#วงในบอกมา
ปี 2019 ผ่านไปแล้ว แต่มีเทรนด์อาหารไม่น้อยที่เริ่มต้นช่วงปลายปี และยังส่งต่อเทรนด์ยาวไปถึงกลางปี 2020 หรืออาจจะต่อเนื่องยาวนานไปอีกหลายปี อาทิ Plant Based Meat และ Omakase
ความน่าสนใจของปี 2020 อยู่ที่ร้านอาหาร Big Name ที่จะมาบุกกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ปี 2020 จะเป็นปีแห่งความ Green ทั้งร้านอาหารสีเขียว แพ็คเกจจิงสีเขียว หรือการจัดการร้านอาหารสีเขียว ด้วยกระแสรักษ์โลกที่เราเคยนำเสนอผ่านเรื่องราว Go Green
ขอโทษด้วยถ้าเรามาเล่าเทรนด์อาหารที่จะมาในปี 2020 ช้าไปนิดนึง ด้วยความตั้งใจอยากรวมมาอัปเดตตามปี 2020 ก็เลยพยายามรวบรวมให้ถึง 20 เทรนด์ ล้อไปกับปีนี้ ลองอ่านกันดูว่าเทรนด์อาหารในปีนี้จะน่าสนใจไหม แน่นอนว่ามันอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็เกิดขึ้นก็ได้ แต่รับรองว่าปีนี้วงการอาหารสนุกแน่นอน ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยคอมเมนต์กลับมาได้ หรือคิดว่าเราตกหล่นอะไรก็แสดงความเห็นกันเข้ามาได้เลยจ้า
1อาหารไทยยังคงยืนหนึ่ง
แน่นอนว่าอาหารไทยกับคนไทยอยู่คู่กันมาตลอดแหละ เคยไหมเวลาไปเที่ยวต่างประเทศสัก 5 วัน ก็อยากกินอาหารไทยแล้ว ด้วยรสชาติที่คุ้นเคย แน่นอนว่าในปี 2020 อาหารไทยยังคงเป็นที่จับตามองเหมือนเดิม อย่างที่ทราบว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยโหมโปรโมทอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศมาตลอดหลายปี จนตอนนี้เจ๊ไฝกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ของวงการอาหารไทยฝั่งสตรีทฟู้ดไปแล้ว ยังไม่นับรวม เชฟต้น-ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร ร้าน “LeDu” ที่นำเสนออาหารไทยในรูปแบบใหม่ เชฟชุมพล แจ้งไพร ร้าน “R.HAAN” ที่ถูกจับตามองเพียงชั่วข้ามคืนหลังจากได้ติดดาวเพิ่ม แน่นอนว่าร้านที่น่าจับตามองยังเป็นร้าน “Sorn” ร้านอาหารจองนานที่ใครได้กินก็อยากไปกินซ้ำ หรือเริ่มต้นเปิดร้านอาหารไทยของลูกศิษย์ เชฟเดวิด ทอมป์สัน กลายเป็น “สำรับสำหรับไทย” และ “ชามแกง”

2เชฟเทเบิล และโอมากาเสะ ยังเป็นที่ต้องการ
เชฟเทเบิลอาหารไทยอย่าง “สำรับสำหรับไทย” ได้ย้ายโลเกชันใหม่แล้วเปิดใหม่ภายใน “100 มหาเศรษฐ์” หรือร้านเนื้อวัวดรายเอจ “35 Dry Aged Beef” ก็ใช้คอนเซปต์ของเชฟเทเบิลนำเสนอเนื้อวัวไทย รับมื้อละเพียง 6 คน นอกจากนี้ร้านโอมากาเสะซูชิก็ยังคงเป็นแนวทางที่เปิดให้บริการอย่างต่อเนื่อง เมื่อปลายปีเครือเทนยุก็เพิ่งเปิดตัวโอมากาเสะโดยเฉพาะเป็นร้านแรกในชื่อ “Omakase Ten” หรือการนำเอาคอนเซปต์ของโอมากาเสะมานำเสนอผ่านกาแฟของ “Solos Cafe” หรือแม้แต่โอมากาเสะวุ้นที่ทำเป็นป๊อปอัปอีเวนต์ของ “พสุธารา” เชื่อว่าปีนี้ต้องมีโอมากาเสะที่แปลกใหม่กว่าซูชิออกมาให้เราสนุกกัน

