มะพร้าวไทยใช้ลิงเก็บ? ทำความเข้าใจวิถีชีวิตและกะทิไทย
  1. มะพร้าวไทยใช้ลิงเก็บ? ทำความเข้าใจวิถีชีวิตและกะทิไทย

มะพร้าวไทยใช้ลิงเก็บ? ทำความเข้าใจวิถีชีวิตและกะทิไทย

ลิงปีนต้นไม้เก็บมะพร้าวเป็นเหตุให้ต่างชาติแบนกะทิไทย เพราะเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ชวนทำความเข้าใจ สรุปแล้วเรากักขังอิสระภาพ หรือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นกันแน่?

ภาพเจ้าลิงปีนต้นไม้เก็บมะพร้าวอาจจะเป็นสิ่งที่เราเห็นกันจนชินตา แต่เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าคนไทยต่างก็ตกใจไม่น้อย เมื่อองค์กรพิทักษ์สัตว์ PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) ออกมารณรงค์ให้หยุดสนับสนุนกะทิไทย เพราะการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่าความจริงแล้ว การใช้ลิงเก็บมะพร้าวนั้นเป็นภูมิปัญญาหรือการทารุณสัตว์กันแน่?

ลิงเก็บมะพร้าว

1เครื่องจักรเก็บมะพร้าว

องค์กร PETA กล่าวว่า ลิงหนึ่งตัวต้องเก็บมะพร้าว 1,000 ลูกต่อวัน จากสัตว์ที่อยู่ในป่า ต้องมาเป็น “coconut-picking machines” หรือทำงานเครื่องจักรเก็บมะพร้าวเท่านั้น โดยบริษัทส่งออกกะทิรายใหญ่ของไทยต่างก็ใช้ลิงเพื่อเป็นแรงงานเก็บมะพร้าว กะทิเหล่านี้ส่งออกไปทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้องค์กร PETA ออกมาสนับสนุนให้ห้างร้านต่าง ๆ หยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวและหยุดนำเข้ากะทิจากประเทศไทยมาขาย

การใช้ลิงเก็บมะพร้าว

PETA ยกตัวอย่างว่า “แหล่งปลูกมะพร้าวอื่น ๆ อย่างประเทศบราซิล โคลอมเบีย และฮาวาย ยังคงใช้แรงงานคนในการเก็บมะพร้าว บันได หรือเครื่องจักรไฮโดรลิก” แต่ประเทศไทยเอง ใช้แรงงานลิงเป็นหลัก ถึงกับมี “โรงเรียนฝึกลิง” ให้เก็บมะพร้าวและผลไม้ต่าง ๆ แถมยังแนบคลิปวิดิโอน่าหดหู่ของลิงที่ถูกขังในกรง ตากฝน ถูกถอดเขี้ยวและล่ามคอ ในชาแนลยูทูปที่ชื่อว่า “PETA (People for the Ethical Treatment of Animals)”

ดูเหมือนว่าการออกมารณรงค์ในครั้งนี้ของ PETA จะสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาล เพราะบริษัทในอังกฤษ 4 แห่งได้ออกมาประกาศหยุดการนำเข้ากะทิจากประเทศไทยแล้ว เพราะ “ไม่สามารถทนเห็นการใช้แรงงานสัตว์แบบนี้ได้”

coconut milk

2ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการใช้ลิง

เมื่อกลับมาฟังเสียงชาวเกษตรกรทางภาคใต้ที่ปลูกมะพร้าว เกษตรกรกลุ่มหนึ่งออกมาโต้แย้งว่า การฝึกลิงเก็บมะพร้าวเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ไม่ได้ฝึกแบบไร้หัวใจเพื่อเป็นแรงงาน แต่เลี้ยงดูกันเหมือนคนในครอบครัวที่ทำงานด้วยกัน และกินอยู่ด้วยกัน

