ช่วงนี้กระแสครัวซองต์มาแรงบนโซเชียลซะเหลือเกิน! เลื่อน ๆ ฟีดอยู่ก็เจอครัวซองต์เนืองแน่นเต็มไปหมด ด้วยความหอมกรุ่นชุ่มเนย และเนื้อแป้งอบกรอบ จึงทำให้ครัวซองต์กลายเป็นขนมอบที่ครองใจผู้คนได้อย่างต่อเนื่อง มากถึงขนาดที่ครัวซองต์บางร้านขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เริ่มขายแต่เช้า ไม่ทันสายก็หมดแล้ว! แต่เชื่อไหมว่าหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า “ครัวซองต์” หรือ “Croissant” ที่มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสแบบนี้ แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากประเทศฝรั่งเศสด้วยซ้ำ แต่มันเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสได้อย่างไร มีต้นกำเนิดมาจากไหน และกว่าจะเป็นครัวซองต์แบบทุกวันนี้มีวิวัฒนาการเป็นมาอย่างไร Wongnai จะพาทุกคนไปตามหาคำตอบกัน~
1.กว่าจะมาเป็นครัวซองต์
เล่ากันว่าแท้จริงแล้วครัวซองต์มีต้นกำเนิดมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ถูกดัดแปลงมาจาก “คิปเฟล (Kipferl)” ขนมรูปทรงพระจันทร์เสี้ยว ตามชื่อคิปเฟลที่แปลว่า “พระจันทร์เสี้ยว” ในภาษาเยอรมัน เกิดขึ้นช่วงราว ๆ ปี 1683 จากเหตุการณ์สงครามระหว่างเติร์กและเวียนนา
โดยจักรวรรดิออตโตมันของชาวเติร์กได้ส่งกองทัพไปปิดล้อมเพื่อยึดกรุงเวียนนา ตีเมืองอยู่หลายครั้งหลายเดือนก็ยังไม่สามารถทำลายกำแพงเมืองกรุงเวียนนาได้ จนกองทัพชาวเติร์กได้คิดกลอุบายขุดอุโมงค์ลอดใต้กำแพงเมืองเพื่อให้เข้าโจมตีเมืองได้ ซึ่งเหล่าเชฟเบเกอรีและคนทำขนมปังในกรุงเวียนนารับหน้าที่เข้าเวรกะดึกพอดีเลยได้ยินเสียงขุดเจาะอุโมงค์ของทหารเติร์ก จึงได้ส่งสัญญาณเตือนกับทหารรักษาเมืองผนึกกำลังกับกองทัพของกษัตริย์จอห์นที่สามแห่งโปแลนด์ มาขับไล่กองทัพของออตโตมันจนสามารถป้องกันและรักษากรุงเวียนนาไว้จนได้ หลังจากชัยชนะครั้งนั้น เหล่าเชฟเบเกอรีและคนทำขนมปังในกรุงเวียนนาจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองด้วยการทำขนมปังรูปพระจันทร์เสี้ยวเลียนแบบสัญลักษณ์บนธงของเติร์ก และเรียกขนมปังดังกล่าวว่า “คิปเฟล (Kipferl)” นั่นเอง