3Plant Based คำที่เป็นมิตรต่อคนกิน
เชื่อว่าหลายคนสงสัยว่า “Plant Based” ต่างจาก “มังสวิรัติ” อย่างไร คำตอบคือ ไม่ต่าง ด้วยความหมายของมังสวิรัติที่หลายคนมองว่าสุดโต่งเกินไป แต่เมื่อมีคำว่า Plant Based เข้ามาคำนี้กลับเป็นมิตรมากกว่า ซึ่งเราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะการโหมโปรโมตของผลิตภัณฑ์ Plant Based Meat จากแบรนด์ยักษ์ใหญ่หรือไม่ที่ทำให้คำนี้ถูกเข้ามาทดแทนมังสวิรัติ แต่โดยพื้นฐานของ Plant Based ก็ฟังดูง่ายกว่าเพียงกินผลิตภัณฑ์จากพืชนั่นแหละ ไม่มีอะไรมาก พวกเนื้อเบอร์เกอร์ Plant Based ในตลาดก็เลยโตวันโตคืน อาทิ OmniMeat และ Beyond Meat ที่ถูกนำเข้ามาขายในไทยแล้ว นอกจากนี้ยังมี Impossible Meat ที่ดังมากในสหรัฐอเมริกา แต่เรากลับสนใจผลิตภัณฑ์ Plant Based ที่ไม่ได้มาจากระบบโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า อย่างร้าน “Cocoic” ร้านไอศกรีมที่ต้องการยกระดับเกษตรกรไทย โดยเลือกใช้ข้าวเหนียว และกะทิเป็นตัวหลัก ไม่ใช้นมเลย เพื่อโชว์คุณภาพของมะพร้าวไทย ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในต้นปี 2020

4Farm to Table เกษตรกรส่งวัตถุดิบตรงถึงเชฟ
ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนฟาร์มทูเทเบิลเป็นความหมายในเชิงร้านอาหารปลูกผักรอบร้าน หรือไม่ก็ส่งตรงจากฟาร์มของตัวเอง แต่ตอนนี้ความหมายนั้นเปลี่ยนไปมากแล้ว กลายเป็นความเชื่อมโยงของเกษตรกรกับเชฟโดยตรง เรียกว่าผูกปิ่นโตกันเลย เธอมีอันนั้นไหมชั้นรับซื้อนะ ทำให้เกิดเกษตรกรที่น่าสนใจอย่าง “แทนคุณออร์แกนิคฟาร์ม” ที่ส่งไก่ออร์แกนิกให้เชฟมากมาย “พี่ไผ่” ผู้ส่งอาหารทะเลจากชุมพร หรือแม้แต่ ตั้ม-ณฐกร แจ้งเร็ว ที่ตกปลาและอาหารทะเลส่งเข้าร้านอาหาร “Kaijin” และ “Vapor” ของตัวเอง รวมถึงส่งให้เชฟที่ต้องการเราได้เห็นผ่าน “Baan Tepa Culinary Space” ของเชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ ที่นำเอาปรัชญาของ Farm to Table ที่เธอเคยทำงานในสหรัฐอเมริกานำมาใช้ที่เมืองไทย โดยพึ่งพาวัตถุดิบที่ส่งตรงจากเกษตรกรและชาวประมงในประเทศ ในประเทศลาวเองก็เริ่มให้ความสนใจ โดยโรงแรม Sofitel Luang Prabang ได้เปลี่ยนห้องอาหาร “Governor's Grill” ให้กลายเป็นร้านอาหารฟาร์มทูเทเบิลที่เลือกใช้วัตถุดิบรอบเมืองหลวงพระบางเป็นหลัก โดยเฉพาะการนำเอาชีสนมควายที่ผลิตได้ในหลวงพระบางมาใช้

