frank Pega. 2021. “Global, regional, and national burdens of ischemic heart disease and stroke attributable to exposure to long working hours for 194 countries, 2000–2016: A systematic analysis from the WHO/ILO Joint Estimates of the Work-related Burden of Disease and Injury” [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0160412021002208 สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566

Paul A. Herbig, Frederick A. Palumbo. 1994. “Karoshi: Salaryman Sudden Death Syndrome” [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.emerald.com/insight/content/doi/10.1108/02683949410075831/full/html สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566

Jobsdb. 2022. “คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) งานหนักไม่เคยฆ่าใคร แต่เราอาจตายเพราะบ้างาน” [Online] เข้าถึงได้จาก : https://th.jobsdb.com/th-th/articles/karoshi-syndrome/ สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566

สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย. 2020. “เกณฑ์วินิจฉัยโรค Karoshi” [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.aoed.org/articles/2020/september/karoshi/ สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566