ต่อมาในช่วงปี 1770 หลังจากพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เจ้าหญิงจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แล้วทรงย้ายมาประทับอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความคิดถึงบ้านเกิดและขนมคิปเฟล จึงสั่งให้พ่อครัวทำขนมคิปเฟลขึ้นมา จนข่าวนี้แพร่กระจายออกไป ทำให้คิปเฟลเป็นที่รู้จักมากขึ้น และกลายเป็นเทรนด์ขนมของเหล่าราชวงศ์และชนชั้นสูงฝรั่งเศส ซึ่งคิปเฟลที่พ่อครัวทำใช้กรรมวิธีแบบใหม่จึงมีเนื้อสัมผัสที่ต่างไปจากเดิม จึงมีการแปลงโฉมคิปเฟลใหม่เป็น “ครัวซองต์ (Croissant)” และเกิดความนิยมไปทั่วประเทศฝรั่งเศส ฉะนั้นถ้าจะบอกว่ารครัวซองต์เกิดในประเทศฝรั่งเศสก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด แต่ถ้าลงลึกว่าครัวซองต์ได้แรงบันดาลใจมาจากคิปเฟล ซึ่งเป็นของชาวออสเตรียก็จะยิ่งเข้าใจขนมอบชนิดนี้มากยิ่งขึ้น
ครัวซองต์จึงมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปี 1839 ทหารออสเตรียชื่อว่า August Zang เจ้าของร้านขนมเบเกอรี Boulangerie Viennoise คนแรกที่เปิดร้านเบเกอรีแบบเวียนนาขึ้นในกรุงปารีส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทำขนมคิปเฟล จึงได้ดัดแปลงคิปเฟลด้วยการใช้แป้งที่แตกต่างจากขนมแบบดั้งเดิม จนมีลักษณะคล้ายครัวซองต์มากขึ้น ซึ่งคิปเฟลในแบบของ August Zang สร้างแรงบันดาลใจให้กับเชฟขนมอบชาวฝรั่งเศสมากมาย โดยเฉพาะ Sylvain Claudius Goy คนทำขนมปังชาวฝรั่งเศสที่ได้นำมาต่อยอดและปรับสูตร โดยการใช้ยีสต์ เนย พร้อมวิธีอบครัวซองต์ใหม่ในปี 1915 จนกลายเป็นครัวซองต์ในรูปแบบที่เราได้เห็นและกินกันอย่างในปัจจุบันนี้
2.คิปเฟล (Kipferl) VS ครัวซองต์ (Croissant) ต่างกันยังไง?
อย่างที่เราได้เล่าไปในข้างต้น ว่าวิวัฒนาการครัวซองต์นั้นมาจากขนม “คิปเฟล (Kipferl)” เป็นขนมเก่าแก่มีรูปทรงแบบพระจันทร์เสี้ยว ในอดีตเล่ากันว่าจะมีทั้งแบบแป้งเพียว ๆ ไม่มีไส้ และแบบที่มีไส้โดยใส่ถั่วผสมเข้าไป ส่วนเนื้อของขนมคิปเฟลนั้นจะมีผิวที่เรียบเนียน ไม่ฟู และไม่กรอบ
หลายปีต่อมาจึงมีการต่อยอดและปรับสูตรไปตามยุคสมัย โดยการใช้แป้งครัวซองต์แบบใหม่ เพิ่มนม ยีสต์ เนย พร้อมด้วยวิธีการอบให้กรอบ และมีเทกซ์เจอร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรฐานของครัวซองต์ที่ควรมีก็คือมีความฟูพอง ผิวด้านนอกบาง กรอบ เนื้อสัมผัสข้างในต้องเหนียวนุ่ม และมีกลิ่นหอมของเนยไปทั่วทั้งชิ้น มีความแตกต่างกันจากอดีตค่อนข้างมาก แต่ที่ยังคงมีเหมือนกันคือรูปทรงลักษณะที่เป็นพระจันทร์เสี้ยวอยู่
3.คำนิยามของครัวซองต์ที่ดี