5ร้านอาหารและคาเฟ่จากเชฟดังที่เตรียมเปิดในกรุงเทพฯ
ปลายปีที่ผ่านมามีร้านอาหารดังอย่าง “Blue by Alain Ducasse” ของเชฟอลัง ดูคาส เชฟระดับตำนานที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเปิดร้านด้วยตัวเอง หรือการเปิดป๊อปอัป “The Peak” ของ เชฟแอนเดรียส คามินาดา ที่โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ เป็นการคิ๊กออฟเบา ๆ สำหรับในปีนี้ เชฟอลัง ดูคาสอเตรียมเปิดร้านช็อกโกแลต “Le Chocolat Alain Ducasse” ที่มีข่าวมาตั้งแต่กลางปี 2019 แต่ก็ยังไม่เปิดเสียที ส่วน เชฟแอนเดรียส คามินาดา เตรียมเปิดร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งแบบแชร์ริ่งคอนเซปต์ “IGNIV by Andreas Caminada” ที่ โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะมาเปิดแทนร้านอาหาร “Jojo” ที่จะปิดตัวลงในวันที่ 12 มกราคมนี้ แต่ที่พีคสุดคงต้องยกให้กับการมาของ เชฟเมาโร โคลาเกรคโค เจ้าของร้านอาหาร “Mirazur” ร้านอาหารอันดับที่ 1 ของโลกปีล่าสุด ที่จับมือกับโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ เตรียมเปิด “Côte by Mauro Colagreco” ร้านอาหารเมดิเตอร์เรเนียนร่วมสมัยภายในปีนี้ นอกจากนี้ภายในปีนี้ก็จะได้ฤกษ์เปิดตัวร้านอาหาร 2 แห่งของ Orient Express Mahanakhon Bangkok กับห้องอาหารไทยของเชฟเดวิด ทอมป์สัน “Mahanathi” และร้านอาหารจีนร่วมสมัยชื่อดังจากฮ่องกง “Mott32” รวมถึงการเปิดตัวร้านอาหาร “Keller” ของ เชฟเมียโค่ เคลเลอร์ อดีตเชฟจากร้าน “Water Library” และร้านอาหาร “Cadence Restaurant by Dan Bark” ของ เชฟแดน บาร์ค หนึ่งในผู้ปลุกปั้น “Upstairs at Mikkeller”

6Go Green
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะเริ่มมุ่งสู่โลกสีเขียวที่แท้จริง หลังจากประกาศให้งดแจกถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นภาพของผู้คนไม่น้อยที่นำของใช้ใกล้ตัวติดตัวไปบรรจุสิ่งที่ตนเองซื้อกลับบ้านผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องดี และเราต้องขอบคุณน้องลิลลี่-ระริน สถิตธนาสารนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวไทยที่เป็นผู้ชักชวนให้งดใช้ถุงพลาสติก น้องลิลลี่ยังแนะนำเรื่อง Green Guildline ที่ให้ร้านอาหาร บาร์ และคาเฟ่ สามารถนำไปใช้งานได้จริง อย่าง Refill Area ที่ให้ลูกค้าเติมน้ำดื่มได้ฟรี ไม่ใช่การขาดรายได้ แต่เป็นการลดการขายน้ำขวดพลาสติก ซึ่งร้าน “Ocken” ก็วิธีการอีกแบบคิดค่าน้ำ 60 บาท แต่เติมใส่ขวดแก้วให้ตลอดมื้ออาหาร ขึ้นอยู่กับว่าใครจะปรับการใช้งานอย่างไร นอกจากนี้คาเฟ่มากมายก็ประกาศงดใช้หลอดและคิดค่าแก้วสำหรับซื้อกลับบ้าน โดยรณรงค์ให้นำแก้วมาเทคอะเวย์เอง เราว่าเป็นวิธีการที่ดีในการปรับพฤติกรรมให้คนกินอย่างเรา แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีเสียงแตกที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม

