การเปิดตำแหน่งงานให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อย่างการให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำอาชีพที่คนไทยไม่นิยมทำ เพราะเป็นอาชีพที่ลำบากและได้ค่าแรงที่ไม่คุ้มค่า แรงงานจากประเทศที่ค่าแรงน้อยกว่า ก็จะได้เข้ามาทำงานแทนคนไทย และได้เก็บภาษีเข้าระบบ แต่ก็มีอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น ที่คนต่างชาติหลาย ๆ คนเข้ามาทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพผิดกฎหมายในไทย และไม่ต่างจากการเป็นผีน้อย มาดูกันค่ะ ว่าอาชีพที่คนต่างด้าวห้ามทำ มีอะไรบ้าง?
อาชีพที่คนต่างด้าวห้ามทำ ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีทั้งหมด 40 อาชีพด้วยกัน แบ่งเป็นอาชีพที่คนต่างด้าวห้ามทำเด็ดขาด เป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น 27 งาน และอีก 13 งานที่เหลือ เป็นงานที่คนต่างด้าวทำได้ แต่มีเงื่อนไขในการจ้างงาน
อาชีพที่คนต่างด้าวห้ามทำโดยเด็ดขาด สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น !

- งานขับขี่ยานยนต์ (ยกเว้นขับรถยก)
- งานตัดผม/เสริมสวย
- งานนายหน้า/ตัวแทน
- งานนวดไทย
- งานทอผ้าด้วยมือ
- งานทำเครื่องดนตรีไทย
- งานมัคคุเทศก์
- งานเร่ขายสินค้า
- งานเลขานุการ
- งานบริการทางกฎหมาย
- งานขายทอดตลาด
- งานฝีมือต่าง ๆ
- งานแกะสลักไม้
- งานเจียระไนเพชร/พลอย
- งานทอเสื่อ
- ทำกระดาษสาด้วยมือ
- ทำเครื่องเขิน
- ทำเครื่องถม
- ทำเครื่องเงิน/ทอง/นาก
- ทำเครื่องลงหิน
- ทำตุ๊กตาไทย
- ทำบาตร
- ทำพระพุทธรูป
- ทำร่ม
- งานมวนบุหรี่
- งานเรียงอักษร
- งานสาวบิดเกลียวไหม
งานที่มีเงื่อนไขตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
– วิชาชีพบัญชี
– วิชาชีพวิศวกรรม
– วิชาชาชีพสถาปัตยกรรม
งานฝีมือหรือกึ่งฝีมือ ทำได้แต่ต้องมีนายจ้างเป็นคนไทย
- งานกสิกรรม
- งานทำที่นอน
- งานทำรองเท้า
- งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย
- งานก่อสร้างอื่นๆ
- งานทำมีด
- งานทำหมวก
- งานปั้นดินเผา
งานที่อยู่ภายใต้ MOU ต้องมีนายจ้างเป็นคนไทย และเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย
- งานกรรมกร
- งานขายของหน้าร้าน
ทำไมอาชีพเหล่านี้ ถึงเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น?
เพราะค่าแรงที่ใช้จ้างงานเหล่านี้ เป็นค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำ และเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนที่มีวุฒิการศึกษาน้อย หรือคนที่ไม่มีวุฒิการศึกษาให้สามารถประกอบอาชีพเหล่านี้เพื่อเลี้ยงชีพได้ ซึ่งถ้าหากปล่อยให้คนต่างชาติ เข้ามาประกอบอาชีพเหล่านี้ ด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่าครึ่ง อาจจะเป็นการตัดช่องทางทำมาหากินของคนไทยได้ และยิ่งที่ให้คนที่ไม่มีทุนทรัพย์ หรือคนที่ไม่ได้จบวุฒิสูง ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ลำบากขึ้นไปอีก ส่วนงานที่อยู่ภายใต้ MOU หรืองานที่มีนายจ้างเป็นคนไทย ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ เพราะไม่คุ้มค่าแรง เป็นประโยชน์ให้นายจ้างสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และสามารถจ้างแรงงานด้วยเรทที่ไม่สูงเกินไป เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้ผลประโยชน์ทั้งฝั่งนายจ้างที่หาแรงงาน และลูกจ้างที่อยากหางานทำ
โทษของการทำอาชีพผิดกฎหมายในไทย
ลูกจ้าง
- โทษปรับ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง
นายจ้าง
- โทษปรับ 10,000-100,000 บาท/การจ้างคนต่างด้าวหนึ่งคน
- ทำผิดซ้ำ โทษปรับ 50,000-200-0000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี และขึ้นบัญชีห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวอีก 3 ปี
ถ้าพบเห็นผีน้อยในไทย ต้องทำอย่างไร?
ใครที่พบเห็นการจ้างงานที่ผิดกฎหมาย แจ้งเบาะแสได้ที่
- สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด
- ติดต่อกระทรวงแรงงานที่เบอร์ 1506 กด 2
- สายด่วนกรมการจัดหางาน เบอร์ 1694
- กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน เบอร์ 02-354-1729
Reference :
OpenDevelopment. 2018. "พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (2017)" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://data.opendevelopmentmekong.net/th/laws_record/2560-2017 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565
ไม่ว่าจะเป็นผีน้อยช่างตัดผม ไกด์ผีชาวต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตจ้างงาน อาบังที่มาเร่ขายถั่วในประเทศไทย พนักงานนวดไทย นายหน้าต่าง ๆ ที่ปล่อยเงินกู้ ขายที่ดิน ก็ล้วนแต่เป็นอาชีพผิดกฎหมายในไทยทั้งสิ้น ใครที่พบเห็น สามารถแจ้งเบาะแสกันได้ตามพิกัดที่ให้ไว้ด้านบนเลย หรือถ้าอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ก็สามารถแจ้งผ่านไลน์ @TraffyFondue ได้เลย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