เรื่องนี้เราคงจะต้องขอยืมคำตอบของผู้เชี่ยวชาญที่เป็น Artisan Boulanger อย่างคุณ Eric Kayser เจ้าของแบรนด์ร้านครัวซองต์ Eric Kayser กล่าวเมื่อครั้งที่เดินทางมาเปิดสาขาในประเทศไทยว่า “มี 2 สีเสมอ คือน้ำตาลเข้มและเหลืองทอง ครัวซองต์ที่ดีต้องบีบแล้วแตก เวลากินกลางวันกลับมาคุณจะเห็นคนฝรั่งเศสมีผงของครัวซองต์ติดตามเสื้อผ้า ด้านในฉ่ำมีฟองอากาศ กดแล้วคืนตัว แสดงให้เห็นว่าใช้ยีสต์ธรรมชาติจริง ๆ กรอบนอกนุ่มในและมีกลิ่นเนย เพราะเราใช้เนยจากฝรั่งเศสมาตลอด แม้ว่าราคาจะสูงขึ้น เนยที่ดีต้องไม่ติดลิ้นติดเหงือก”
4.ชนิดของครัวซองต์
ตอนนี้ถ้าเราเดินเข้าไปในคาเฟ่และร้านเบเกอรีต่าง ๆ ก็จะเจอครัวซองต์หลายแบบ หลายรสชาติ แตกต่างกันไปตามซิกเนเจอร์ของแต่ละร้าน แต่ที่เราได้เห็นกันบ่อย ๆ ในประเทศไทยก็คงจะหนีไม่พ้น “Plain Croissant” หรือ "Straight Croissant" ครัวซองต์เบสิกแบบปกติ Classic สุด ๆ เนื้อสัมผัสกรอบนอก นุ่มใน ตรงกลางหนาอวบ และข้างในไม่มีไส้ คนฝรั่งเศสมักจะพูดติดตลกว่าร้านไหนครัวซองต์ดีให้สังเกตกางเกงของคนฝรั่งเศสหลังมื้อกลางวัน เพราะแทบทุกคนจะมีเศษของครัวซองต์ติดอยู่
โดยยังคงมี "Crescent Croissant" หรือรูปพระจันทร์เสี้ยวคล้าย ๆ แบบดั้งเดิม หยิบกินง่าย ไม่หกเลอะเทอะ แถมราคาถูกกว่าแบบตรงเยอะ แต่จริง ๆ แล้วความลับก็คือครัวซองต์รูปแบบนี้มีวัตถุดิบอย่างนึงที่ทำให้ความหมายต่างไปจากครัวซองต์แบบดั้งเดิม ถึงขั้นที่คนฝรั่งเศสใช้วัดความเป็นครัวซองต์แท้ ๆ เลยทีเดียว ซึ่งความหมายของรูปทรงนั้นเราขออุบไว้ก่อน และจะมาเฉลยกันในข้อถัดไปค่ะ
จากนั้นก็มีการดัดแปลงมาจนกำเนิดเกิดเป็น "Diamond Croissant" ที่ฮิตมากในปัจจุบันไม่แพ้กัน พบเห็นได้ตามร้านค้าทั่วไป แถมยังเป็นทรงที่นิยมนำมาดัดแปลงใส่ไส้ใหม่ ๆ ได้มากที่สุด ก็เพราะด้วยตัวรูปทรงที่กว้างกว่าแบบตรง เอื้อต่อการรังสรรค์ไส้คาวหวานอันแปลกใหม่ลงไปนั่นเอง
หรือบางคนอาจเคยเจอ “Laugen Croissant” เป็นครัวซองต์คล้าย ๆ Plain Croissant แต่จะมีการเพิ่มเนยแบบเข้มข้นเข้าไปและทำให้สีของครัวซองต์เข้มขึ้นกว่าปกติ ออกไปทางน้ำตาลถึงเข้ม หรือบางที่ก็เรียกว่า “Pretzel Croissant” เพราะว่าสีของครัวซองต์จะเหมือนกับสีของเพรทเซลนั่นเอง
นอกจากนี้ บางร้านยังมี “Flaky Croissant” เป็นครัวซองต์เนยสดที่มีเทกซ์เจอร์เนื้อสัมผัสคล้ายเพสตรี มีความเบากว่า พองฟูกว่า และกรอบกว่าแบบปกติ รวมไปถึงครัวซองต์ไส้คาวหวานต่าง ๆ ที่กำลังฮิตอยู่ในตอนนี้ อย่างเช่น “Almond Croissant”, “Chocolate Croissant”, “Salted Egg Lava Croissant” และ “Ham Cheese Croissant” ที่ตัดแต่งแป้งให้เห็นไส้อย่างชัดเจน
5.ทำไมรูปร่างครัวซองต์ถึงแตกต่างกัน?