7เนื้อวัวไทยจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
เรามักได้ยินเรื่องมาเฟียเนื้อวัวไทยในแง่มุมต่าง ๆ ที่ทำให้ราคาเนื้อวัวไทยไกลเกินเอื้อม แต่ในทางกลับกันก็มีร้านอาหารประเภทเนื้อผุดขึ้นราวดอกเห็ด แถมราคาก็สัมผัสได้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของการจัดการของร้าน รวมถึงการร่วมพัฒนาวัวร่วมกับฟาร์มโดยตรงจึงลดทอนการปะทะกับมาเฟียเนื้อวัวไทยได้ แถมยังทำให้เกิดเนื้อวัวไทยจากหลายแหล่งมากขึ้น เพิ่มทางเลือกให้กับคนกินได้อย่างน่าสนใจ อาทิ เนื้อวัวฮิมาวาริ เนื้อไทยชาร์โรเล่ส์ เนื้อไทยวากิวศรีเชียงใหม่ เนื้อสายพันธุ์บีฟมาสเตอร์ และเนื้อวัวจัสมินวากิว แน่นอนว่าปีที่ผ่านมาเกิดร้านอาหารประเภทเนื้อที่เน้นนำเสนอเนื้อวัวไทยมากมาย อาทิ “100 มหาเศรษฐ์” “มหาสาร” “ฉัน” "Jamie's Burger" และ “35 Dry Aged Beef”

8เมื่อ “Food Waste” ยังกินได้ เราจึงเรียกว่า “Surplus Food”
คำว่า “Food Waste” หรือ “ขยะอาหาร” เกิดขึ้นจากการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพและการผลิตเกินความต้องการ ทำให้เกิดกลายเป็นขยะอาหาร จนกระทั่ง “Wasted! The Story of Food Waste” สารคดีเรื่องสุดท้ายที่อำนวยการสร้างโดย แอนโทนี บอร์เดน ออกฉายทำให้สะท้อนเอาภาพความพยายามลดขยะอาหาร และขั้นตอนที่ดีที่สุดก็คือ Feed People ก่อนที่จะนำไป Feed Animals, Renewable Energy, Compost และ Landfill ซึ่งคนกินคือห่วงโซ่ที่จะลดปริมาณขยะอาหารได้ดีที่สุด แต่คำว่า “ขยะ” แค่ฟังก็ไม่มีใครอยากกินแล้ว จึงมีคำนี้เกิดขึ้น “อาหารส่วนเกิน” ที่ยังไม่ผ่านการกินเลยด้วยซ้ำ ซึ่งถูกเรียกว่า “Surplus Food” แน่นอนว่าเมื่อเป็นส่วนเกินสำหรับเรา แต่สำหรับคนยากไร้แล้วมันไม่ใช่ จึงมีองค์กรอย่าง Scholars of Sustenance Foundation หรือ SOS มูลนิธิที่ทำงานสาย Food Waste Skill เพื่อลดปัญหาขยะอาหาร โดยนำอาหารที่ยังมีคุณภาพดีจากไลน์บุฟเฟ่ต์ของโรงแรม 5 ดาว ไปจนถึงอาหารที่จำหน่ายไม่หมดของซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่งให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ กลายเป็นวัตถุดิบอาหารสำหรับชุมชนที่ต้องการ เช่นเดียวกับภาพยนตร์สารคดี Theater of Life ที่เล่าเรื่องการนำเอาวัตถุดิบอาหารส่วนเกินจากงาน Milan Expo มาทำโรงทาน ทำอาหารให้คนยากไร้ โดยเชฟชื่อดังจากทั่วโลก นำโดยเชฟ Massimo Bottura จากร้าน Osteria Francescana ซึ่งในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป จะเกิด “Surplus Food” มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่ UN ตั้งเป้าในการลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

