Royal Project Gastronomy Festival 2020 ส่งความสดจากยอดดอยสู่คนเมือง
  1. Royal Project Gastronomy Festival 2020 ส่งความสดจากยอดดอยสู่คนเมือง

Royal Project Gastronomy Festival 2020 ส่งความสดจากยอดดอยสู่คนเมือง

Wongnai บุกดอยไปดูแหล่งวัตถุดิบของโครงการหลวงที่จะนำมาขายในงาน Royal Project Gastronomy Festival 2020 บอกเลยว่าคุณภาพบนดอยดีมาก และพยายามคงความสดก่อนถึงมือเรา
writerProfile
24 ก.พ. 2020 · โดย

#วงในบอกมา

  • เป็นงานอีเวนต์ที่สยามพารากอนจัดร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงเป็นประจำทุกปี

  • ในปีนี้ Royal Project Gastronomy Festival 2020 จะนำเอาผลผลิตพืชผลเมืองหนาวของเกษตรกรจากโครงการหลวงลงจากยอดดอยมาให้คนเมืองเลือกซื้อช่วงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ.2563

  • โดยปกติ Royal Project Gastronomy Festival จัดขึ้นช่วงปลายปี แต่เราบอกเลยว่าช่วงที่วัตถุดิบดีที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมนี้ที่จะมีวัตถุดิบหลายชนิดออกดอกผลพอดี 

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดของโครงการหลวง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดของโครงการหลวง

ทุกครั้งที่มีคนชวนขึ้นดอยเพื่อไปดูแหล่งปลูกเราจึงมักจะไม่ปฎิเสธและคราวนี้สยามพารากอนก็พาเราไปเยี่ยมชมหลายดอยเลยแหละ แน่นอนว่าใช้เวลาพอสมควรในการเดินทาง เราแวะพักที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูการปลูกเคปกูสเบอร์รี (Cape Gooseberry) หรือโทงเทงฝรั่ง ซึ่งปลูกแบบให้เลื้อยไปตามเสาและลวดแบบปลูกองุ่น เคปกูสเบอร์รีอาจจะเป็นผลไม้ที่ใครชอบก็จะชอบเลยและใครเกลียดก็จะเกลียดเลย นิยมนำเอาไปทำของหวานเป็นส่วนใหญ่ โดยผลผลิตของโครงการหลวงก็ผลิตได้ค่อนข้างมาก 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก แหล่งปลูกเคปกูสเบอร์รี
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก แหล่งปลูกเคปกูสเบอร์รี 
เคปกูสเบอร์รี
เคปกูสเบอร์รี 

จากนั้นเราตรงขึ้นดอยสู่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่รองรับนักท่องเที่ยวมากที่สุด และเรียกว่าเป็นศูนย์กลางของการวิจัยพืชผลเมืองหนาวแทบทุกชนิด ยกเว้นบางชนิดที่ไม่เหมาะกับภูมิอากาศและภูมิประเทศของที่นี่ ความน่าสนใจคือการเริ่มทดลองปลูก “บลูเบอร์รี” ซึ่งได้พันธุ์มาจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 แต่กว่าจะพัฒนาจนปลูกและได้ผลผลิตจริงก็คือปีพ.ศ.2559 มีวางขายบ้างแล้วแต่ไม่มาก 

เกษตรกรบนดอยอ่างขาง
เกษตรกรบนดอยอ่างขาง

อีกผลผลิตที่กลายเป็นที่ต้องการของตลาดร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งก็คือ “ดอกไม้กินได้” ปลูกประมาณ 12 ชนิด บนพื้นที่ของสวน 80 ภายในสถานีเกษตรฯ รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกขายด้วย อาทิ ดาวเรือง (Marigold) มาลโลว์ (Mallow) แดนดิไลออน (Dandilion) ดิจิทาลลิส (Foxglove) โครคัส (Crocus) ลาเวนเดอร์ (Lavender) ผีเสื้อราตรี (Oxalis) ผีเสื้อ (Dianthus) บีโกเนีย (Begonia) ดอกหอม (Chive Blooms) ตุ้มหูนางฟ้า (Fuchsia) และไวโอล่า (Viola) ใครนึกภาพไม่ออกคราวหน้าสังเกตจานอาหาร รับรองว่านึกออกเลย 

ดอกไม้กินได้
ดอกไม้กินได้ 

“สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80” ยังคงได้รับความนิยมเหมือนเดิม แต่เราต้องบอกว่าพัฒนาการเรื่องการเก็บผลผลิตดีขึ้น เกษตรกรเรียนรู้ที่จะเก็บผลที่ยังขาวอมแดงที่ยังไม่สุกดี แต่ทำให้ขนส่งง่ายและกลายเป็นผลสุกแดงที่พอดีกินเมื่อส่งถึงมือคนกิน ส่วนที่ไม่ผ่านมาตรฐานของโครงการหลวงก็จะนำมาขายผลสดในสถานีเกษตร หรือนำไปแปรรูปเป็นสตรอว์เบอร์รีอบแห้งและไวน์ 

สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80
สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80