ต่อไปนี้เราจะขอไขความกระจ่างให้ทุกคนเองว่าตกลงแล้ว ทำไมครัวซองต์ถึงมีรูปร่างต่างกัน ถึงแม้ว่าต้นกำเนิดของครัวซองต์จะมีรูปร่างเป็นพระจันทร์เสี้ยวอย่าง คิปเฟล แต่สุดท้ายแล้วคนฝรั่งเศสกลับไม่ยอมรับครัวซองต์รูปร่างพระจันทร์เสี้ยว นั่นก็เพราะมีการแบ่งชนชั้นชัดเจนว่าแบบพระจันทร์เสี้ยว หรือ "Crescent Croissant" นั้นจะใช้มาการีน เนยหรือไขมันเทียม ในขณะที่ "Straight Croissant" และ "Diamond Croissant" จะใช้เนยแท้เท่านั้น กัดไปแล้วต้องส่งกลิ่นหอมเนยทั่วทั้งชิ้น ถึงขนาดว่า Connoisseurs (ผู้เชี่ยวชาญด้านรสชาติอาหาร) ยังยืนยันว่าเราควรกินเฉพาะครัวซองต์ที่ทำจากเนยแท้ ทำเองที่บ้าน (fait maison) และอบในเช้าวันนั้น
6.How do Parisian eat croissants?
อันนี้เราเองที่ไม่ใช่ชาวปารีเชียงคงไม่อาจหาญมาตอบเองได้ เลยต้องขอหยิบยกคำตอบของคุณ Eric Kayser มากล่าวถึงอีกรอบ ดังนี้ว่า "คนฝรั่งเศสกินครัวซองต์เป็นอาหารเช้า จิ้มกับกาแฟ นม หรือโยเกิร์ต ซึ่งเป็นอาหารเช้าที่ดีที่สุดของเรา" แอบบอกอีกนิดนึงพอเป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าชาวฝรั่งเศสนิยมทาเนยลงบนครัวซองต์เพื่อเพิ่มความอร่อยด้วยนะ ในขณะเดียวกันชาวฝรั่งเศสบอกว่าการกินครัวซองต์กับน้ำผึ้งและแยมกลับทำให้รสชาติครัวซองต์แบน เพราะความหวานจะไปลดมิติของสัมผัสของครัวซองต์ รวมถึงของโปรดของใครหลายคนอย่างช็อกโกแลตด้วย นั่นก็เพราะช็อคโกแลตนมส่วนใหญ่มีไขมันมากเกินไป เวลาที่ครัวซองต์อุ่น ช็อกโกแลตเหล่านี้จะเปลี่ยนคำแต่ละคำให้กลายเป็นก้อนแข็ง ๆ เสียความอร่อยได้ (แต่ในปัจจุบันนี้เราเข้าใจดีเลยว่า ครัวซองต์ช็อกโกแลตนั้นอร่อยมากกก โดยเฉพาะไส้นูเทลล่า เพราะฉะนั้นเราไม่ติดเลย ถ้าเราจะมองข้ามประเพณีเดิม ๆ แล้วเพลิดเพลินกับรสชาติใหม่ ๆ ดูบ้าง ก็เหมือนเมนูกระเพราฝั่งบ้านเราที่บางคนอาจจะไม่ชอบให้ใส่ถั่วฝักยาว ข้าวโพด แครอท แต่จริง ๆ แล้วกระเพราก็เป็นเมนูคู่บ้านคู่เมืองที่มีวิวัฒนาการและมีความหลากหลายในตัวมันเองนั่นแหละทุกคน)
7.ส่วนประกอบสำหรับทำครัวซองต์
สูตร Classic Croissant โดย Jeffrey Hamelman
(มีการเปลี่ยนหน่วยเมตริกมาใช้กรัม เพื่อให้ง่ายต่อการตวง)
สำหรับแป้งโดว์
- แป้งฝรั่งเศส T55 หรือแป้งอเนกประสงค์ไม่ฟอกขาว 500 กรัม
- น้ำเย็น 140 กรัม
- นมเย็น 140 กรัม
- น้ำตาลทราย 55 กรัม
- เนยจืด 40 กรัม แนะ
- ยีสต์ 11 กรัม
- เกลือ 12 กรัม
ส่วนผสมอื่น ๆ
- เนยจืด 280 กรัม (เนยแช่เย็น สำหรับขึ้นรูป)
- ไข่ 1 ฟอง (สำหรับทาผิวครัวซองต์ก่อนอบ)
Noted : เนยจืดแนะนำเป็น AOP butter (Appellation d’Origine Protégée in French) คือเนยฝรั่งเศสที่การันตีคุณภาพว่า ผลิตจากแหล่งผลิตเฉพาะและวิธีการผลิตเฉพาะแบบดั้งเดิม (เนยแบบบ่ม) หรือควรใช้เป็นเนยที่เขียนบนฉลากว่า 'Butter Fat' อย่างน้อย 82% ทั้งนี้ก็เพื่อให้ครัวซองต์มีชั้นสวย ไม่ฉีกขาดนั่นเอง!