9Specialist ความเชี่ยวชาญในบางสิ่ง
ปีก่อนเราได้เห็นความชัดเจนเรื่องความถนัดในการปรุงอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งไม่น้อย อาทิ เนื้อวัว ปู อาหารทะเล หรือผัก ทำให้เกิดร้านอาหารเฉพาะทาง อาทิ "Ministry of Crab” ร้านอาหารประเภทอาหารทะเลส่งตรงจากศรีลังกา หรือ “มหาสาร” ร้านอาหารประเภทเนื้อวัวที่ตั้งต้นจากโจทย์ที่ว่าอยากให้คนได้กินข้าวกับเนื้อวัวดีในราคาสัมผัสได้ หรือ “Honeyful Cafe” ที่นำเสนอน้ำผึ้งหลากหลายสายพันธ์ุ เชื่อว่าในปีนี้เราน่าจะได้เห็นร้านอาหารเฉพาะทางเปิดตัวขึ้นอีกไม่น้อย เหมือนคำกล่าวที่ว่า “รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”

10Pantone of the year 2020 : Classic Blue
ลองสังเกตว่าเทรนด์ของสี Pantone มักจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มแทบทุกปี ในแต่ละปีเราเชื่อว่ามีร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ มักจะนำเอาโทนสีประจำปีมาใช้ในการตกแต่ง รวมถึงคิดเมนูใหม่ ๆ ออกมา และปีนี้เป็นสี Classic Blue ซึ่งถ้าให้นึกถึงอาหาร เราแทบจะนึกไม่ออกด้วยซ้ำ นอกจากน้ำอัญชัน มาการองสีฟ้า หรือบลูฮาวายโซดา แต่แบบนั้นมันเชยแล้ว เราขอแนะนำให้ไปถ่ายรูปที่ร้านเหล่านี้ดีกว่าที่เข้ากับโทนสีของปีนี้พอดี อาทิ “Blue by Alain Ducasse” ,“Blue Whale” และ “Restaurant Stage”

11ร้านบรรยากาศจีนกำลังมา
ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกันที่ร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ บรรยากาศจีนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตั้งแต่ปีก่อนทั้งปีและไม่มีวี่แววว่าจะจบลง ที่สำคัญยิ่งสถานีรถไฟฟ้าใกล้เยาวราชเปิดตัว ยิ่งมีร้านบรรยากาศจีนเพิ่มขึ้นอีก ถ้าให้เราเดาร้านครึ่งหนึ่งเป็นร้านของลูกหลานชาวจีนที่อยากรักษาและบูรณะบ้านเก่าสมัยอากงอามาให้คงอยู่ในรูปแบบที่เข้ากับยุคสมัย อีกส่วนหนึ่งน่าจะตั้งต้นที่อาหารจีน และส่วนสุดท้ายคือยึดเอาตามโลเกชันที่ตั้ง ร้านดัง ๆ ที่เปิดเมื่อปีก่อนก็อย่าง “Chu Chinese” ,“ซงเต๋อ” ,“เหล่าเต๊ง” ,“Tai Soon Bar” ,“Ba Hao Tian Mi” ,“MiMi Dessert” ,“Feng Zhu” และ “โรงเตี๊ยม Panda King” เชื่อว่าปีนี้กระแสจีนจะยังมาอยู่

12Ghost Kitchen ในยุคที่ไม่ต้องมีหน้าร้าน
“ร้านอาหารที่มีตัวตนในโลกออนไลน์ แต่ไม่มีหน้าร้านในชีวิตจริง” คือนิยามของ Ghost Kitchen ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในภูมิภาคเอเชีย อันเป็นผลพวงมาจากธุรกิจ Food Delivery ทำให้คนที่รักในการทำอาหารสามารถทำอาหารขายได้โดยไม่ต้องมีหน้าร้าน เพียงแต่ต้องมีแชแนลในการส่งต่อถึงมือคนกินเท่านั้นเอง อาทิ “NOBRAND” ,“สุดคั่ว by สุพรรณิการ์” ,“คั่ว เตี๋ยว” แน่นอนว่าทำให้เกิดธุรกิจอีกรูปแบบตามมาคือ Shared Kitchen ให้ผู้คนมาเช่าพื้นที่ทำอาหารที่คล้ายกับ Co-Working Space เช่นเดียวกับที่ Wongnai เปิดให้บริการ Wongnai Co-Cooking Space ในตอนนี้เราจึงเห็นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มออนไลน์ที่เราไม่สามารถเดินไปซื้อได้ แต่สั่งได้ผ่าน Food Delivery เท่านั้น