คุณกมลศิษฐ์ ภัทร์ธีระชุลี เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีหมู่บ้านนอแล เล่าว่า “เริ่มปลูกสตรอว์เบอร์รีด้วยการผลิตต้นกล้าหรือไหลช่วงเดือนเมษายน ก่อนเริ่มนำกล้าลงปลายเดือนสิงหาคม ก่อนปลูกต้องขึ้นแปลงให้ความสูงของแปลงสูง 35 เซนติเมตร ทำให้สิ่งสกปรกจะไม่โดนผลสตรอว์เบอร์รี ต่างจากการยกร่องต่ำแบบที่อื่น ซึ่งมีไว้โชว์นักท่องเที่ยวเฉย ๆ ก่อนปลูกต้องใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก เลือกใช้ไหลที่ 2-5 เท่านั้น เพราะได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด ผลผลิตแรกจะออกกลางเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน หลังจากนั้นพันธุ์ 80 จะทิ้งช่วงเวลาประมาณ 1 เดือน สะสมการเกิดตาดอก ซึ่งต้องสะสมอากาศหนาวนานกว่า 500 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดตาดอก ปีนี้หนาวจัดเลยแทงกอช้า ปีก่อนได้เก็บเดือนมกราคม จะออกผลอีกทีกลางมกราคม เก็บได้ถึงมีนาคม หลังจากเก็บเกี่ยวจะรื้อแปลงทั้งหมด แล้วปอเทืองจะขึ้นแทนที่แล้วไถกลบเป็นปุ๋ย”

เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี
เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี
คุณกมลศิษฐ์ ภัทร์ธีระชุลี เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีหมู่บ้านนอแล
คุณกมลศิษฐ์ ภัทร์ธีระชุลี เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีหมู่บ้านนอแล 

“ชาออร์แกนิก” ก็ยังเป็นสินค้าขายดีหลังจากพัฒนาสายพันธุ์ชาบนพื้นที่ของไร่ชา 2000 จนมีผลิตภัณฑ์ชามากถึง 4 ชนิด อาทิ ชาเขียว ชาอู่หลงก้านอ่อน ชาอู่หลงเบอร์ 12 และชาแดง และพืชผลใหม่ที่เริ่มส่งเสริมนั่นก็คือ “ลินิน” ที่นำไปทำเส้นใยผ้าแต่ยังไม่ได้มาก นักวิจัยแนะนำว่าให้ลองบีบดอกแห้งเอาเมล็ดมากินได้แบบทานตะวันเลย

ลินิน
ลินิน

วันต่อมาเราเดินทางไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูการปลูกฟักทองญี่ปุ่น ฟักทองสีขาว ฟักทองสีส้ม ฟักทองจิ๋ว มะเขือม่วงก้านเขียว มะเขือม่วงก้านดำ และบลูเบอร์รี ความน่าสนใจของการปรุงฟักทองก็ถูกพัฒนาให้เหมือนการปลูกองุ่นยกเถาให้เลี้อยสูงขึ้น ซึ่งให้ผลผลิตที่ดีกว่า

ดอกบลูเบอร์รีก่อนกลายเป็นผล
ดอกบลูเบอร์รีก่อนกลายเป็นผล
ดอกบลูเบอร์รี
ดอกบลูเบอร์รี

คุณวรชิต ดำรงวรากูร หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง บอกกับเราว่าเขามีทุกวันนี้เพราะการเริ่มปลูกฟักทองตามที่หัวหน้าศูนย์ฯคนก่อนแนะนำ จากไร่เดียวขยายสู่สิบไร่ และพัฒนาจนได้วิธีการปลูกฟักทองอย่างที่เราเห็น ซึ่งอาจจะไม่คุ้นตา โดยเขาบอกว่าต้องคอยเด็ดดอกออกเพื่อให้ฟักทองต้นหนึ่งมีผลที่สมบูรณ์ไม่มาก ทำให้ได้ผลใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีการแบบเดียวกับที่เกษตรกรชาวญี่ปุ่นใช้ปลูกเมลอนที่ให้ราคาแพงลูกละหลายหมื่นบาท

คุณวรชิต ดำรงวรากูร หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง
คุณวรชิต ดำรงวรากูร หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง

มาที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่สุดท้ายที่เราแวะมาดูผลผลิตของโครงการหลวง ที่นี่น่าสนใจตรงที่หัวหน้าศูนย์ฯ บอกว่าได้รับการยกเว้นให้มีระบบโลจิสติกส์ของตัวเองได้เลย เนื่องจากการตีเข้าไปเชียงใหม่ต้องใช้เวลาพอ ๆ กับเดินทางตรงไปยังกรุงเทพฯ ผลผลิตของที่นี่เลยส่งตรงเข้ากรุงเทพฯผ่านรถห้องเย็น ส่วนมากเป็นผักสลัด กะหล่ำปลีหัวใจ องุ่นไร้เมล็ด อะโวคาโด และกาแฟ โดยเฉพาะกาแฟ ถือได้ว่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่ดีแหล่งหนึ่งของเมืองไทย