8.ขั้นตอนการทำครัวซองต์ที่ดีที่สุด
จริง ๆ แล้วคลาสสิกครัวซองต์จะใช้เวลาทำทั้งหมด 3 วัน แต่เราเข้าใจทุกคนมาก ๆ ว่าไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่อาจจะไม่มีเวลาเยอะขนาดนั้น ใครอยากยุบรวมเป็นสูตร 1 วัน, สูตร 2 วัน ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่ความแตกต่างจะอยู่ที่เนื้อด้านในครัวซองต์ เพราะสูตร 3 วัน เราจะได้ครัวซองต์ที่ดีที่สุด มีรูอากาศใหญ่และแบ่งชั้นสวย ผิวนอกกรอบ และสมดุลของรสชาติเนยที่เพอร์เฟ็กเท่านั้นเองค่า
มาเริ่มกันเลย!
วันที่ 1 : ทำโดว์ครัวซองต์
1. ผสมส่วนผสมสำหรับแป้งโดว์ให้เข้ากัน โดยเทคนิคที่อยากแอบบอกคือให้ละลายน้ำตาลกับน้ำหรือนมก่อน ระวังอย่าให้ยีสต์และน้ำตาลโดนกันนะ เพราะยีสต์มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และแอลกอฮอล์ได้
2. นวดให้เข้ากัน นวนเนียนจนส่วนผสมไม่ติดโถ (ถ้านวดน้อยเกินไปแป้งไม่เนียน เนยจะรั่วได้)
3. รีดแป้งเป็นแผ่นแบน ๆ เพื่อให้ใช้งานต่อได้ง่ายในวันพรุ่งนี้ จากนั้นให้ทำการ wrap ให้ดีและแช่เย็นทิ้งไว้ข้ามคืน
วันที่ 2 : การเข้าเนย
4. นำเนย 280 กรัมที่เราแช่เย็นเตรียมไว้ มาตัดให้มีความหนาประมาณ 1.25 เซนติเมตร นำมาวางเรียงบนกระดาษไขจากนั้นนวดและทุบเนยจนได้รูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 17x17 เซนติเมตร ห่อกระดาษไขให้เรียบร้อย แล้วนำไปแช่เย็น เตรียมไว้ใช้ในขั้นตอนต่อไป
5. นำแป้งมารีดให้มีความหนาเท่ากันทั่วทั้งแผ่น จากนั้นนำเนยออกมาเรียง แล้วพับแป้งปิดเนยให้สนิทแบบ Letter Fold ใช้นิ้วกดตามรอยต่อเบา ๆ เพื่อปิดตะเข็บรอยแป้ง
Noted : การรีดแป้งแต่ละครั้งไม่ควรใช้เวลาเกิน 2-3 นาที เพื่อรักษาความเย็นให้เนยแข็งตัว
6. เริ่มรีดแป้ง โดยเริ่มจากตรงกลางไปที่ขอบ เพื่อให้แป้งมีความหนาสม่ำเสมอกัน รีดจนได้สี่เหลี่ยมผืนผ้าให้พับแป้งสามทบ นำไปแช่ตู้เย็น 20-30 นาที ทำขั้นตอนนี้ซ้ำทั้งหมด 3 ครั้ง หลังจากรีดแป้งรอบที่สาม เราจะพักแป้งไว้ในตู้เย็นข้ามคืนเลย
Noted : เวลาที่รีดแป้ง ควรหมุนแป้ง 90 องศา ให้ส่วนที่เห็นชั้นเนยหันเข้าหาตัวทุกครั้ง