13Ready to Drink Cocktail
“ต่ำ” ไม่ได้หมายความว่า “ไม่มี” จริง ๆ เป็นเทรนด์มาได้ปีหรือสองปีแล้วสำหรับค็อกเทลที่มีปริมาณแอลกอฮอลล์ต่ำ หรือเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ แต่สำหรับคนที่ชอบแล้วมันยากจะทดแทน ทำให้เกิดการแก้ปัญหาดื่มแล้วขับด้วยการผลิตค็อกเทลรูปแบบของ RTD หรือพร้อมดื่มให้ซื้อกลับบ้านประหนึ่งผสมโดยบาร์เทนเดอร์ หากใครผ่านไปในซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง หรือได้เดิน Mark & Spencer ในต่างประเทศ จะได้เห็นมุมของค็อกเทลพร้อมดื่มที่แบรนด์ผลิตเอง มีคลาสสิกค็อกเทลให้เลือกแทบทุกชนิด อาทิ Gin Tonic, Negroni, Daiquiri, Espresso Martini ทั้งแบบขวดและกระป๋อง

14Coffee Stand พื้นที่จิ๋วก็มีร้านกาแฟได้
จริง ๆ ไม่ได้เป็นเทรนด์ใหม่ของโลก แต่มีแววว่าจะเป็นเทรนด์ใหม่ในบ้านเรา หลังจากปีที่ผ่านมามีร้านกาแฟขนาดจิ๋วที่เน้นเทคอะเวย์ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงเป็นกาแฟโบราณ แต่ปัจจุบันเน้นเครื่อง Espresso Machine แบรนด์ดี ๆ ใช้เมล็ดกาแฟคุณภาพ หรือทำเป็น Slow Bar ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ อาทิ “Mother Roaster” ก่อนย้ายไปโลเกชันใหม่ที่มีความเป็นคาเฟ่มากขึ้น หรือ “Little Blue Coffee Stand” ที่ใช้พื้นที่เล็ก ๆ ร่วมกับ “Wood Cafe” แบรนด์นึงขายกาแฟแบรนด์นึงขายเบเกอรี คล้ายกับร้านย่านจตุจักร อย่าง “Behind the Bar” และ “Neighborhood Bakeroom”

15Collaboration ร่วมมือกันไปได้ไกล
ปีก่อนมีการจับมือกันระหว่างแบรนด์ค่อนข้างเยอะมาก โดยเฉพาะแบรนด์ร้านอาหารกับศิลปินต่าง ๆ อาทิ แบรนด์ไก่ทอด “Bonchon” กับศิลปินอย่าง “Gongkan” เช่นเดียวกันกับที่ศิลปินคนเดิมจับมือกับแบรนด์เบียร์ “Cha La Wan” หรือ “Suntur” ที่ไปจับมือกับ “Kinto” ทำลวดลายพิเศษบนขวดน้ำพกพา และลวดลายพิเศษบนเทเบิลแวร์ให้กับ “Greyhound Cafe” แต่ที่เด็ดสุดคือแบรนด์คาเฟ่แห่งนี้ไปจับมือและเสิร์ฟอาหารของร้านด้วยเทเบิลแวร์ของ “Marimekko”
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์อย่าง “Oreo” ที่ชวนไม่รู้กี่แบรนด์ปล่อยเทรนด์โอรีโอผ่านอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายประเภทออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งแบรนด์ไม่ได้บอกว่า Collab แต่ก็คงพอเดากันได้แหละ อาทิ “ATM Tea Bar”, “Gram Pancake”, “Fire Tiger” หรือไวรัล “MK x Fire Tiger” ทำให้เราเชื่อว่าปีนี้การ Collab ยังขายได้