ผักสด ผลผลิตคุณภาพดีของผาตั้ง
ผักสด ผลผลิตคุณภาพดีของผาตั้ง
ขึ้นฉ่ายของผาตั้งขายดีที่สุด
ขึ้นฉ่ายของผาตั้งขายดีที่สุด

ไฮไลต์ของทริปนี้คือการแถลงข่าวการจัดงาน Royal Project Gastronomy Festival 2020 ที่ปีนี้มาในธีมของ “Colors of Health สีสันแห่งยอดดอยสู่สุขภาพที่ดีของคนเมือง” ที่นำเอาผลผลิตของโครงการหลวงจาก 6 เขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา และตาก รวม 35 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเข้ามาจำหน่ายที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมีคุณสุพรรณี เมืองมา หัวหน้างานสนับสนุนการตลาดมูลนิธิโครงการหลวง และคุณธณพร ตันติยานนท์ ผู้บริหารสยามพารากอน ร่วมกันเล่าถึงกิจกรรมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคมนี้ 

เชฟต้อม เชื้อนาหว้า, คุณสุพรรณี เมืองมา, คุณธณพร ตันติยานนท์ และเชฟนิโคลัส โบเรว
เชฟต้อม เชื้อนาหว้า, คุณสุพรรณี เมืองมา, คุณธณพร ตันติยานนท์ และเชฟนิโคลัส โบเรว 

โดยในงานแถลงข่าวยังมีตัวแทนของร้านอาหารอย่าง เชฟนิโคลัส โบเรว เชฟจาก Harrods Tea Room มาสาธิตเมนู Royal Pumpkin Crème Brulee ที่ได้ไอเดียมากจากสังขยาฟักทอง แต่ทำออกมาในแนวของฝรั่ง ซึ่งจะมีขายที่ร้านตลอดอีเวนต์ เช่นเดียวกับเชฟต้อม เชื้อนาหว้า ร้าน Suki Masa มาสาธิตเมนู Chicken Roll with Winter Salad ถึงบนยอดดอยผาตั้ง 

Royal Pumpkin Crème Brulee และ Chicken Roll with Winter Salad
 Royal Pumpkin Crème Brulee และ Chicken Roll with Winter Salad 

นอกจากนี้เท่าที่เราพูดคุยมาภายในงานจะมีร้านอาหาร 3 แห่ง มาเปิดขายภายในโซนอีเวนต์ ได้แก่ ร้านสวนกุหลาบทุ่งเริงของโครงการหลวง ร้านกาแฟของโครงการหลวง และร้าน Greyhound Cafe สำหรับเมนูของร้านสวนกุหลาบทุ่งเริง อาทิ ส้มตำผักโครงการหลวง อะโวคาโดปั่น น้ำกุหลาบต้มยำ ไอศกรีมอะโวคาโด ไอศกรีมสตรอว์เบอร์รี ไอศกรีมพีช และเมนูของร้าน Greyhound Cafe อาทิ สลัดไก่เบรสรมควัน ก๋วยเตี๋ยวแห้งไก่มะระ ยำก๋วยเตี๋ยวญวนไก่เบรส เบอร์เกอร์ 2 ดอย ไส้อั่วเห็ดย่าง และบัวลอยมันเทศญี่ปุ่น  

ผลผลิตของโครงการหลวงที่จะส่งมาขายในงาน
ผลผลิตของโครงการหลวงที่จะส่งมาขายในงาน

ภายในศูนย์การค้าสยามพารากอนยังมีร้านอาหารรวม 11 ร้าน ทำเมนูอาหารจากผลผลิตของโครงการหลวงเป็นเมนูพิเศษตลอดงาน อาทิ Suki Masa, Harrods Tea Room, Wang Jia Sha, Brix Dessert Bar, Boon Tong Kee, แสนแซ่บ, Tudari, Chilli Thai, Pot Ministry, Four Seasons และตะลิงปลิง น่าเสียดายที่เรายังไม่ได้ลิสต์เมนูมา แต่น่ากินแน่ ๆ เตรียมไปกินไอศกรีมอะโวคาโดได้เลยคิวยาวแน่นอน รวมถึงวางแผนช็อปผลผลิตของโครงการหลวงให้ดี เพราะบางชนิดวางขายวันแรกก็หมดแล้ว งานมีวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคมนี้ ที่พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน

องุ่นไร้เมล็ดของดอยผาตั้ง
องุ่นไร้เมล็ดของดอยผาตั้ง

ติดตามเรื่องราวร้านอาหารดี ๆ จาก #ห้ามพลาด ที่จะมาเล่าเรื่องราวของร้านอาหารมากกว่าเพียงรีวิวร้านอาหารใหม่ แต่อาหารมีเรื่องราวซ่อนอยู่เสมอ อ่านต่อได้ที่ 

แผนที่

บนถนนพระราม1
static-map

การติดต่อ

Siam Paragon
991 ถ.พระราม1 แขวง/เขตปทุมวัน กทม. 10330สยามพารากอน,ปทุมวัน