วันที่ 3 : ตัดแบ่ง-ขึ้นรูป
7. นำแป้งออกมารีดให้ได้ขนาดประมาณ 20x110 เซนติเมตร แล้วให้ตัดแป้งเป็นทรงสามเหลี่ยม และให้กรีดที่ฐานของสามเหลี่ยมแต่ละชิ้นประมาณ 1.5 เซนติเมตร
8. ม้วนแป้งโดยเริ่มจากฐานสามเหลี่ยมจนเกิดเป็นรูปครัวซองต์
9. ก่อนนำไปอบให้ทาไข่เคลือบผิวบาง ๆ แล้วนำไปอบที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส 18-20 นาที โดยสามารถนำออกจากเตาก่อนเวลาได้ ถ้าครัวซองต์เป็นสีเหลืองทองถูกใจแล้ว
9.National Croissant Day
แล้วเพื่อน ๆ รู้ไหมคะว่าขนมอบระดับตำนานอย่างครัวซองต์ ก็มีวันแห่งชาติกับเขาด้วยนะ กับ “National Croissant Day” ซึ่งตรงกับวันที่ 30 มกราคมของทุกปี ที่มาของการตั้งวัน Crossiant Day นั้นเป็นการรำลึกถึงชัยชนะของสงครามระหว่างเติร์กและเวียนนา ที่ทำให้เกิดต้นตระกูลของครัวซองต์ รวมไปถึงการให้เครดิตนายทหารชาวออสเตรีย August Zang เจ้าของร้านเบเกอรีสไตล์เวียนนาร้านแรกในกรุงปารีส ผู้ริเริ่มตั้งต้นที่ทำให้คนได้เริ่มรู้จักครัวซองต์มาจนถึงทุกวันนี้
10.ร้านครัวซองต์ที่ต้องไปลอง!
อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว เพื่อน ๆ หลายคนคงจะเริ่มรู้สึกอยากลิ้มลองความหอมกรุ่นของเนย และสัมผัสกรอบนอกนุ่มในของครัวซองต์กันแล้วใช่ไหมล่ะ! อย่ารอช้าเรามีลิสต์ 30 ร้านครัวซองต์กรอบฟิน หอมเนยกรุ่นถึงใจ ที่ต้องตามไปลองกัน! มาให้แล้วถึงที่ ทุกร้านการันตีด้วยความสดใหม่ พิถีพิถันทุกขั้นตอน แถมยังประยุกต์ออกมาเป็นหลากหลายไส้ใหม่ ๆ ใครไม่อยากพลาดร้านดี ๆ อย่าลืมไปลองกินให้รู้ว่าจะฟินจริงรึเปล่า!
11.ครัวซองต์ยังไปต่อได้อีกไกล
ใครว่าอนาคตของครัวซองต์จะไปได้แค่ไส้ที่หลากหลาย แปลกใหม่ให้เราถ่ายรูปลงโซเชียลอย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่พอค่ะเพราะทุกวันนี้แม้แต่ขนมที่เรามองไม่ออกแล้วว่าเป็นครัวซองต์ จริง ๆ แล้วกลับเป็นลูกครึ่งครัวซองต์! แถมในอนาคตก็คงไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาของครัวซองต์นั้นจะไปได้อีกไกลขนาดไหน!