16Eat like Series
ต้องบอกว่าปี 2019 Netflix ขยันผลิตซีรีส์อาหารต่าง ๆ อาทิ Ugly Delicious, Street Food, The Final Table และ Chef’s Table ซึ่งเท่าที่เราสังเกตคนส่วนใหญ่ตามไปกินบ้าง แต่หนักไปที่ซีรีส์ Street Food ด้วยราคาอาหารที่เอื้อมถึง แต่ดูเหมือนว่าช่วงปลายปีกระแสของซีรีส์อาหารจะไม่มาแรงเท่าซีรีส์เกาหลี โดยเฉพาะการมาถึงของดาราแม่เหล็กอย่างฮยอนบิน และซนเยจิน ในซีรีส์ Crash Landing on You เรื่องราวความรักของสาวเกาหลีใต้ที่ประสบอุบัติเหตุจนต้องใช้ชีวิตในเกาหลีเหนือ กลับทำให้คนสนใจอาหารเกาหลีเหนือขึ้นมาซะอย่างนั้นอาจจะด้วยความฟินจิกหมอนอยากเป็นนางเอกในเรื่อง เรามีร้านมาแนะนำร้าน “Pyongyang Okryu” ระหว่างซอยสุขุมวิท 25 กับ 27 ซึ่งว่ากันว่าร้านอาหาร “Pyongyang” มีรัฐบาลเกาหลีเหนือเป็นเจ้าของและมีสาขามากมายทั่วโลก

17Social Enterprise Restaurant
เราตื่นตาตื่นใจกับกระแสของร้านอาหารแนวนี้มาก เพราะมันมีขึ้นเพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับคนด้อยโอกาสผ่านการทำงานร้านอาหารและโรงแรม แน่นอนว่าพวกเขาได้รับโอกาสทางการเงินและอาชีพในอนาคต ในบ้านเราตอนนี้เท่าที่เห็นมี “Pimali Hospitality Training Center” ศูนย์ฝึกวิชาชีพการโรงแรมและงานบริการให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดหนองคาย ที่บรรดาเชฟชื่อดังหมุนเวียนไปช่วยกันสอนทักษะการทำงานให้เด็ก ๆ หรือ “Local Aroi” ที่จัดมื้ออาหารโดยนำเอาวัตถุดิบของท้องถิ่นมานำเสนอและนำรายได้กลับไปพัฒนาท้องถิ่น แต่ที่เราเห็นชัดน่าจะเป็นทริปที่ทางโรงแรม FCC Angkor by Avani ในเมืองเสียมราฐ ชวนเราไปเที่ยว เราได้เห็นการทำงานของโรงแรมฯ ร่วมกับร้านอาหารอีก 2 แห่ง คือ HAVEN และ Sister Srey Cafe ร้านอาหารเพื่อสังคมที่ให้เด็กด้วยโอกาสมีงานทำ พร้อมฝึกงานและเข้าทำงานที่โรงแรมฯ เรียกว่าเป็นระบบการพัฒนาบุคลลากรที่น่าสนใจ ซึ่งเราว่าธุรกิจเพื่อสังคมแบบนี้จะยังมีต่อไป

18Food Destination in 2020
สำหรับปลายทางของนักชิมในปีนี้ เราเลือกมา 5 เมืองที่อยากชวนคุณไป เมืองแรก “Copenhagen” ยังคงเป็นปลายทางของนักชิม ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร “Noma”, “Geranium”, “Bæst”, “108” และ “Relæ” ยังคงเป็นร้านอาหารที่นักชิมอยากไปอยู่ เมืองอันดับที่ 2 “Seoul” เราว่ากรุงโซลยังน่าสนใจในแง่มุมของวัฒนธรรมคาเฟ่ที่เติบโตและเด่นสุดในภูมิภาคเอเชีย เมืองอันดับที่ 3 “Saga” เมืองที่ใช้จัดงานประกาศรางวัล 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดของเอเชีย รวมถึงโลเกชันในคิวชูที่ได้ชื่อว่าเด่นทั้งเต้าหู้และราเมงสไตล์ฮากาตะ ใครอยากมีโอกาสเจอเชฟดังของเอเชียให้ไปเดินเล่นที่เมืองซากะในวันที่ 24 มีนาคมนี้ เมืองอันดับที่ 4 “Antwerp” เบลเยี่ยมอาจจะไม่ได้โดดเด่นมากมายเรื่องอาหาร แต่เมื่อเมืองนี้กลายเป็นสถานที่จัดงานประกาศรางวัล 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดของโลก ในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ ทำให้นี่คือโอกาสที่เราจะได้เจอเชฟระดับโลกในคราวเดียว แล้วก็ถือโอกาสหาอาหารท้องถิ่นกินแล้วจะทัวร์ยุโรปต่อก็ได้ และเมืองสุดท้าย “Singapore” เราว่าที่นี่ยังคงเป็นปลายทางนักชิมที่ดี เนื่องจากกระแสการเมืองฮ่องกงไม่นิ่ง เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะหันเหมาที่เมืองลอดช่องแทนเพราะใกล้บ้านเรานิดเดียว