ลิง

นายนิรัน วงศ์วานิช อายุ 52 ปี เกษตรกรชาวสวนมะพร้าว และครูฝึกสอนลิงที่ตำบลคลองน้อย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การสอนลิงให้สามารถเก็บลูกมะพร้าวที่สุกได้เป็นการสืบทอดภูมิปัญญามานานกว่า 100 ปี และไม่มีการถอดเขี้ยวของลิง เพราะลิงจำเป็นต้องใช้เขี้ยวในการเก็บมะพร้าวออกจากต้น ส่วนการเลี้ยงดูก็ต้องมีการตักเตือนและใช้ไม้เรียวในบางครั้ง เมื่อลิงไม่เชื่อฟัง แต่ไม่ใช่การทำร้ายจนร่างกายบาดเจ็บ การที่องค์กร PETA ออกมาเผยแพร่เรื่องการใช้ลิงเก็บมะพร้าวว่าเป็นการทารุณสัตว์นั้นจึงไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและคนไทยนัก

ลิงกับคน

ประเทศไทยไม่ได้ใช้ลิงในการเก็บมะพร้าวเพียงวิธีเดียวเท่านั้น แต่มีการใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยเช่นกัน เพราะมะพร้าวในประเทศไทยมี 2 สายพันธุ์หลักคือ “มะพร้าวน้ำหอม” ที่ลำต้นไม่สูงมาก สามารถใช้คนหรือไม้สอยเก็บได้ และ “มะพร้าวกะทิ” ซึ่งจะต้นจะสูงกว่า ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ไม้สอยได้ จึงต้องใช้ลิงที่มีความสามารถในการปีนต้นไม้อยู่แล้วในการเก็บมะพร้าวกะทิเหล่านี้

มะพร้าว

อย่างไรก็ตาม นายวิศิษฐ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวทั้ง 2 สายพันธุ์ จนลำต้นเตี้ยลงมาก และสามารถใช้เครื่องมือเก็บได้ถึง 90% และใช้ลิงช่วยเพียง 10% เท่านั้น นอกจากนี้ หากประเทศไทยใช้ลิงในการเก็บมะพร้าวมากอย่างที่ PETA กล่าวอ้าง ใน 1 ปี ต้องใช้ลิงหลายล้านตัวในการเก็บมะพร้าว 1 ล้านตัน ซึ่งในอุตสาหกรรมไม่สามารถทำแบบนั้นได้

คนเก็บมะพร้าว

นายสุมาตร อินทรมณี เครือข่ายสภาเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวเสริมว่า คลิปที่ทาง PETA เผยแพร่ออกมาเป็นการมองการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพียงด้านลบด้านเดียว โดยไม่ได้นึกถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่อยู่ร่วมกับลิงมานานหลายร้อยปี และเป็นการละเลยองค์ความรู้ท้องถิ่นในการฝึกฝนให้ลิงสามารถเลือกเก็บมะพร้าวที่สุกกำลังดีได้

ลิงเก็บมะพร้าว

ประเด็นเรื่องการแบนกะทิไทยในครั้งนี้ ทำให้คนไทยได้หันมาทบทวนการใช้ลิงเก็บมะพร้าว ทั้งในมุมมองของวิถีชีวิต และมุมมองของสิทธิสัตว์ แน่นอนว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาทั้งสองแง่มุม โดยไม่มองข้ามประเด็นใด ๆ ไป ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ กระทรวงพาณิชย์จะนัดหารือกับภาคเอกชนเพื่อหาทางออก และชี้แจงให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจกระบวนการเก็บมะพร้าวที่แท้จริงในอุตสาหกรรมไทย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง

Bangkok Post, 2563. “Monkey-picked coconut boycott spreads” [online] เข้าถึงจาก https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1945744/monkey-picked-coconut-boycott-spreads สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563

ไทยรัฐออนไลน์, 2563. “ชาวสวนเดือด โต้ PETA ลิงเก็บมะพร้าว คือภูมิปัญญา ไม่ใช่การทารุณ” [online] เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/local/south/1883269 สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563

ไทยรัฐออนไลน์, 2563. “ไม่แน่ชัดไทยใช้ "ลิงเก็บมะพร้าว" ถกปมต่างชาติแบน "กะทิไทย" ทารุณสัตว์” [online] เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/society/1883427 สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563

เต็มอิ่มกันต่อกับข่าวสารและเรื่องราวอาหารที่พลาดไม่ได้ ที่นี่