- เค้กแครอท+ครัวซองต์
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : Lune Croissanterie - Cragel (Bagel+Croissant)
- Cruffin (Muffin+Croissant)
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : Bruno and Mo และ Mr. Holmes Bake House - Cronut (Donut+Croissant)
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : CPS Coffee - Croffle (Waffle+Croissant)
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : Coffeas - ซาวโดว์ครัวซองต์
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : The Baking Bureau และ Conkey's Bakery - ทรัฟเฟิลครัวซองต์
ดูเพิ่มเติมได้ที่ร้าน : Xcuzine by Seen Bangkok และ Café Kantary
12.สรุป ดีจริงหรือแค่กระแส ?
ถ้ายังไม่รู้ว่าแนวโน้มครัวซองต์นั้นจะจบลงที่คำว่าแค่เทรนด์ไหม เราเอา Data มาให้เพื่อน ๆ ดูเล่น ๆ กันว่าปี 2020 นี้คนค้นหาคำว่า “ครัวซองต์” ในเว็บไซต์ Wongnai สูงไปถึง 6,039 ครั้ง เลยทีเดียว แถมนอกจากนี้ร้านที่ขายครัวซองต์โดย Artisan Boulanger (เชี่ยวชาญในการทำและขายขนมปังสไตล์ฝรั่งเศส) ยังมียอดรีวิวเพิ่มขึ้นสูงถึง 1,300%*
* ข้อมูลร้าน Cafe Praline (+1,300%), Croissant de มัวด์ (+1,100%), Maesalong Croissant (+1,000%) และ Eric Kayser (+600%) เทียบจาก Oct-Dec 2020 vs Jan-Mar 2021
จำนวนร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 2 เท่า!! จากเดิมในปี 2019 มีจำนวนร้านที่ขายครัวซองต์อยู่ที่ 776 ร้าน พอมาปี 2020 มีร้านที่ขายครัวซองต์ถึง 1,386 ร้าน!! สถิติที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือเฉพาะเดือน มกราคม-มีนาคม 2021 มีร้านครัวซองต์เปิดใหม่ไปแล้วถึง 297 ร้าน คิดง่าย ๆ ว่าเพียงแค่ 3 เดือนแรกของปีก็มาไกลถึง ~25% ของร้านในปี 2020 แล้ว แถมยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แบบฉุดไม่อยู่เลย
ทีนี้ก็รู้จักประวัติศาสตร์ครัวซองต์พอหอมปากหอมคอกันแล้ว แต่ถ้ายังไม่จุใจงานนี้ น้ำฝน จะพาเราไปไขคำตอบ เจาะปรากฎการณ์ "ครัวซองต์" ครองเมือง ยั่งยืนหรือแค่กระแส?! กันต่อ มาร่วมตอบคำถาม ไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กันเร็ว ๆ นี้ที่เพจเฟซบุ๊ก Wongnai Vibes รับรองว่าดูเพลิน ๆ หอมหวนชวนหิวไปกับกลิ่นครัวซองต์แน่นอน!!
โอ้โห! ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าแค่ขนมอบชิ้นเล็ก ๆ แบบครัวซองต์จะมีตำนานความเป็นมาได้ยาวนานและมากมายขนาดนี้ ได้อ่านสตอรีทั้งหมดแล้ว รู้สึกเลยว่ากว่าจะได้มาเป็นครัวซองต์จนถึงทุกวันนี้ มันต้องผ่านเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งกรรมวิธีที่ซับซ้อนและพิถีพิถันมากจริง ๆ จึงไม่แปลกใจเลยค่ะว่าทำไมครัวซองต์ถึงฮอตฮิตติดลมบนมาตั้งแต่สมัยอดีตจวบจนมาถึงปัจจุบันได้
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจต่อได้ที่
ข้อมูลอ้างอิง
The Curious Rambler. 2561. “History of the French Croissant - Margo Lestz” [Online]. เข้าถึงได้จาก : https://curiousrambler.com/history-of-the-french-croissant สืบค้น 26 มกราคม 2564
The Feedfeed. 2563. “Flaky Croissants by butterandblissblog” [Online]. เข้าถึงได้จาก : https://thefeedfeed.com/butterandblissblog/flaky-croissants สืบค้น 26 มกราคม 2564