19Kombucha is Coming!
หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย แน่นอนว่ารวมถึงเรา แต่ Yelp พิจารณาจากยูสเซอร์ผู้ใช้จริงว่ามีการดื่ม Kombucha หรือชาหมักที่มากขึ้นสูงถึง 300 % ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแหละ เพราะเมื่อปลายปีที่ผ่านมาร้านอาหารและคาเฟ่ไม่น้อยในบ้านเราก็เริ่มทำคอมบูชะโฮมเมดสำหรับขายในร้านขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น คอมบูชะสับปะรดของ “Casa Sapparod” หรือคอมบูชะกาแฟของ “H__Dining” เชื่อว่าคนกลุ่มหนึ่งคุ้นเคยรสเปรี้ยวเพื่อสุขภาพของคอมบูชะแล้ว อีกส่วนอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ก็มีแนวโน้มการดื่มที่เพิ่มขึ้น

20Varieties of Donuts
บ้านเราคุ้นเคยกับโดนัทแบรนด์ดังกันมานาน หรือจะเรียกว่าโดนัทแบบมีรูก็คงได้ แต่ปลายปีที่ผ่านมากลับมีโดนัทหลากรูปแบบเข้ามามากขึ้น ไม่เพียงรูปแบบ แต่วิธีการกินด้วย อย่างการกินกับไก่ทอด แม้แต่โดนัทสไตล์อิตาเลียน หรือฝรั่งเศส ก็มีให้เลือกกินแบบเยอะจนน่าตกใจ ยังไม่นับรวมการเปิดตัวของร้านโดนัทอีกที่ดูมีแนวโน้มว่าในปีนี้ก็จะมีร้านโดนัทมองหาช่องทางการตลาดที่ยังเหลือให้สอดแทรกและเพิ่มโดนัทสไตล์ใหม่เข้ามา ในปีที่ผ่านมาเราเห็น โดนัทกับไก่ทอดของ “Clucking Donut” และ “Brassica” บอมโบลินีหรือโดนัทสไตล์อิตาเลียนของ “Cream by Flour Flour” และเจลลีโดนัทสอดไส้ของ “Drop by Dough”

ติดตามเรื่องราวร้านอาหารดี ๆ จาก #ห้ามพลาด ที่จะมาเล่าเรื่องราวของร้านอาหารมากกว่าเพียงรีวิวร้านอาหารใหม่ แต่อาหารมีเรื่องราวซ่อนอยู่เสมอ อ่านต่อได้ที่
Baan Tepa ร้านอาหารของเชฟตามที่เล่าเรื่องวัตถุดิบจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร
Ministry of Crab ร้านอาหารที่นำด้วย “ปู” จนกลายเป็นกระทรวงการปูของโลก
“Honeyful Cafe” คาเฟ่น้ำผึ้งซ่อนเรื่องราวความหอมหวานที่เป็นยา
การเปลี่ยนแปลง "สวนสามพราน" ปฐมบทโลกสวยงามใบใหม่ที่น่าอยู่กว่าเดิม
“Jamies Burgers” ร้านสเต๊กที่ชูโรงเนื้อวัวไทยให้ไม่แพ้เนื้อวัวใดในโลก
35 Dry Aged Beef ร้านสเต๊กเนื้อไทยวากิวดรายเอจด์เองและเสิร์ฟโต๊ะเดียว